สยามธุรกิจรายงาน: ปฏิรูปมุมคิดผ่านสมองคลื่นลูกใหม่

ปี2014-08-18

การก้าวสู่อนาคตปี 2020 เป็นความท้าทายของสังคมไทย..

เนื่องจากระยะเวลาอีก 5-6 ปี ไม่เร็วและไม่นานเกินไปสำหรับการกำหนดแนวทางหรือนโยบายที่เป็นไปได้เพื่อเตรียมรับมือในการจัดการกับปัญหาและความท้าทายในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะด้านต่างๆ ที่มีผลกระทบอย่างสำคัญกับประชาชน เช่น การสร้างวินัยทางการคลัง การปฏิรูปการศึกษา การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การยกระดับนวัตกรรม ฯลฯ และในการเตรียมพร้อมนี้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงต้องไม่ละเลยความคิดของคนรุ่นใหม่ นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะก้าวออกมาเป็นกำลังการพัฒนาประเทศในอนาคต

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ในฐานะเป็นองค์กรวิชาการที่ทำวิจัยด้านนโยบายมาต่อเนื่อง ได้จัดโครงการ Redesigning Thailand “เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย 2020” เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้รวมกลุ่มกันนำเสนอความคิด มุมมอง และข้อเสนอแนะ พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีคิด หลักการ และวิธีการที่ถูกต้องของการทำวิจัยเชิงนโยบายจากนักวิจัยมืออาชีพของทีดีอาร์ไอ

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวระบุถึงโครงการนี้ว่า ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ยึดถือคือ เชื่อในพลังของความรู้ พลังของวิชาการ และการมีส่วนร่วม จะทำให้สังคมดีขึ้นได้ การทำงานของทีดีอาร์ไอยึดประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของพลเมืองไทยเป็นตัวตั้ง ดังวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่าทีดีอาร์ไอคือ “สถาบันวิชาการอิสระ ร่วมสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย”

สำหรับโครงการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการปฏิรูปประเทศเช่นกัน แต่ยึดหลักที่ว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากคนไทยทุกคน รวมทั้งนิสิต นักศึกษา ที่จะต้องช่วยกันคิดว่าประเทศไทยควรมีทิศทางอย่างไร เพราะการปฏิรูปไม่ได้เสร็จได้ในระยะเวลาสั้นๆ จึงตั้งโจทย์ว่าให้ Redesigning Thailand มาร่วมกันออกแบบประเทศไทย 2020 โดยให้มีเวลาไกลพอสมควรเพื่อเปิดจินตนาการว่าประเทศไทยจะมีโอกาสทำอะไรได้ในระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้

ในกิจกรรมนี้เปิดกว้างสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนทุกมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจสามารถมาเข้าร่วมได้ โดยรวมกลุ่มกันส่งบทความหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย 2020 : วิสัยทัศน์ ความท้าทายและข้อเสนอเชิงนโยบาย” เข้ามาประกวด ผลของโครงการเราจึงเห็นการรวมตัวของนักศึกษาทั้งที่มาจากคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน บางกลุ่มก็มาจากต่างคณะแต่มหาวิทยาลัยเดียวกัน และบางกลุ่มก็รวมตัวกันทั้งต่างคณะ ต่างมหาวิทยาลัย โดยในรอบตัดสินมีนักศึกษาที่เข้ารอบมาจากคณะรัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รัฐศาสตร์ และแม้กระทั่งมัณฑนศิลป์ ทั้งหมดนี้เป็นความหลากหลายภายใต้หลักของการปฏิรูปที่ต้องมีส่วนร่วมและหลากหลาย

ในการประกวดรอบตัดสินซึ่งน้องๆ 8 ทีมที่เข้ารอบได้สะท้อนแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพไว้อย่างน่าสนใจ โดยทีมที่ได้โจทย์ Stable Growth ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ภายใต้การมีวินัยการเงินการคลังอย่างเหมาะสม นำเสนอว่า ในปี 2020 การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและมั่นคงได้นั้น ควรลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้สามารถสร้างรายได้และมีความโปร่งใส ไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น

ทีมที่ได้โจทย์ Socially Just Growth ประเทศไทยจะออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร โดยอธิบายว่าการแก้ปัญหาต้องทำนโยบายหลายด้านไปพร้อมกัน รวมถึงสร้างประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายเงินภาษี ซึ่งหน้าที่ของภาครัฐต้องนำไปกระจายช่วยเหลือคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนฐานล่างที่ด้อยโอกาสให้ความสำคัญกับการสร้างต้นทุนชีวิต เช่น ด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข ปรับปรุงวินัยการคลังให้มีกรอบในการควบคุมการออกนโยบายที่ชัดเจนและมีการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม สำหรับเรื่องค่าจ้างแรงงาน ควรมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมสอดคล้องกับทักษะและการศึกษา ที่สำคัญน้องๆ บอกว่าอยากให้มองว่าการเปิดเออีซีเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค เพราะแรงงานไทยจะได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น และเป็นแรงงานของอาเซียน

สำหรับโจทย์ Green Growth การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมที่ได้รับโจทย์ทีมหนึ่งกล่าวถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับสินค้าด้วยการออกแบบดีไซน์ การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสินค้ากรีนเวิลด์ ที่ส่งขายกลุ่มเป้าหมายประเทศโลกที่ 1 ที่มีกำลังซื้อ การจะไปถึงเป้าหมายได้นั้นต้องให้มีนักออกแบบไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่สำคัญนักออกแบบที่ส่งไปนั้นต้องมาจากการศึกษาที่มีการปรับปรุงแล้วเป็นการศึกษาที่ฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและใฝ่รู้

เราจึงจะมีนักออกแบบที่จะเข้าไปแนะนำปรับใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีหลากหลายได้ อย่างไรก็ตามน้องๆ บอกว่าไอเดียนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นมากกว่า และแน่นอนว่าไม่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไปในเวลาอันรวดเร็ว ต้องช่วยกันกับภาคส่วนอื่นๆ เพราะเราต่างมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันขณะที่อีกทีมหนึ่งที่ได้โจทย์เดียวกันแต่มาจากคณะรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ และมาจากต่างสถาบันกัน ทีมนี้เสนอไอเดียว่าต้องทำ 3 ด้านคือ สังคมสีเขียว เศรษฐกิจสีเขียว และทุนมนุษย์สีเขียว ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกัน ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม คุ้มค่า และพื้นฐานที่จะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้นั้นต้องมาจากการพัฒนาทุนมนุษย์ ทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนัก เกิดความต้องการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสีเขียวซึ่งเราทุกคนสามารถเปลี่ยนได้เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา

โดยงานนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า สปิริตของทีดีอาร์ไอคือความสนุกในการเรียนรู้ด้านวิชาการและนำวิชาการไปเป็นประโยชน์ในการคิดพัฒนาประเทศ ดังนั้นรางวัลสำคัญที่สุดมากกว่าเงินรางวัลก็คือความสนุกของการได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่แรกในการเริ่มโครงการนี้ คือ เรารู้ว่านโยบายเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศ และการที่จะมีคนที่คิดเรื่องนโยบายเป็น ต้องฝึกตั้งแต่เด็กๆ ฝึกให้สังเกต ฝึกตั้งคำถามที่ถูกต้อง หาข้อมูลที่ถูกต้อง การทำงานในเชิงนโยบายที่จะทำให้สำเร็จได้ต้องเปิดโลกของเราให้กว้าง ศึกษาให้กว้าง ตีโจทย์ให้ลึก ถามคำถามให้ลึก ซึ่งเวทีนี้จะช่วยกระตุ้นสร้างความสนใจของนิสิตนักศึกษา เพราะในโลกปฏิบัติโดยเฉพาะโลกนโยบายต่างจากทฤษฎีหรือว่าตำราอยู่พอสมควร จึงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้มาสัมผัสกับการคิดในเชิงนโยบาย โครงการนี้ทำให้เห็นว่าถ้าเราสามารถสร้างนักวิจัยเชิงนโยบายรุ่นใหม่ๆ ขึ้นได้ อนาคตประเทศไทยก็จะมีคนเป็นมันสมองช่วยคิดหาทิศทางของประเทศได้ดีขึ้น ทีดีอาร์ไอจึงคิดจะทำรุ่นต่อๆ ไปและจะขยายไปในระดับปริญญาโทด้วยเร็วๆ นี้

นั่นเป็นอีกหนึ่งโครงการดีๆ ที่มีอานิสงส์ช่วยส่งเสริมการปฏิรูปประเทศภายใต้มุมมองของคลื่นลูกใหม่

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์สยามธุรกิจ วันที่ 16-22 สิงหาคม 2557