tdri logo
tdri logo
7 สิงหาคม 2014
Read in Minutes

Views

เปิดมุมคิดคลื่นลูกใหม่ เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย 2020

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

การก้าวสู่อนาคตปี 2020 เป็นความท้าทายของสังคมไทย เพราะระยะเวลาอีก 5-6 ปีไม่เร็วและไม่นานเกินไปสำหรับการกำหนดแนวทางหรือนโยบายที่เป็นไปได้เพื่อเตรียมรับมือในการจัดการกับปัญหาและความท้าทายในด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยเฉพาะด้านนโยบายสาธารณะด้านต่าง ๆ ที่มีผลกระทบอย่างสำคัญกับประชาชน เช่น การสร้างวินัยทางการคลัง การปฏิรูปการศึกษา การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น การยกระดับนวัตกรรม ฯลฯ และในการเตรียมพร้อมนี้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของคนทุกกลุ่ม รวมถึงต้องไม่ละเลยความคิดของคนรุ่นใหม่ นักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยที่จะก้าวออกมาเป็นกำลังการพัฒนาประเทศในอนาคต

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” ในฐานะเป็นองค์กรวิชาการที่ทำวิจัยด้านนโยบายมาต่อเนื่องจึงได้จัดโครงการ Redesigning Thailand “เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย 2020”เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีได้รวมกลุ่มกันนำเสนอความคิด มุมมอง และข้อเสนอแนะ  พร้อมทั้งเรียนรู้วิธีคิด หลักการ และวิธีการที่ถูกต้องของการทำวิจัยเชิงนโยบายจากนักวิจัยมืออาชีพของทีดีอาร์ไอ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวแนะนำทีดีอาร์ไอและที่มาของการจัดทำโครงการนี้โดยระบุว่า ทีดีอาร์ไอเป็นสถาบันวิจัยเชิงนโยบายที่ได้รับความเชื่อถือจากสังคมทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่ยึดถือคือ เชื่อในพลังของความรู้  พลังของวิชาการ และการมีส่วนร่วม จะทำให้สังคมดีขึ้นได้  การทำงานของทีดีอาร์ไอยึดประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของพลเมืองไทยเป็นตัวตั้ง ดังวิสัยทัศน์ขององค์กรที่ว่าทีดีอาร์ไอคือ “สถาบันวิชาการอิสระ ร่วมสร้างสรรค์นโยบายสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของสังคมไทย”

สำหรับโครงการนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นโครงการปฏิรูปประเทศเช่นกัน แต่ยึดหลักที่ว่าการปฏิรูปจะสำเร็จได้ต้องเกิดจากคนไทยทุกคน รวมทั้งนิสิต นักศึกษา ที่จะต้องช่วยกันคิดว่าประเทศไทยควรมีทิศทางอย่างไร เพราะการปฏิรูปไม่ได้เสร็จได้ในระยะเวลาสั้น ๆ จึงตั้งโจทย์ว่าให้Redesigning Thailand มาร่วมกันออกแบบประเทศไทย 2020 โดยให้มีเวลาไกลพอสมควรเพื่อเปิดจินตนาการว่าประเทศไทยจะมีโอกาสทำอะไรได้ในระยะเวลาที่เหลืออยู่นี้  ในกิจกรรมนี้เปิดกว้างสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทุกคนทุกมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่สนใจสามารถมาเข้าร่วมได้ โดยรวมกลุ่มกันส่งบทความหัวข้อ “เศรษฐกิจไทย 2020 : วิสัยทัศน์ ความท้าทายและข้อเสนอเชิงนโยบาย” เข้ามาประกวด  ผลของโครงการเราจึงเห็นการรวมตัวของนักศึกษาทั้งที่มาจากคณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน บางกลุ่มก็มาจากต่างคณะแต่มหาวิทยาลัยเดียวกัน  และบางกลุ่มก็รวมกันตัวทั้งต่างคณะ ต่างมหาวิทยาลัย โดยในรอบตัดสินมีนักศึกษาที่เข้ารอบมาจากคณะรัฐศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์  รัฐศาสตร์ และแม้กระทั่ง มัณฑนศิลป์  ทั้งหมดนี้เป็นความหลากหลายภายใต้หลักของการปฏิรูปที่ต้องมีส่วนร่วมและหลากหลาย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ในการประกวดรอบตัดสินซึ่งน้อง ๆ  8 ทีมที่เข้ารอบได้สะท้อนแนวคิดในการสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีคุณภาพไว้อย่างน่าสนใจ โดยทีมที่ได้โจทย์ stable growth ทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีการเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ภายใต้การมีวินัยการเงินการคลังอย่างเหมาะสม นำเสนอว่า ในปี 2020 การจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตและมั่นคงได้นั้น ควรลดต้นทุนที่ไม่จำเป็นสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ โดยขอความร่วมมือจากภาคเอกชน การปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้สามารถสร้างรายได้และมีความโปร่งใส  ไม่ให้เกิดการใช้งบประมาณอย่างฟุ่มเฟือย เป็นต้น

ทีมที่ได้โจทย์ socially just growth ประเทศไทยจะออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างไร โดยอธิบายว่าการแก้ปัญหาต้องทำนโยบายหลายด้านไปพร้อมกัน รวมถึงสร้างประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีและการใช้จ่ายเงินภาษี ซึ่งหน้าที่ของภาครัฐต้องนำไปกระจายช่วยเหลือคนทุกกลุ่มในสังคม โดยเฉพาะคนฐานล่างที่ด้อยโอกาสให้ความสำคัญกับการสร้างต้นทุนชีวิตเช่น ด้านการศึกษาและด้านสาธารณสุข  ปรับปรุงวินัยการคลังให้มีกรอบในการควบคุมการออกนโยบายที่ชัดเจนและมีการปรับปรุงประสิทธิภาพที่ดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม  สำหรับเรื่องค่าจ้างแรงงาน ควรมีการกำหนดอัตราที่เหมาะสมสอดคล้องกับทักษะและการศึกษา ที่สำคัญน้อง ๆ บอกว่าอยากให้มองว่าการเปิดเออีซีเป็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค เพราะแรงงานไทยจะได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สูงขึ้น และเป็นแรงงานของอาเซียน

10557656_872695239425042_7856749748795631552_o

สำหรับโจทย์  Green Growth การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทีมที่ได้รับโจทย์ทีมหนึ่งกล่าวถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับสินค้าด้วยการออกแบบดีไซน์  การสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับ เป็นสินค้ากรีนเวิล์ด ที่ส่งขายกลุ่มเป้าหมายประเทศโลกที่ 1 ที่มีกำลังซื้อ การจะไปถึงเป้าหมายได้นั้นต้องให้มีนักออกแบบไปทำงานร่วมกับท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่สำคัญนักออกแบบที่ส่งไปนั้นต้องมาจากการศึกษาที่มีการปรับปรุงแล้วเป็นการศึกษาที่ฝึกให้เด็กรู้จักตั้งคำถามและใฝ่รู้ เราจึงจะมีนักออกแบบที่จะเข้าไปแนะนำปรับใช้กับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีหลากหลายได้ อย่างไรก็ตามน้อง ๆ บอกว่าไอเดียนี้ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้คนเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นมากกว่า และแน่นอนว่าไม่อาจเปลี่ยนโฉมหน้าประเทศไปในเวลาอันรวดเร็ว ต้องช่วยกันกับภาคส่วนอื่น ๆ เพราะเราต่างมีความรู้ความสามารถที่แตกต่างกันขณะที่อีกทีมหนึ่งที่ได้โจทย์เดียวกันแต่มาจากคณะรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ และมาจากต่างสถาบันกัน ทีมนี้เสนอไอเดียว่าต้องทำ 3 ด้านคือ  สังคมสีเขียว เศรษฐกิจสีเขียว และทุนมนุษย์สีเขียว ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกัน ให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสม คุ้มค่า และพื้นฐานที่จะเปลี่ยนไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้นั้นต้องมาจากการการพัฒนาทุนมนุษย์ ทำให้เกิดความเข้าใจและตระหนัก เกิดความต้องการ จนเกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมสีเขียวซึ่งเราทุกคนสามารถเปลี่ยนได้เพียงแต่ต้องอาศัยเวลา

10547137_872695526091680_7289500854321705335_o

ทีมที่ได้โจทย์ dynamic growth จะออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศได้อย่างไร ให้มุมมองว่า ประเทศไทยต้องหาจุดเด่นที่เป็นจุดขายให้ชัดเจนและนำเทคโนโลยีไอทีในการในการรวบรวมข้อมูลและสร้างการเข้าถึงข้อมูลที่ง่ายและเป็นมาตรฐานใช้ได้กับทั้งนักท่องเที่ยวและคนไทย โดยเฉพาะการนำมาช่วยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น การมีแอปพลิเคชั่นแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง การเข้าถึงได้ง่าย สะดวก มีการจัดระบบมาตรฐานบริการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่คณะกรรมการประทับใจคือ นิสิตนักศึกษาที่ผ่านเข้ารอบเป็นคนที่เข้าใจโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจไทยดีพอสมควร เข้าใจหลักทฤษฎี และประเด็นข้อถกเถียงในสังคมและตีโจทย์ได้ค่อนข้างตรงจุด ซึ่งหลายเรื่องเป็นการปฏิรูปนโยบายเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ มีการเติบโตระยะยาว และบางเรื่องที่ลงไปถึงขั้นปฏิบัติ เช่นจะทำอย่างไรจะทำให้การท่องเที่ยวประเทศไทยเป็นการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์มากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาช่วย เป็นต้น สำหรับข้อเสนอแนะของน้อง ๆ  ถือเป็นจุดตั้งต้นที่ดี ทีกระตุ้นให้นิสิต นักศึกษาเหล่านี้มีความสนใจการทำวิจัยเชิงนโยบาย เพราะสุดท้ายแล้วนโยบายดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการมีความรู้ที่ถูกต้อง การมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วจึงนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎกติกาต่าง ๆ ในสังคม ที่นำไปสู่การปฏิรูปแท้จริง

10548031_872695436091689_1342669204364475713_o

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวเสริมว่า สปิริตของทีดีอาร์ไอคือความสนุกในการเรียนรู้ด้านวิชาการและนำวิชาการไปเป็นประโยชน์ในการคิดพัฒนาประเทศ ดังนั้นรางวัลสำคัญที่สุดมากกว่าเงินรางวัลก็คือความสนุกของการได้มาเรียนรู้ร่วมกัน  ซึ่งเป้าหมายที่วางไว้ตั้งแต่แรกในการเริ่มโครงการนี้ คือ เรารู้ว่านโยบายเป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศ และการที่จะมีคนที่คิดเรื่องนโยบายเป็น ต้องฝึกตั้งแต่เด็ก ๆ ฝึกให้สังเกต ฝึกตั้งคำถามที่ถูกต้อง หาข้อมูลที่ถูกต้อง การทำงานในเชิงนโยบายที่จะทำให้สำเร็จได้ต้องเปิดโลกของเราให้กว้าง ศึกษาให้กว้าง ตีโจทย์ให้ลึก ถามคำถามให้ลึก ซึ่งเวทีนี้จะช่วยกระตุ้นสร้างความสนใจของนิสิตนักศึกษา เพราะในโลกปฏิบัติโดยเฉพาะโลกนโยบายต่างจากทฤษฎีหรือว่าตำราอยู่พอสมควร  จึงเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้มาสัมผัสกับการคิดในเชิงนโยบาย โครงการนี้ทำให้เห็นว่าถ้าเราสามารถสร้างนักวิจัยเชิงนโยบายรุ่นใหม่ ๆ ขึ้นได้ อนาคตประเทศไทยก็จะมีคนเป็นมันสมองช่วยคิดหาทิศทางของประเทศได้ดีขึ้น  ทีดีอาร์ไอจึงคิดจะทำรุ่นต่อ ๆ ไปและจะขยายไปในระดับปริญญาโทด้วยเร็ว ๆ นี้

สำหรับผลการตัดสินรอบชนะเลิศโครงการ Redesigning Thailand “เดินหน้าสู่เศรษฐกิจ 2020ครั้งนี้  ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศเป็นนักศึกษาคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ น.ส.พีชนา เลิศฤทธิ์เดชา น.ส.ฐิติพร ศิริคุรุรัตน์ และนายภัทรพล ปิยะโรจนานุกุล  ซึ่งได้แสดงเสนอไอเดียการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ภายใต้การมีวินัยการเงินการคลังอย่างเหมาะสมจนเป็นที่ประทับใจคณะกรรมการ ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เป็นของทีมซึ่งเป็นการรวมตัวกันของนักศึกษาจากต่างคณะ ต่างสถาบัน คือ  นายนาอีม แลนิ  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพลพัต อมรรัตนเกศ  คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นายศิวัช บุญกาญจน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เสนอไอเดียการสร้างเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 มีสองทีม ได้แก่นายวศิน วชิรดิลก  นางสาวนิจชญา มีประเสริฐสกุล  และนางสาวมัญชุพร เตชะชัยอนันต์  จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอประเด็น การออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันระหว่างประเทศ   รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 อีกทีมหนึ่ง คือ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จากต่างคณะ คือ นายนรภัทร สีสุก คณะเศรษฐศาสตร์ นายณัฐพงศ์ นาคแก้ว  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี  นายสุทธิรักษ์ สันง๊ะ  คณะรัฐศาสตร์ เสนอไอเดียการออกแบบนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ยังมอบรางวัลชมเชย ด้านความคิดสร้างสรรค์ ให้แก่ทีมนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คือ นายรพีรุจ เที่ยงธรรม นางสาวกัญญ์วรา ธาราวดี จากคณะมัณฑนศิลป์ และ นายฉัตรชัย พุ่งพวง คณะจิตรกรรมฯ  โดยทุกทีมจะได้เงินรางวัล พร้อมด้วยประกาศนียบัตรแต่งตั้งเป็น  TDRI Junior Policy Researcher สิทธิการฝึกงานและร่วมทำงานกับทีดีอาร์ไอเมื่อเรียนจบ.

TDRI junior2-edited

————

ผลการตัดสิน โครงการ Redesigning Thailand “เดินหน้าสู่เศรษฐกิจไทย 2020″

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด