ไทยโพสต์รายงาน: คูปองทีวีดิจิตอล – 4จี..ของใคร?

ปี2014-08-04

หน่วยงานที่ตกอยู่ในกระแสข่าวอย่างไม่ขาด แม้จะมีเรื่องราวข่าวคาวจากฝั่งโลกบันเทิงมาแทรกแซงความสนใจไปบ้าง แต่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือที่คุ้นหูแบบสั้นๆ ว่า “กสทช.” ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ยังคงมีประเด็นให้ติดตามการทำงานอย่างต่อเนื่อง

 

มหากาพย์คูปอง

เริ่มด้วยมหากาพย์คูปองทีวีดิจิตอล ซึ่งยืดเยื้อในการคิดหามูลค่าคูปองที่เหมาะสม โดยเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.57 ที่ผ่านมา มติของที่ประชุมของกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ได้มีข้อสรุปมูลค่าคูปองในมูลค่า 1,000 บาทต่อใบ

โดย กทปส.พิจารณาจากข้อมูลที่มาของราคาอุปกรณ์รับสัญญาณ พบว่ามีราคาต้นทุนจากหน้าโรงงานในต่างประเทศอยู่ที่ 10-15 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณกว่า 300 บาท ซึ่งเป็นราคาไม่รวมส่วนต่าง อาทิ ภาษีนำเข้า ค่าขนส่ง วางขาย กำไร ค่าพื้นที่วางขาย และข้อมูลที่ทางคณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้เสนอราคาเข้ามาก่อนหน้าก็อยู่ในอัตราใกล้เคียงกัน 10-20 เหรียญสหรัฐ ทำให้ได้ราคากลางอยู่ที่ 15 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 683.07 บาท และเมื่อรวมส่วนต่างแล้วจะมีราคาที่ 1,019.51 บาท ซึ่งเป็นราคาใกล้เคียงกับที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. เสนอเข้ามาก่อนหน้านี้ 1,000 บาท

ดูเหมือนราคาคูปองจะยุติที่ 1,000 บาท แต่เวลาต่อมาที่ประชุม กสทช.มีมติออกมาให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือประชาพิจารณ์ ใน 3 ประเด็น คือ 1.จำนวนครัวเรือนที่จะแจกคูปอง ระหว่าง 22 ครัวเรือน ตามการสำรวจของทะเบียนราษฎร์ หรือ 25 ครัวเรือน ที่คิดรวมผู้ที่อยู่นอกการสำรวจ 2.มูลค่าของคูปอง ซึ่งให้นำราคา 690 บาท หรือสูงกว่านั้น ไปรับฟังความคิดเห็น 3.เงื่อนไขการแจกคูปองจะสามารถเป็น ส่วนลดแลกซื้ออะไรได้บ้าง หลังจากมีการประชาพิจารณ์ใน 4 ภาคแล้วนั้น

จนล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ค.57 ที่ผ่านมา ผลการประชุมคณะกรรมการ กสทช.วาระพิเศษ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้มูลค่าของคูปองส่วนลดแลกซื้อเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิตอลมีมูลค่าที่ 690 บาท

สำหรับเงื่อนไขการนำไปใช้ คูปองสามารถนำไปเป็นส่วนลดแลกซื้อได้ 2 ส่วน คือ 1.โทรทัศน์ระบบดิจิตอลที่มีภาครับหรือจูนเนอร์ในตัวเครื่อง และ 2.กล่องแปลงสัญญาณระบบดิจิตอล มาตรฐานดีวีบี-ทีทู (DVB-T2) และอุปกรณ์เสริม ที่ผ่านการรับรองจาก กสทช.

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เงื่อนไขการใช้คูปองตามที่ กสท. กำหนดนั้น ให้แลกเป็นส่วนลดได้ 4 ประเภท คือ กล่องดีวีบี-ที 2 กล่องเคเบิลทีวี กล่องทีวีดาวเทียม และเครื่องโทรทัศน์ที่รับระบบดิจิตอล ซึ่งการเปลี่ยนเงื่อนไข อาจเนื่องมาจากได้รับข้อเสนอแนะของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เห็นว่าเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอลนั้น ควรใช้ในการสนับสนุนเฉพาะการเปลี่ยนผ่านภาคพื้นดินเท่านั้น ส่วนทีวีดาวเทียม-เคเบิลนั้น ต้องมีการแข่งขันกันเองในตลาด

ทั้งนี้ กำหนดให้มีการแจกคูปองจำนวน 22.9 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ณ เดือน มี.ค.57 ซึ่งคิดเป็นมูลค่ารวมที่ 15,801 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปี 2557 นี้ จะทำการแจกคูปองให้ครอบคลุม 50% หรือจำนวน 11 ล้านครัวเรือน โดยจะดำเนินการแจกตามแผนการขยายโครงข่ายการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ซึ่งตามกรอบเวลาภายในสิ้นปีนี้ จะมีการขยายทั้งสิ้นจำนวน 24 จังหวัด

ทั้งนี้ จะต้องมีการคำนวณกรอบเวลาการแจกของแต่ละพื้นที่ให้ชัดเจนก่อน เบื้องต้นภายในเดือน ก.ย.57 นี้ จะนำร่องแจกคูปองใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และนครราชสีมา โดย กสทช.จะนำข้อสรุปทั้งหมดนี้ไปเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.พิจารณาต่อไป

 

“ทีวีดิจิตอล” หวั่นขาดทุน

จากกระแสข่าวที่ออกมา ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลจำนวน 24 ช่อง ในนามของชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ กสทช.เพื่อเรียกร้อง โดยนายสุภาพ คลี่ขจาย ประธานชมรมฯ กล่าวว่า ต้องการให้ กสทช.เร่งประชาสัมพันธ์การรับชมทีวีดิจิตอล เนื่องจากผลสำรวจพบว่า ประชาชนรู้จักทีวีดิจิตอลน้อยมาก หากมีการแจกคูปองในเดือน ก.ย.ที่จะถึงนี้ อาจมีคนจำนวนมากไม่นำคูปองไปแลกอุปกรณ์รับชมทีวีดิจิตอล ซึ่งจะส่งผลต่อยอดผู้ชมและการขายโฆษณาที่จะเป็นรายได้หลักของผู้ประกอบการช่องรายการทีวีดิจิตอลได้เช่นกัน แม้ที่ผ่านมาได้คุยเรื่องดังกล่าวกับ กสทช.ในหลายครั้งแล้ว แต่ก็พบว่าในขั้นตอนนั้นไม่ได้มีการดำเนินงานตามแผนแต่อย่างใด

ทั้งนี้ การแจกคูปองก็อยู่ในระหว่างการรออนุมัติจาก คสช. แต่ตามแผนเดิมของ กสทช.ระบุไว้ว่า จะเริ่มดำเนินการแจกในวันที่ 15 ก.ย.57 อยากสอบถามความเป็นไปได้ในการแจกคูปองให้เร็วขึ้นกว่ากำหนดดังกล่าว เนื่องจากการให้บริการนั้น ทุกช่องรายการต่างมีค่าใช้จ่ายที่ต้องแบกรับ จนส่งผลให้รายได้ไม่เข้าเป้า และต้องการให้ กสทช.เร่งรัดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล เร่งสร้างการเข้าถึงพื้นที่ทั้งหมดแบบทั่วถึงและเท่าเทียม โดยไม่มีจุดอับสัญญาณ

ด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ยินดีที่จะดำเนินตามข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการ ในเรื่องการทำประชาสัมพันธ์ ขอยืนยันว่าจะดำเนินการในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อให้สอดรับกับการแจกคูปองที่เกิดขึ้นในเดือน ก.ย.57 รวมทั้งในการแลกคูปองจะกำหนดลงในเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการ (ทีโออาร์) ให้ทำการประชาสัมพันธ์ด้วยอีกทาง

ในส่วนของระยะเวลาการแจกคูปองนั้น ทันทีที่ได้รับการอนุมัติจาก คสช. ทาง กสทช.จะดำเนินการเร่งระยะเวลาให้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน แต่หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็จะเริ่มการแจกตามกำหนดเดิม คือวันที่ 15 ก.ย.57 คาดว่าคูปองจะถึงมือประชาชนในสิ้นเดือน ก.ย.เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแลกคูปองเชื่อว่าจะป้องกันการสมยอมขึ้นเงินได้เป็นอย่างดี เนื่องจากในคูปองจะมีการพิมพ์ลายน้ำ และรหัสบัตรประชาชนลงไปเพื่อป้องกันการปลอมแปลง พร้อมทั้งจะมีการเชิญตัวแทนจาก 24 ช่อง มาร่วมเป็นอนุกรรมการในการติดตามและตรวจสอบด้วย รวมทั้งในส่วนของโครงข่ายในจุดอับสัญญาณนั้น กสทช.มีแผนจะตรวจตราอยู่แล้ว เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนเข้ามามากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ในพื้นที่ที่มีอาคารสูงบังสัญญาณ ประกอบกับจะให้เสียงสะท้อนจากประชาชนในการแลกคูปอง เพื่อหาพื้นที่จุดอับสัญญาณ จะได้แจ้งให้ผู้ประกอบการโครงข่ายเข้าไปแก้ไขด้วยเช่นกัน

 

“4 จี” ต้องรออีกนานไหม

นอกจากฟากฝั่ง กสท.ที่ต้องลุยงานเคลียร์ข่าวอย่างไม่หยุดหย่อนแล้ว ด้านกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ก็เป็นประเด็นร้อนแรงไม่แพ้กัน เมื่อ คสช.ออกประกาศ ณ วันที่ 17 ก.ค.57 ให้ กสทช.ชะลอแผนการประมูล 4 จี ในคลื่นย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และคลื่นย่านความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่เดิมได้วางกรอบการประมูลขึ้นในเดือน ส.ค.และ พ.ย. 57 ออกไป เพื่อให้ กสทช.ได้ทบทวนแก้ไข เพิ่ม หรือยกเลิกกฎ ระเบียบ ประกาศหรือคำสั่งที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการดำเนินการให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส และตรวจสอบได้สอดคล้องกับแนวนโยบายการใช้จ่ายเงินงบประมาณของรัฐ

สำหรับกรณีคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) หมดสัมปทานไปแล้ว และประกาศคุ้มครอง ซิมดับจะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.2557 นี้ ให้ขยายระยะเวลาประกาศคุ้มครองฯ ออกไปจนกว่าจะเกิดการประมูลคลื่นความถี่อีกครั้ง

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานกรรมการ กทค. เคยให้ความคิดเห็นว่า เห็นด้วยกับการชะลอโครงการประมูลออกไปก่อน และยอมรับกับการตัดสินใจของ คสช. เนื่องจากต้องการให้การประมูลโปร่งใสมากที่สุด

ทั้งนี้ จากคำสั่งดังกล่าว กสทช.จึงเตรียมเสนอแก้ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ให้ คสช.พิจารณา โดยเฉพาะมาตรา 45 ที่กำหนดให้ทุกคลื่นความถี่ต้องเปิดประมูล เป็นการจัดสรรในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การประมูลเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะคลื่นสำหรับหน่วยงานราชการ และคลื่นเพื่อความมั่นคง

โดยก่อนหน้านี้ ทั้ง กสทช. บริษัท ทีโอที จำ กัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ได้เสนอโรดแม็พคลื่นความถี่ให้ คสช.พิจารณา โดย กสทช.เสนอให้ประมูลคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ขณะที่ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท เสนอขอถือครองคลื่นความถี่ที่หมดสัมปทานแล้วต่อไปโดยไม่ต้องประมูล

 

คลื่นความถี่..ต้องประมูล

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริการจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีประมูลถือเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีคุณค่าและเป็นรูปแบบที่ดีที่สุด ดังนั้น จึงต้องการให้ กสทช.ทบทวนที่จะแก้ไขกฎหมายมาตรา 45 ซึ่งจะทำให้ไม่ได้ผู้ประกอบการที่มีคุณภาพจริงๆ

ทั้งนี้ สิ่งที่ควรปรับแก้คือ ประกาศ กสทช.เรื่องการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำโดยคนต่างด้าว พ.ศ.2555 เพราะปัจจุบันไทยมี พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่มีกฎเกณฑ์ชัดเจนอยู่แล้ว กสทช.ไม่จำเป็นต้องออกประกาศอีก เพื่อเปิดทางให้รายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมได้ การปรับแก้กฎหมายจึงควรมุ่งเน้นไปที่การเอื้อให้มีผู้ประกอบการรายใหม่มากกว่าจะแก้รูปแบบการประมูล เพราะการเลื่อนประมูล จะเป็นประโยชน์ถ้าออกประกาศที่เอื้ออุตสาหกรรมมากกว่าเดิม

ด้าน นายพรเทพ เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลถือเป็นวิธีที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะการประมูลเปิดให้มีการแข่งขันด้านราคา ซึ่งแสดงถึงความต้องการใช้คลื่นที่แท้จริงมากกว่าการจัดสรรคลื่นแบบวิธีคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม หรือบิวตี้ คอนเทสต์ (Beauty contest) โดยเป็นวิธีที่ กสทช.ตั้งราคากลางและให้ผู้ประกอบการนำเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ให้กับผู้บริโภคนั้น มีกระบวนการที่โปร่งใสน้อยกว่า เพราะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้คัดเลือกเป็นสำคัญ ผู้คัดเลือกแต่ละรายให้น้ำหนักกับปัจจัยต่างๆ อาทิ ราคา คุณภาพ เทคโนโลยี แตกต่างกัน

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับคัดเลือกจะเป็นใครนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของกรรมการเป็นหลัก ซึ่งการเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจอาจทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และเกิดข้อโต้แย้งทางการเมืองและกฎหมายได้ง่ายกว่า รวมถึงความเคลือบแคลงต่อปัญหาทุจริตและความไม่เป็นธรรมในการคัดเลือก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผู้คัดเลือกขาดความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามดูตอนต่อไปว่า คสช.จะมีความคิดเห็นและพิจารณาทั้ง 2 เรื่องนี้เช่นไร เพราะทั้ง 2 อุตสาหกรรมมีความสำคัญและเป็นผลประโยชน์มหาศาลต่อประเทศชาติ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 4 สิงหาคม 2557