“บัณฑูร” หนุน คสช. จัดลำดับความสำคัญแก้ปัญหา หลังมีเสียงร้องขอให้ช่วย “ศ.ดร.อัมมาร” แนะ สศค. เรียกชื่อเสียงคืน หยุดใช้แบงก์รัฐผลาญเงินงบประมาณอย่างไร้เหตุผล “ดร.สถิตย์” เร่งลดความเหลื่อม ล้ำคนจน คนรวย ชู 3 เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพกรอบทางการคลัง
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจการคลังไทย: ความท้าทาย การปฏิรูป และความยั่งยืน” มีวิทยากรร่วมเสวนาในช่วงบ่าย ประกอบด้วย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (บมจ.) ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และ ศ.กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
นายบัณฑูรระบุว่า การปฏิรูป ของประเทศไทยเป็นเรื่องที่พูดกันมานาน และมีความหมายที่น่ากลัวกว่าเงินเฟ้อ เพราะไม่มีใครสามารถทำได้ แต่การปฏิรูปที่เกิดขึ้นได้จริงและเห็นคือ การปฏิรูปการปกครองปี 2475 และการปฏิรูปการเงินเมื่อ 15-16 ปีก่อน หรือช่วงวิกฤติการเงินปี 2540 ซึ่งทั้ง ผู้กำกับดูแลอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สถาบันการเงิน และบริษัทต่างๆ มีการวิเคราะห์และบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ระบบสถาบันการเงินและภาคการเงินมีความแข็งแกร่งมากจนทุกวันนี้ และจะเห็นว่าภาคเอกชนปรับตัวได้ดี เพราะถูกบีบจากการแข่งขันในระบบตลาดอยู่แล้ว เพราะถ้าใครหมุนไม่ทันโลกก็ต้องล้มไป จึงไม่ต้องจี้ เพียงแต่ภาครัฐช่วยวางระบบโครงสร้างต่างๆ ทั้งด้านกฎหมาย การศึกษา และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เอื้ออำนวย หรือไม่วางกฎอะไรที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชนก็เป็นสิ่งที่เพียงพอแล้ว
ส่วนภาคการคลังที่น่าเกลียดที่สุด คือ ยังมีความพยายามเข้ามาแทรกแซงธปท.ผ่านการขอนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกไปใช้ โดยอ้างคำว่าเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ แต่ในท้ายที่สุดโชคยังดีที่ภาคการเงินไม่คล้อยตาม ทำให้รอดมาจนถึงทุกวันนี้
“เรื่องการปฏิรูปเป็นเรื่องที่มีแต่คนพูดแต่ไม่มีใครทำ เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามามีคนมาบอกทุกเรื่องสำคัญหมด ซึ่งภาคประชาชนมีสิทธิ์ที่จะแนะนำ แต่คสช.ต้องจัดลำดับความสำคัญ เพราะน่าเห็นใจที่มีเวลาจำกัด อย่างไรก็ดีประเทศไทยอย่าไปฝากความหวังกับคณะใดคณะหนึ่ง เราเป็นคนเลือกคนมาบริหารประเทศ เราก็เป็นเจ้าของประเทศ แต่โดยส่วนตัวอยากได้นายกฯที่สามารถจัดการกับปัญหาได้ดี”
“ศ.ดร.อัมมาร” กล่าวว่า การปิดช่องโหว่การใช้เงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณทำโครงการประชานิยมของนักการเมือง หรือใช้เงินงบประมาณที่ไม่มีความโปร่งใสผ่านโครงการของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น สศค.ต้องสร้างกระบวนการเงินงบประมาณที่เข้มแข็ง โดยใช้เงินจากภาษีให้มีความเข้มงวด เพราะปัจจุบันมีโอกาสรั่วไหลทุจริตหรือโกงสูง ในส่วนของขั้นตอนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกปลวกกัดแทะมานาน โดยอ้างความยากจนในการใช้เงินซึ่งมีเหตุผลที่น้อยลง เช่น โครงการรับจำนำข้าว 1.4 ล้านล้านบาท เป็นโครงการที่ทำลายระบบรายได้ชนบทและเป็นโครงการที่ธนาคารรับเคราะห์มากที่สุด จึงเป็นปัญหาแรกๆ ที่สศค.จะต้องทำหน้าที่ปิดช่องโหว่ เพราะอดีตที่ผ่านมา สศค.เป็นตัวชี้โพรง ซึ่งต้องแก้ไขเพื่อแก้กรรมที่เคยทำมา
“สิ่งแรกที่ท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้โครงการที่ขาดวินัย ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถทำได้ เหมือนโครงการรับจำนำข้าวที่ไม่มีบัญชี แต่สามารถปิดบัญชีได้ จึงเป็นเรื่องที่สศค.ต้องเอาชื่อเสียงกลับคืนมา โดยเริ่มตั้งแต่การอุดช่องโหว่กู้เงินของธนาคารของรัฐทำได้ยากมากขึ้นต่อให้มีผู้มีอำนาจสั่งก็ขอให้ทำได้ยากมากขึ้น”
สำหรับแนวคิดปฏิรูปภาษี หรือแก้กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มองว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากไม่ได้เป็นเครื่องมือสร้างความสุขให้กับประชาชน และที่สำคัญไม่ได้คะแนนเสียง แต่กฎหมายทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะเป็นการขยายฐานคนที่จะเสียภาษีให้มากขึ้น โดยต้องตั้งอัตราภาษีที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้รัฐสนับสนุนเงินให้น้อยลง และไม่ให้เป็นแบบเหมาจ่ายเหมือนกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท แต่ต้องปรับให้ทุกคนต้องหาเงินเองและการสนับสนุนวงเงินจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดเก็บรายได้ เพื่อระงับโครงการประชานิยมแบบมักง่าย
“ดร.สถิตย์” ระบุว่า นโยบายเร่งด่วนของกระทรวงการคลังคือ การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวย โดยตัวเลขสถิติในปี 2537 มีคนจนอยู่ 24 ล้านคน แต่มาในปี 2553-2554 คนจนเหลือเพียง 8 ล้านคน สะท้อนว่าคนจนลดลง 1 ใน 3 แม้ว่าจะลดลง แต่ก็ยังมีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยถึง 11 เท่า ซึ่งหลักการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้นั้น จะต้องเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วเหมือนที่ประเทศมาเลเซียประกาศว่าภายในปี 2563 จะก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งจะเป็นไปได้ประเทศจะต้องมีโครงสร้างรายได้ประชาชาติอยู่ที่ 1.2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ซึ่งปัจจุบันค่าเฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 5.2 พันดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี
อย่างไรก็ดี การจะลดความเหลื่อม ล้ำได้ จะต้องคำนึงถึงสถานะทางการคลังที่จะมาสนับสนุนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งปัจจุบันรายได้หักรายจ่าย หรือที่เรียกว่า Fiscal Space จะต้องอยู่ที่ 15% แต่ปัจจุบันมีอยู่ 12% เพราะถ้าไม่ใช้ส่วนนี้ก็ต้องก่อหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อน จึงต้องมาสู่การปฏิรูปให้มีสเปรดที่เพียงพอเพื่อไม่กระทบเพดานการก่อหนี้และกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งเครื่องมือหลักที่จะนำมาใช้ คือ 1.รายได้ จะมาจากการจัดเก็บภาษีที่ปัจจุบันคิดเป็น 17% ของจีดีพี ซึ่งควรจะจัดเก็บให้ได้มากกว่านี้ หรือใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ 21% ดังนั้นเรื่องของ Negative Income เป็นเรื่องที่ต้องทำ 2.ด้านรายจ่าย โครงการจะต้องมีผลต่อเศรษฐกิจอย่างแท้จริง และสามารถวัดผลที่เกิดขึ้นได้จริง เช่น การใช้จ่ายผ่าน SFIs หรือผ่านคลังจะต้องมีความชัดเจน และ 3.หนี้สิน ไม่กังวลมาก เพราะมีกรอบความยั่งยืนอยู่ที่ 60% และคิดว่าไม่น่าจะเกิน เพราะหากเศรษฐกิจขยายตัวได้ 4%
“เราต้องทำกรอบรายจ่ายที่เพียงพอกับงบลงทุนและหนี้สินให้พอดี ขณะเดียวกันการพัฒนาประเทศด้านสังคมมากขึ้นก็ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ เหมือนช่วยลดภาระทางการคลังด้วย”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 14-16 สิงหาคม 2557