สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐถูกมองว่ามีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นมาโดยตลอด สาเหตุหลักมาจากการไม่เปิดเผยข้อมูล แม้ไทยจะมีกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการบังคับใช้มาตั้งปี 2540 แล้วก็ตาม ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของภาครัฐจึงน่าจะเป็นการสกัดหรือต่อต้านคอร์รัปชั่นที่ตรงจุด
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และ ธิปไตร แสละวงศ์ ได้ร่วมกันทำการศึกษาเรื่อง “การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของรัฐ และการต่อต่อต้านคอร์รัปชั่นในประเทศไทย” โดยผลการศึกษา ระบุว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิภาพตามหลักสากลต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคประชาสังคม โดยรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ภาคประชาชนได้เข้าถึง เพื่อตรวจสอบการบริหารของรัฐอีกทางหนึ่ง
ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนได้รับทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและการให้สัมปทานของรัฐ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงการใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ แต่ที่ผ่านมาพบว่า การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ โดยมีสาเหตุมาจากการที่มีข้อยกเว้นที่ค่อนข้างกว้าง และการไม่มีบทลงโทษในกรณีที่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ประการแรก พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯยังคงเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นเจ้าของข้อมูลสามารถใช้วิจารณญาณว่าจะเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยข้อมูลที่ได้รับการร้องขอ เนื่องจากกฎหมายได้ให้ข้อยกเว้นแก่ “ข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องเปิดเผย” ด้วยให้นิยามว่าเป็นข้อมูลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ความปลอดภัยส่วนบุคคล ความเป็นส่วนตัว (privacy) กระบวนการทางยุติธรรม ฯลฯ ซึ่งขาดกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาทำให้หน่วยงานรัฐสามารถอ้างข้อยกเว้นได้อย่างเสมอ อีกทั้งการกำหนดบทลงโทษกลับกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐพิจารณาเลือกที่จะปกปิดข้อมูลมากกว่าการเปิดเผย เนื่องจากกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารราชการได้กำหนดบทลงโทษในกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐเปิดเผยข้อมูลที่ห้ามเปิดเผย แต่ไม่มีบทลงโทษสำหรับการไม่เปิดเผยข้อมูลที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมาย
ประการที่สอง การพิสูจน์ว่าข้อมูลใดควรเปิดเผย ตามกระบวนการของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร(กวฉ.) ของ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ(สขร.)นั้น ใช้เวลาค่อนข้างนาน และคำวินิจฉัยไม่ถือเป็นที่สุดในทางปฏิบัติ เนื่องจาก สขร.ไม่มีอำนาจลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐหรืออกคำสั่งโดยตรงต่อหน่วยงานของรัฐ
คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอสามส่วน ข้อเสนอส่วนแรกเป็นข้อเสนอในการพิจารณาข้อมูลข่าวสารว่าควรเปิดเผยหรือปกปิดควรมีการปรับปรุงดังนี้ ควรแก้ไขคำว่า “ข้อมูลข่าวสารของราชการ” เป็น “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ซึ่งครอบคลุมข้อมูลข่าวสารในการครอบครองบริษัทเอกชนซึ่งจัดทำบริการสาธารณะ เช่น ฐานข้อมูลหมายเลขโทรศัพท์ที่อยู่ในครอบครองของบริษัทโทรคมนาคมเอกชน หรือ ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในครอบครองของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น ควรกำหนดหลักการเปิดเผยหรือปกปิดข้อมูลข่าวสารที่ต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า ผลประโยชน์สาธารณะต้องมาก่อนผลประโยชน์ส่วนบุคคล โดยหน่วยงานที่ครอบครองข้อมูลจะต้องประเมินผลได้-ผลเสียจากการเปิดหรือไม่เปิดเผยข้อมูล (Prejudice Test) ตามมาตรฐานสากล เช่น หลักการเปิดเผยของ สขร.สหราชอาณาจักร(Information Commissioner’s Office-ICO) และควรกำหนดกรอบในการอ้างข้อยกเว้นตามกฎหมาย เช่นในกรณีของความมั่นคงนั้น อาจกำหนดให้การปฏิเสธที่จะเปิดเผยเอกสารใดๆ โดยอ้างความมั่นคงนั้นจะต้องเป็นเอกสารที่มีการจัดชั้นความลับล่วงหน้าเท่านั้น เป็นต้น
ข้อเสนอส่วนที่สองเกี่ยวกับการปรับปรุงเชิงสถาบัน คณะผู้วิจัยเห็นว่าควร ให้ สขร.เป็นองค์กรที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารหรือฝ่ายการเมือง เช่นเดียวกับ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เป็นต้น ซึ่งต้องมีแหล่งเงินทุนและบุคลากรอย่างเพียงพอต่อการบังคับใช้กฎหมาย
ข้อเสนอส่วนสุดท้าย ควรให้ “เขี้ยวเล็บ” แก่ สขร. ในการลงโทษทางปกครองแก่หน่วยงานของรัฐที่ไม่เปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่ ครม . กำหนด นอกจากนี้แล้ว คณะผู้วิจัยเห็นว่า การสร้างแรงจูงใจให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยเสนอให้กระทรวงการคลัง และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.)ให้ความสำคัญแก่ดัชนีชี้วัดการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ในการกำหนดค่าตอบแทนและแรงจูงใจให้แก่พนักงานและหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ.
หมายเหตุ : สามารถดูงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ได้ที่เว็บไซต์ https://tdri.or.th/research/official-information-act-anti-corruption/