‘ทีดีอาร์ไอ’ แนะขยายฐานรายได้ เก็บภาษีสุขภาพ

ปี2014-09-02

“ทีดีอาร์ไอ” แนะปรับปรุงการคลังรองรับระบบประกันสุขภาพฯ ขยายฐานรายได้ “เก็บภาษีสุขภาพ” ทยอยลดสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เน้นสร้างความโปร่งใสบริหารจัดการกองทุนสุขภาพปีละ 2 แสนล้านบาท

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “โครงการพัฒนาแนวทางอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย” โดยศึกษาจากระบบประกันหลักสุขภาพในต่างประเทศโดยมีข้อเสนอแนะในการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการรักษาพยาบาลภาครัฐของประเทศไทย

โดยคณะผู้วิจัยจากทีดีอาร์ไอ ระบุว่าระบบประกันสังคมอาจไม่เหมาะสมนักสำหรับประเทศไทย เพราะในปัจจุบันระบบประกันสังคมครอบคลุมจำนวนแรงงานเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนั้น ระบบประกันสังคมให้สิทธิในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนเฉพาะช่วงเวลาที่ยังไม่เกษียณอายุเท่านั้น ทำให้ภาครัฐต้องมีระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามารองรับประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและผู้เกษียณอายุการทำงาน

ผู้วิจัยเสนอว่าในการพัฒนาระบบการคลังเพื่อรองรับการสร้างระบบประกันสุขภาพให้เท่าเทียมทีดีอาร์ไอเสนอว่า ควรมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกประกันสังคม โดยเมื่อมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้ว รัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีสุขภาพ เพื่อที่จะให้มีแหล่งเงินสำหรับอุดหนุนบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่แน่นอน โดยควรมีการกำหนดฐานภาษีในการจัดเก็บภาษีสุขภาพดังกล่าวที่กว้างขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานในระบบน้อย และมีจำนวนผู้จ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดาไม่กี่ราย

การเก็บภาษีแบบหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน หรือจากภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจึงไม่เหมาะสม ซึ่งอาจพิจารณาแนวทางที่ประเทศฝรั่งเศสใช้ คือ การเก็บจากภาษีที่หลากหลาย รวมถึง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีรายได้นิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากใช้บริการของแรงงานนอกระบบ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ เพื่อที่จะกระจายภาระค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในวงกว้าง

“ในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของไทยทั้งสามกองทุน มีกรอบความรับผิดชอบทางการคลังที่จำกัด โดยเฉพาะในส่วนของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ใช้งบประมาณกลางเป็นหลักทำให้ไม่มีผู้ที่รับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย”

ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างของสิทธิประโยชน์ระหว่างระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสุขภาพอื่นอีกสองระบบ ภาครัฐควรดำเนินการเพื่อยุบเลิกระบบสวัสดิการข้าราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการกำหนดให้ข้าราชการที่บรรจุใหม่ใช้บริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือระบบประกันสังคม แล้วแต่ว่าระบบใดจะเป็นระบบหลักของประเทศ โดยให้ค่าชดเชยเป็นเงินเพิ่มรายปีที่คำนวณจากส่วนต่างของค่าใช้จ่ายของระบบจ่ายตามจริงกับเหมาจ่ายรายหัวตามข้อมูลเชิงประจักษ์

นอกจากนี้ เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของไทยใช้งบประมาณของภาครัฐและเงินกองทุนของระบบประกันสังคมรวมแล้วเป็นวงเงินเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี การบริหารจัดการจึงต้องมีความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โครงสร้างของคณะกรรมการที่เข้ามาดูแลระบบประกันสุขภาพของประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 2 กันยายน 2557