วานนี้ (8 ก.ย.) กรมบัญชีกลาง จัดสัมมนาเรื่อง “หยุดคอร์รัปชัน เพื่อประเทศไทยก้าวไปข้างหน้า” โดยมีประเด็นสำคัญคือกระทรวงการคลังเตรียมผลักดันร่างพระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้าง แทนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี มีสาระสำคัญ ดังนี้
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่าความสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเป็นการปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2535 ให้เป็นพระราชบัญญัติ เพื่อให้การแก้ไขระเบียบต่างๆ ในการจัดซื้อจัดจ้างทำได้ยากขึ้น เพราะต้องผ่านสภาผู้แทนราษฎร จากเดิมการแก้ไขระเบียบทำได้ง่ายเพียงเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เท่านั้น
ในแต่ละปี มูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีมูลค่าสูงมาก โดยในงบประมาณปี 2556 การจัดซื้อจัดจ้างมูลค่า 8.33 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ(จีดีพี) จึงจำเป็นต้องทำให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อ การลงทุน
นายรังสรรค์ ระบุว่าการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน ถือเป็นยุทธศาสตร์ และเป็นวาระแห่งชาติ กระทรวงการคลังในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ มีนโยบายชัดเจนที่จะต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยกำหนดเป็นยุทธศาสตร์ของกระทรวง
“เท่าที่หารือกับภาคเอกชน การออกเป็นกฎหมายจะทำให้ช่วยควบคุมการทุจริต ทำให้เกิดความโปร่งใส เพราะกฎหมายแก้ไขได้ยากกว่า พ.ร.บ. โดยจะนำมาบังคับใช้ทั้งกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากหน่วยงานใดปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะการปล่อยปละละเลยให้มีการทำผิดในหน่วยงาน ถือว่า ผิดวินัยข้าราชการ” นายรังสรรค์ กล่าว
ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ จะมีขาใหญ่ประจำหน่วยราชการที่มาคุมการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้เกิดการฮั้วประมูล เพื่อแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างราชการและเอกชน โดยงบประมาณใต้โต๊ะในบางแห่งมีสัดส่วนถึง 30% ของการลงทุน
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาก็มาวางกรอบแก้ปัญหาการทุจริตในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐเป็นการเฉพาะ โดยได้พิจารณานำมาตรฐานการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันสากลมาใช้ ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หากพบความผิดปกติส่งไปยังองค์กรอิสระ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบต่อไป
ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจ คสช.ได้แต่งตั้งให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ขึ้นมากำกับดูแลโครงการลงทุนรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่งใหม่ ขณะนี้ให้อำนาจของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจในการเข้าไปดูแลต่อไป:หวังอันดับคอร์รัปชันดีขึ้น
นายรังสรรค์ กล่าวว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในระบบบริหารราชการยังคงเป็นปัญหาที่สำคัญ ซึ่งการแก้ปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือกันทุกฝ่าย จากดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) จัดทำโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ที่จัดทำดัชนีชี้วัดทุกปี มีค่าคะแนนตั้งแต่ 0 ที่หมายถึงประเทศที่มีคอร์รัปชันมากที่สุด ถึง 100 ที่เป็นประเทศคอร์รัปชันน้อยที่สุด
ในปี 2556 ไทยได้ 35 คะแนน มีอันดับที่ 102 จากทั้งหมด 177 ประเทศทั่วโลก เท่ากับประเทศเอกวาดอร์ มอลโดวา และปานามา และอยู่ที่อันดับ 16 จาก 28 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก โดยประเทศที่มีอันดับหนึ่ง คือ ประเทศเดนมาร์ก และนิวซีแลนด์ ได้เท่ากัน 91 คะแนน ส่วนที่ต่ำสุดคืออัฟกานิสถาน เกาหลีเหนือ และโซมาเลียที่ได้ 8 คะแนน
กลุ่มประเทศอาเซียนมีเพียง 3 ประเทศ ที่ได้คะแนนเกินครึ่ง คือ สิงคโปร์ 86 คะแนน บรูไน 60 คะแนน และมาเลเซีย 50 คะแนน โดยไทยอยู่ในอันดับที่ 5 ต่อจากฟิลิปปินส์ และเป็นน่าสังเกตว่าลาวและพม่าแม้จะมี คะแนนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ดีขึ้นกว่าปีก่อนหน้าอย่างเห็นชัดเจน โดยหวังหว่าปีนี้ อันดับ ของไทยจะปรับดีขึ้นกว่าปีก่อน:นำร่อง’อีบิดดิ้ง-อีมาร์เก็ต’
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐนั้นจะใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2535 และมีการปรับปรุงจัดซื้อจัดจ้างเป็นระบบอีอ็อคชั่นในปี 2549 ล่าสุดได้มีการปรับปรุงระบบจัดซื้อจ้างให้นำระบบอีบิดดิ้ง กับอีมาร์เก็ตมาใช้ คาดว่าจะตรวจรับภายในเดือนก.ย.นี้ และนำร่องใช้ในหน่วยงานกระทรวงการคลัง และโรงพยาบาลอีก 3 แห่ง เพื่อประเมินผลนำมาใช้กับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
“ระบบใหม่นี้ผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างจะไม่มีโอกาสมาพบหน้ากัน หวังว่าจะทำให้ลดการทุจริตได้ นอกจากนี้จะมีฐานข้อมูลสินค้าที่หน่วยงานต่างๆ มาเช็คราคาเพื่อประโยชน์ในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานได้”:แนะดึงส่วนอื่นร่วมตรวจสอบ
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชันมีทุกวงการ มีทุกเรื่อง ตั้งแต่เล็กจนใหญ่ ซึ่งการจัดซื้อจัดจ้างสำคัญมาก เพราะงบประมาณมากถึง 8 แสนล้านบาท หากมีการรับใต้โต๊ะ 30% คิดเป็นเงินกว่า 2 แสนล้านบาท โดยเป็นการทุจริตร่วมกันของทั้ง 3 ฝ่าย คือ ข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง
“ปัญหาการทุจริตทำให้อันดับคอร์รัปชันของไทยปี 2556 ต่ำที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้น และยังไม่แน่ใจว่าปีนี้ ที่จะประกาศออกมา จะดีขึ้นกว่าเดิมหรือไม่”
ทั้งนี้ เครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชันได้ร่วมกับกรมบัญชีกลางมาร่วมกันตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนรัฐบาลให้การจัดซื้อจัดจ้างมีความโปร่งใส ถ้าตัวเลขมีการเปิดเผยออกมา ทำให้การตรวจสอบง่าย ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่กล้าทุจริต และต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม มีกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิมารับรู้และสังเกตการในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยให้ดูตั้งแต่เบื้องต้นว่าการเขียนทีโออาร์ ล็อกสเปคให้ใครหรือไม่ เพราะในทุกกระทรวงมีขาประจำ
“การเขียนทีโออาร์ก็จะเอื้อกัน ส่วน การร่วมประมูลต้องเปิดกว้าง การกำหนด ราคากลางต้องมีที่มาที่ไปและต้องดูความเหมาะสม”
นายประมนต์ กล่าวเห็นด้วยกับร่างกฎหมายใหม่ เพราะระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของ สำนักนายกฯเปลี่ยนได้ง่าย และหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะให้ความสำคัญ รวมถึงการดึงระบบขององค์กรตรวจสอบโครงการก่อสร้างสากล (คอสท์) เข้ามา เพราะหลายประเทศใช้ระบบนี้ประสบความสำเร็จในการป้องกันการทุจริต:ชี้60%ปกปิดข้อมูล
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การทุจริตจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเป็นปัญหา “คลาสสิก” ซึ่งเมื่อพูดถึงการคอร์รัปชันจะถูกโยงเรื่องนี้ตลอด โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล และเท่าที่ไปตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างผ่านเว็บไซต์กรมบัญชีกลาง พบว่า เกินครึ่งหรือ 60% ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลตามที่กรมบัญชีกลางกำหนดไว้
“การเปิดเผยข้อมูลจะเป็นตัวชี้ว่าระบบจะดีหรือไม่ดี แม้ว่าหลายคนบอกว่าคุณธรรมจริยธรรมของคนจะเป็นเสาหลักสำคัญในการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ต้องดูว่าระบบที่นำมาใช้ดีหรือไม่ คนไม่ดีระบบมีปัญหาคนดีๆ อาจยิ่งสร้างปัญหาหนักขึ้นไปอีก”
การซื้อจัดจ้างของไทยมีปัญหา 3 เรื่องนำไปสู่การคอร์รัปชันคือผูกขาด คือ 1 ก่อสร้างที่มีการผูกปิ่นโตไว้ระหว่างหน่วยงานกับเอกชน หรือการที่ฝ่ายรัฐไว้ใจหน่วยงานรัฐ และรัฐวิสาหกิจด้วยการให้มีการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นจัดซื้อยา น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดการผูกขาด 2 การใช้ดุลพินิจที่ไม่เหมาะสม การจัดซื้อจัดจ้างวิธีพิเศษ โดยเฉพาะกสทช.การจัดซื้อจัดจ้างเป็นวิธีพิเศษทุกเรื่อง ยังสงสัยว่าทำไมต้องทุกเรื่อง 3 ความโปร่งใส ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเท่าที่ควรจะเป็น
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 กันยายน 2557