สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยมีปัญหาซับซ้อนมายาวนาน การจัดการป่าจึงทำได้ไม่ง่าย จำเป็นต้องใช้ทางเลือกมากกว่าการปราบปราบบังคับด้วยกฎหมาย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งในทางปฏิบัติจากความไม่ชัดเจนของขอบเขตพื้นที่และช่วงเวลาการอยู่อาศัยของชุมชนในท้องถิ่นก่อนหรือหลัง จึงจำเป็นต้องมีกลไกการบริหารรูปแบบใหม่ในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มากกว่าการใช้กฎหมายอย่างเดียว นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ เสนอแนวทางสร้างสมดุลการจัดการทรัพยากรป่าไม้ให้ได้ผลยั่งยืนด้วยการปลูกป่าในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนเข้าใจประโยชน์ที่ได้รับจากป่าอย่างต่อเนื่อง ควบคู่การใช้กลไก“พันธบัตรป่าไม้” เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความรับผิดชอบอนุรักษ์ป่าโดยการระดมทุนจากผู้ได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศป่าไม้ผ่านการซื้อพันธบัตรและได้ผลตอบแทนคืนเมื่อครบกำหนด เพื่อเป็นทุนในการขับเคลื่อนกลไกในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศป่าไม้ และควรมุ่งลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีการบุกรุกป่ามากกว่าปราบปรามการบุกรุกป่าของชาวบ้านหรือชุมชนที่อาศัยในพื้นที่ป่า
นางสาวปริญญารัตน์ เลี้ยงเจริญ นักวิจัยอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับทรัพยากรป่าไม้มามากกว่า 37 ปี โดยบรรจุนโยบายทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันฉบับที่ 11 โดยมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และนโยบายต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลาตามความเหมาะสม แต่สถานการณ์ป่าไม้ของไทยยังไม่กระเตื้องขึ้นมากนัก พื้นที่ป่ายังคงมีแนวโน้มลดลง จากการบุกรุกและการใช้ประโยชน์ที่ดินจากป่าไม้ไปเป็นรูปแบบอื่น ๆ สำหรับพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกมากที่สุดคือพื้นที่ป่าสงวน จากข้อมูลระบุว่าปัจจุบันเหลือพื้นที่ป่าเหลืออยู่จริงเพียง 163,391 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นเนื้อที่ป่าที่เหลืออยู่เพียง 31.5% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ จากในอดีต 40 ปีที่แล้วมีสัดส่วนพื้นที่ป่าเกือบ 50% ของพื้นที่ประเทศ การลดลงของพื้นที่ป่าเป็นผลจากการบุกรุกพื้นที่ป่ามาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการขยายพื้นที่การเพาะปลูกพืช เช่น ข้าวโพด อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ที่กระจายทั่วประเทศโดยเฉพาะในภาคเหนือ และภาคอีสาน เป็นต้น
ปัญหาป่าไม้มีความซับซ้อนแต่สามารถจัดการได้ โดยใช้รูปแบบและวิธีการที่หลากหลายตามความเหมาะสมสถานการณ์ปัญหาแต่ละพื้นที่ เครื่องมือที่ใช้มีทั้งมาตรการควบคุม กำกับ และสร้างจิตสำนึก แต่แนวทางที่ยั่งยืนคือการรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าและเห็นประโยชน์ของป่าให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมซึ่งต้องทำไปเรื่อย ๆ และประยุกต์ใช้เครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ด้วย กลไก “พันธบัตรป่าไม้” ที่นำมาช่วยในการจัดการทรัพยากรป่าไม้ได้ จากการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า พันธบัตรป่าไม้เป็นกลไกการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ในการดูแลรักษาและเพิ่มพื้นที่ป่า โดยการออกพันธบัตรระดมทุนจากผู้ที่ได้ประโยชน์จากระบบนิเวศป่าไม้เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และพื้นฟูป่าและระบบนิเวศป่าไม้ ทำให้เกิดการอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนภายใต้การแลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากระบบนิเวศป่าไม้ร่วมกัน
นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า แนวทางของพันธบัตรป่าไม้ ให้ความสำคัญกับการปลูกป่าเสริมในพื้นที่ที่เป็นป่าอนุรักษ์ และการปลูกป่าเพิ่มในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรม และสามารถทำควบคู่ไปกับกิจกรรมปลูกป่าหรืออนุรักษ์ป่าอื่น ๆ ที่ดำเนินการอยู่แล้ว เช่น ธนาคารต้นไม้ ที่มีพื้นที่ดำเนินการในพื้นที่ของตนเองหรือพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงการดำเนินการที่เน้นให้คนอยู่ร่วมกับป่าเนื่องจากป่าที่ถูกทำลายส่วนมากมีคนครอบครองพื้นที่อยู่แล้ว โดยให้คนที่อยู่ในพื้นที่สามารถใช้ประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจและบริการที่ได้จากระบบนิเวศอย่างเหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องให้ชาวบ้านที่บุกรุกพื้นที่ป่าทำการเกษตรต้องย้ายออกแต่เปลี่ยนมารับจ้างเป็นแรงงานปลูกและบำรุงป่าแทน และ สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจเสริมรายได้ระดับที่เหมาะสม รวมทั้งสนับสนุนด้านบริการทางสังคมที่ดีให้คนในพื้นที่เพื่อให้สามารถอยู่ได้และดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน
แนวทางพันธบัตรป่าไม้เป็นมาตรการเสริมเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากป่าอย่างคุ้มค่าและมีความรับผิดชอบ ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ แต่แนวทางนี้ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายในการจัดตั้งองค์กรขึ้นมารับผิดชอบบริหารจัดการและออกพันธบัตรป่าไม้ กลไกพันธบัตรป่าไม้จึงเป็นแนวทางเบื้องต้นที่รอบทพิสูจน์การขับเคลื่อนในเชิงนโยบายของภาครัฐ
นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ทุกรัฐบาลต่างประกาศนโยบายต้องการรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรและสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่วิธีปฏิบัติมักเกิดปัญหามาตลอด จึงควรให้ความสำคัญกับการเลือกวิธีปฏิบัติ โดยการให้คนอยู่ร่วมกับป่า และการให้สิทธิ์แก่ชุมชนในการจัดการป่าร่วมกัน สำหรับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดนั้น เป้าหมายลำดับแรก ๆ ควรเน้นไปที่การจัดการกับปัจจัยที่ทำให้คนต้องบุกรุกพื้นที่ป่า โดยเฉพาะการแสวงหาผลประโยชน์จากกลุ่มนายทุนที่อยู่เบื้องหลังการบุกรุกพื้นที่ป่า แต่คนที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคือชาวบ้านที่ไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมกลายเป็นหนังหน้าไฟให้กับนายทุน อย่างไรก็ตามผลงานรูปธรรมที่สุดของการรักษาป่าที่สังคมไทยอยากเห็นมาทุกยุคสมัยคือ ผืนป่าไม่ลดลง และมีการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและคุ้มค่า.