ทีดีอาร์ไอหนุนกฎหมายควบคุมโฆษณาภาครัฐ ลดคอร์รัปชัน

ปี2014-09-19

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

การประกาศนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ห้ามข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำ ทำป้ายคัตเอาต์โชว์ตัวบุคคล หรือการทำป้ายให้ประชาชนยกสนับสนุนในลักษณะหาเสียง อย่างที่นักการเมืองในยุคก่อนหน้านี้นำเสนอกันจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ  ถือได้ว่านโยบายที่ต้องการล้างพฤติกรรมการใช้งบประมาณของรัฐที่ไม่คุ้มค่าและอาจจะเอื้อต่อการคอร์รัปชั่นแฝงจากการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของรัฐ

นายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยถึงงานวิจัยในหัวข้อ “การครอบงำสื่อสาธารณะของภาคการเมือง” โดยระบุว่า การทำวิจัยเรื่องนี้มีแนวคิดมาจากการตรวจสอบการคอร์รัปชั่นในภาครัฐ ซึ่งประเด็น “การซื้อสื่อของภาครัฐ” เป็นอีกหนึ่งปัญหาย่อยของการทุจริตในภาครัฐที่พบในรูปแบบการใช้งบประมาณที่ไม่ระบุแน่ชัดว่านำไปใช้เพื่ออะไร เนื่องจากงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์ไม่มีมาตรฐานหรือราคาที่แน่นอน จึงง่ายต่อการกลบเกลื่อนการใช้งบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่คุ้มค่า ขณะเดียวกันในส่วนของสื่อซึ่งถือว่าเป็นกระบอกเสียงให้แก่ประชาชน หากถูกครอบงำโดยรัฐจะทำให้การนำเสนอข่าวหรือการรับรู้ข้อมูลของประชาชนเป็นไปด้วยวิธีการที่ไม่ตรงไปตรงมา สูญเสียความเป็นอิสระในการทำหน้าที่เปิดเผยหรือการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆของรัฐ

ซึ่งช่องทางของรัฐในการแทรกแซงสื่อมี 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.เป็นเจ้าของสื่อเองโดยตรงอย่างโทรทัศน์และวิทยุ ทำให้การครอบงำสื่อของรัฐเป็นไปค่อนข้างง่าย และสื่อโทรทัศน์สามารถเข้าถึงคนไทยได้มากที่สุด 2.เป็นผู้ให้สัมปทานสื่อในช่องโทรทัศน์และวิทยุ แต่ปัจจุบันมีการประมูล Digital TV ส่งผลให้อำนาจดังกล่าวลดน้อยลง 3.ซื้อสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นสื่อที่น่าห่วงที่สุดที่จะถูกครอบงำโดยรัฐ เพราะเป็นธุรกิจเสรีมีการแข่งขันสูงและอาจถูกซื้อได้มากว่าสื่ออื่นๆประกอบกับรัฐไม่มีธุรกิจนี้เป็นของตัวเองและ มีแนวโน้มว่าสื่อหนังสือพิมพ์จะเข้าถึงประชาชนได้เร็วมากขึ้นจากการปรับตัวเพื่อสื่อสารให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและในหลายช่องทาง อาทิ หนังสือพิมพ์ออนไลน์ หนังสือพิมพ์แจกฟรี เป็นต้น

นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยังระบุว่า จากข้อมูลของบริษัท Nielsen Company พบว่าในภาพรวมค่าใช้จ่ายโฆษณาของรัฐปี พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา รัฐใช้เงินงบประมาณถึง 7,985 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% ในการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ โดยครึ่งหนึ่งเป็นของรัฐวิสาหกิจ และพบว่าหน่วยงานราชการที่ใช้งบประมาณมากที่สุดในการประชาสัมพันธ์ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี มีค่าโฆษณาอยู่ที่ 506 ล้านบาท รองลงมาคือกระทรวงอุตสาหกรรม ค่าโฆษณาอยู่ที่ 468 ล้านบาท ขณะที่หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ใช้งบประมาณมากที่สุด ได้แก่ ธนาคารออมสิน อสมท.และ ปตท. ตามลำดับ

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีการออกกฎหมายควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถลดปัญหาการทุจริตในงบประชาสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการใช้งบประมาณของรัฐหาเสียงส่วนตัว เช่น ห้ามมีรูป ชื่อ เสียง ของนักการเมืองหรือข้าราชการเจ้าหน้าที่ของรัฐและสโลแกนหรือสัญลักษณ์ของพรรคการเมืองในสื่อประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของหน่วยงานรัฐ ซึ่งข้อห้ามนี้ไม่รวมพื้นที่ในเว็บไซต์ของรัฐ ส่วนหนังสือข้าราชการสามารถมีลายเซนต์และชื่อผู้รับผิดชอบได้ รวมทั้งหากมีการใช้พื้นที่การประชาสัมพันธ์ในสื่อควรมีลักษณะไม่มุ่งเน้นหรือสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาลหรือโจมตีฝ่ายตรงข้าม และควรระบุว่าเป็นโฆษณาที่จัดทำขึ้นโดยใช้งบประมาณของรัฐพร้อมระบุชื่อหน่วยงานผู้ลงโฆษณา ขณะเดียวกันรัฐต้องจัดทำสรุปผลการดำเนินงานประจำปีและเปิดเผยต่อประชาชนผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน และหากฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทลงโทษพร้อมกรอบระยะเวลา โดยมีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนี้ ขณะที่ในส่วนของสื่อมวลชนเองต้องมีการปรับปรุงการกำกับดูแลภาควิชาชีพตามกรอบจรรยาบรรณและตามหลักจริยธรรม ภายใต้กฎหมายที่มีการบังคับใช้

อย่างไรก็ตามนักวิจัยทีดีอาร์ไอมองว่า ในอนาคตการที่รัฐจะครอบงำสื่อโดยตรงจะเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้น เนื่องจากการสิ้นสุดระบบสัมปทาน และการเปิดเสรีในธุรกิจโทรทัศน์เคเบิลและดาวเทียม ทำให้มีสื่อที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งการสื่อสารในโลกออนไลน์หรือโซเซียลเนตเวิร์คของสำนักข่าวต่างๆจะทำให้ประชาชนมีสื่อทางเลือกมากขึ้น ขณะที่ตัวองค์กรสื่อเองต้องไม่สูญเสียความเป็นตัวเองในการดำรงความอิสระและทำหน้าที่ในฐานะผู้ติดตามและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่น ให้สังคมรับทราบอย่างตรงไปตรงมาด้วยเช่นกัน.

หมายเหตุ : ดูผลวิจัยฉบับเต็มการซื้อสื่อของภาครัฐ  ได้ที่ https://tdri.or.th/research/government-advertise/