ข้อเสนอแนะ… มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ปี2014-09-30

หมายเหตุ – ข้อเสนอแนะของภาคเอกชนและนักวิชาการภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2558 รวมกับการใช้งบค้างจ่ายจากปีงบประมาณ 2557 ส่งเสริมการจัดสัมมนาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ประชาชนในต่างจังหวัด

 

สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

จากการที่รัฐบาลสั่งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณค้างท่อของปีงบประมาณ 2557 แต่ข้อมูลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 พบว่าส่วนใหญ่เบิกจ่ายได้ตามปกติ แม้ว่างบประมาณส่วนหนึ่งไม่สามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงที่มีรัฐบาลรักษาการ แต่โดยรวมมีเงินค้างท่อไม่มากนัก เชื่อว่าการเร่งเบิกจ่ายงบส่วนนี้ไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ หรือไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน วงเงินรวม 9.41 แสนล้านบาท หรือราว 36% ของงบประมาณรวม 2.575 ล้านล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากการเบิกจ่ายงบประมาณเดิมที่คาดว่าจะเบิกจ่ายได้ 25% นั้น เป็นการขยับเงินที่คาดว่าจะใช้จ่ายในอนาคตมาใช้จ่ายให้ทันในไตรมาสที่ 4 ของปีปฏิทิน แสดงให้เห็น ถึงเจตนาดีของรัฐบาลที่จะสตาร์ตเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า มีผลอย่างมากต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 เพราะขยับการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 10% หรือเพิ่มขึ้นราว 2.5 แสนล้านบาท เม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นในระดับนี้อยู่ในระดับ ที่มากเพียงพอในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากวัด จากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยต่อปีอยู่ที่ราว 12 ล้านล้านบาท การเบิกจ่ายที่เพิ่มขึ้น 2.5 แสนล้านบาท จะมีผลต่อจีดีพีประมาณ 2%

การโยกงบและการใช้จ่ายงบวงเงินสูงระดับนี้คาดว่าเป็นส่วนเพิ่มจากงบลงทุนที่ทั้งปีมีรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ 4.49 แสนล้านบาท ตามแผนที่รัฐบาลระบุ พบว่ารายจ่ายลงทุนที่อยู่ในไตรมาสที่ 1 มีวงเงินรวม 1.49 แสนล้านบาท คิดเป็น 33% ของรายจ่ายลงทุนทั้งปีงบประมาณ 2558 ซึ่งการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนจำเป็นต้องตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและคุณภาพงานให้โปร่งใสและมีคุณภาพ จากนี้ต้องติดตามดูฝีมือการทำงานของข้าราชการว่าจะเบิกจ่ายได้ตามแผนมากน้อยเพียงใด

“ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการต้องการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนอยู่แล้ว แต่ติดกระบวนการต่างๆ ในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งการเร่งเบิกจ่ายอาจทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องเร็วขึ้น จึงต้องจับตาเรื่องคุณภาพงาน”

การกระตุ้นเศรษฐกิจใน 3 เดือนสุดท้ายของปีภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นเรื่องการส่งออกและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวให้ปรับตัวสูงขึ้น ลดข้อกังวลต่างๆ ที่มีผลต่อเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้า เพราะทั้งหมดเป็นปัจจัยให้ภาคเอกชนกล้าลงทุนระยะยาว เมื่อเอกชนลงทุนจะทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้แบบมีเสถียรภาพ

 

ธำรง ปัญญาสกุลวงศ์
นายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย

รัฐบาลควรมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนต่างๆ ออกมา เช่น การลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟทางคู่ เพราะจะช่วยกระตุ้นการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ เพื่อให้เม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เพราะที่ผ่านมาเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่ดีมากนัก ภาคการส่งออกยังชะลอ เนื่องจากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ต้องอาศัยการใช้จ่ายในประเทศเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อธิป พีชานนท์
นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร และกรรมการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน)

สำหรับงบประมาณที่ควรจะมีการเร่งเบิกจ่าย หลักๆ คือ งบประมาณการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ได้มีการอนุมัติแล้ว ซึ่งทางรัฐบาลก็มีการเร่งเบิกจ่ายอยู่ รวมถึงโครงการรถไฟทางคู่ที่จะขยายไปยังต่างจังหวัด 2 เส้นทาง เพราะจะเป็นการเปิดพื้นที่และช่วยสนับสนุนการขยายการลงทุนของภาคเอกชนและภาคอสังหาริมทรัพย์

 

สมภพ มานะรังสรรค์
อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์

การเร่งเบิกจ่ายงบค้างท่อของปี 2557 มีผลต่อเศรษฐกิจในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถคาดหวังว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2557 ได้มากนัก เพราะงบประมาณปี 2557 มีงบ ค้างท่อไม่มาก ขณะที่การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณปี 2558 ที่มีวงเงินงบประมาณที่ 2.575 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไทยที่อยู่ราว 12.5 ล้านล้านบาทนั้น กว่า 75% ของงบประมาณทั้งหมดเป็นงบประมาณประจำที่ใช้เพื่อจ่ายเงินเดือนข้าราชการใช้หนี้สิน ไม่ใช่งบเพื่อการลงทุน และงบประมาณปี 2558 มากกว่างบประมาณปี 2556 เพียง 2% เท่านั้น และอาจไม่ใช่ปัจจัยที่หนุนให้จีดีพีในปี 2557 โตได้มากกว่า 1.5%

“คงคาดหวังเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะงบกว่า 2 ใน 3 เป็นงบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจทางตรง ส่วนใหญ่เพื่อการศึกษา การแพทย์ ความมั่นคง แต่การเร่งใช้งบประมาณถือว่าเป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใกล้มือรัฐบาลมากที่สุด”

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2557 ยังหวังพึ่งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออกได้ยาก เพราะการท่องเที่ยวไทยถือว่าเติบโตไปมากแล้ว ด้านการส่งออกจะยังไม่ดีขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศอินโดนีเซียที่ขณะนี้ติดลบเป็นตัวเลข 2 หลัก มีเพียงการส่งออกไปประเทศมาเลเซีย พม่า ลาว และเวียดนามที่โตดี แต่มีมูลค่าเพียง 10% ของมูลค่าการส่งออกของไทย

 

สุวัฒน์ เชาว์ปรีชา
กรรมการผู้จัดการบริษัท ฤทธา จำกัด

โครงการที่ภาครัฐจะมีการเร่งรัดการเบิกจ่าย คือ โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมและโลจิสติกส์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าสายสีต่างๆ รถไฟทางคู่ รวมถึงการขยายถนน สนามบิน และท่าเรือ รัฐจะต้องมองให้ครอบคลุม รวมถึงจะต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำที่ควรลงทุนล่วงหน้าเพื่อป้องกัน อย่ามองข้ามว่าปีนี้น้ำน้อย ควรเร่งดำเนินการควบคู่กันไป เพราะในอนาคตอาจเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมได้ แม้อาจจะคาดการณ์ไม่ได้ว่า จะเกิดเมื่อไร ปีไหน แต่ไม่ควรปล่อยให้เกิดความเสียหายแล้วมาแก้ไขเพราะมักจะไม่ทันการณ์

 

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา
กรรมการผู้จัดการ กลุ่มจัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง จำกัด (กองทุนบัวหลวง)

จากการที่รัฐบาลให้หน่วยงานราชการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งการประกวดการจัดซื้อจัดจ้างโครงการล่วงหน้า รวมทั้งให้ปลัดทุกกระทรวงเร่งเบิกจ่ายงบประมาณที่ได้รับ คาดว่าส่วนใหญ่น่าจะลงไปในส่วนของภาคคมนาคม การก่อสร้าง ถือเป็นสัญญาณบวกของเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นรายได้ของบริษัทจดทะเบียนไทย โดยกลุ่มที่จะได้รับผลบวก คือกลุ่มธุรกิจอุปโภคบริโภค และกลุ่มผู้รับเหมา เพราะเมื่อเม็ดเงินของภาครัฐลงไปในระบบจะสร้างเงินหมุนเวียนต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะการบริโภค ส่วนการส่งออกปีหน้านั้นคาดว่าน่าจะยังไม่ฟื้นตัวได้เต็มที่

“ที่ผ่านมารัฐบาลกำชับเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกมาตรการทั้งการใช้งบประมาณค้างท่อปี 2557 และงบประมาณประจำปี 2558 และการใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้ ในสัปดาห์หน้ายังมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะมีการพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทย มีผลต่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปี 2558 ที่อาจไปแตะจุดสูงสุดที่ 1,700 จุด”

 

ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เคยคุยนานแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจหลักใหญ่ก็ต้องพยายามที่จะทำให้การเบิกจ่ายคล่องตัวขึ้น เพราะว่างบประมาณจำนวนหนึ่งจะไปใช้ช่วงประมาณปลายปีงบประมาณ แล้วจะไปเร่งกันช่วงนั้น โครงการก็อาจจะเป็นโครงการซึ่งต้องเร่งเพื่อให้ใช้เงินในงบประมาณนั้นให้ทัน ขณะนี้ถ้าเป็นเรื่องของการเร่งรัดการใช้จ่ายภายในเดือนกันยายนนี้ก็ถือว่าเวลาเหลือน้อยมากแล้ว ถ้าเร่งไปก็คงจะไม่มีผลอะไรมาก ช่วงสองสัปดาห์นี้ แต่ถ้าเป็นงบประมาณปีหน้าก็เป็นแนวทางที่ถูกต้องว่าควรจะเร่งการใช้จ่ายตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ใช่รอไปใช้งบประมาณในตอนท้ายๆ ของปีงบประมาณ แล้วในท้ายที่สุดก็จะออกมาในรูปของการจัดสัมมนาพวกนี้ บางทีก็ไม่ได้เป็นโครงการที่น่าดำเนินการ แต่ต้องดำเนินการเพื่อใช้เงินให้หมดๆ ไป ก็จะกลายเป็นโครงการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไป แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายค่อนข้างจะเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่าก็น่าเสียดาย ถ้าหากว่าไปเร่งการใช้จ่ายตอนปลายปีงบประมาณ ควรจะเร่งแต่ต้นๆ

ส่วนใหญ่หน่วยงานราชการจะเป็นแบบนี้ จะจัดสัมมนาจัดประชุมต่างๆ เพื่อใช้เงินให้หมดไป เพราะว่าถ้าใช้น้อยก็จะมีผลในการของบประมาณปีหน้า เพราะสำนักงบประมาณก็จะเอาเกณฑ์นี้มาเป็นเกณฑ์สำคัญในการจัดสรรงบประมาณ แต่เกณฑ์นี้อย่างเดียวก็คงจะไม่ค่อยเหมาะสมเนื่องจากว่าโครงการบางโครงการมีความยากในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง บางโครงการอาจง่าย มีความแตกต่างกัน

เพราะฉะนั้น การพิจารณาโดยหลักใหญ่ก็ต้องกระตุ้นด้วยการเร่งรัดการใช้จ่าย ถูกแล้ว แต่ต้องมีการพยายามให้โครงการที่เร่งรัดนั้นเป็นโครงการที่เหมาะสมด้วย ไม่ใช่เป็นโครงการที่ต้องเปลี่ยนไปแปลงไปเพื่อที่จะใช้งบประมาณให้ผ่านเกณฑ์ของสำนักงบประมาณ

นโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจขณะนี้ เรามีข้อจำกัดอยู่แล้วเนื่องจากว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลได้เอางบประมาณและมาตรการต่างๆ ไปกระตุ้นในช่วงเวลาที่ไม่มีความจำเป็นค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ตัวเลขที่จะต้องไปคุมในเรื่องหนี้สาธารณะ หรือแม้แต่ตัวเลขอัตราดอกเบี้ยที่ทางธนาคารกลางแห่งประเทศไทยจะต้องดูก็ได้รับผล กระทบไปด้วย พูดง่ายๆ คือว่าโดยโครงสร้างการคลังของเรามีการใช้งบประมาณไปมากแล้ว เพราะฉะนั้นการใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจก็ยังมีความสำคัญ แต่ว่าต้องดูความเหมาะสมของ

โครงการเป็นสำคัญด้วย ตรงนั้นจะมีความสำคัญมากกว่าตัวเลขที่จะใช้ ว่าโครงการมีความเหมาะสมหรือไม่จะสำคัญกว่าด้วยซ้ำไป เพราะขณะนี้ใช้งบประมาณมากมาหลายปีแล้ว

ส่วนทางด้านนโยบายการเงินนั้น ถึงแม้ว่ามีความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพของอัตราดอกเบี้ยไม่ให้ต่ำมากเกินไป ไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบมากจนเกินไป ปัจจุบันนี้ก็เริ่มใกล้เคียงค่าที่เป็นบวกมากขึ้นแล้ว แต่สถานการณ์ในอนาคตอาจจะต้องระมัดระวังว่าจะสามารถลดหรือเพิ่มอัตราดอกเบี้ยด้วยวิธีไหนก็ยังเป็นปัญหาอยู่

คิดว่านักการเมือง รัฐบาลหรือคนที่รับผิดชอบเศรษฐกิจโดยภาพใหญ่ก็อยากที่จะให้ตัวเลขเศรษฐกิจดี แนวโน้มที่จะออกมาคือให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทางนโยบายการเงินการคลัง แต่ในส่วนนี้ต้องพิจารณาด้วย เนื่องจากสถานการณ์ในขณะนี้เรามีการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมานานมากพอสมควร ส่วนที่เหลือในเวลาที่เดินได้ต่อไป ก็คงจะเดินด้วยการเน้นคุณภาพ

ภาคการคลังต้องเน้นความเหมาะสมของโครงการเป็นหลักสำคัญ ว่าโครงการนั้นหวังผลได้จริงแค่ไหน แต่ถ้าเอาไปสัมมนาจะหวังผลอะไร ก็แค่เอาเงินย้ายกระเป๋าซ้ายไปกระเป๋าขวาให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น ต้องเป็นทางเลือกที่ดูมากไปกว่านี้ แต่ด้านการเงินสถานการณ์อาจเริ่มเปลี่ยนมากขึ้นในอนาคต เพราะค่าเงินสหรัฐเริ่มเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราฉะนั้น นโยบายการเงินของไทยก็คงมีปัจจัยที่จะต้องดูเพิ่มเติมขึ้นมา

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 กันยายน 2557