ภาษีมรดก คนรวยสะท้าน คนจนไม่สะเทือน

ปี2014-09-04

ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก ที่รัฐบาลประยุทธ์ 1 วางเป้าหมายไว้แล้วว่า จะได้เห็นภาษีที่ลดความเหลื่อมล้ำและลดช่องว่างของคนจนคนรวยให้ลดลงในรัฐบาลนี้ หลังจากกฎหมายภาษีฉบับนี้ถูกทำหมันมาทุกรัฐบาล

ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ระบุว่าขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดก อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั่นหมายถึง กฎหมายนี้ผ่านการร่างรายละเอียดจากกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว แต่กรมสรรพากรยังปิดเรื่องเงียบไม่ยอมเปิดเผยขั้นภาษีที่จะเรียกเก็บโดยมีข่าวรั่วออกมาเป็นระยะว่าจะเก็บภาษีอัตราเดียวคือ หากมีมรดก 50 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะเรียกเก็บภาษีส่วนที่เกินขึ้นมาในอัตรา 10%

สำหรับทรัพย์สินที่เข้าข่ายจะถูกเก็บภาษีมรดกคือภาษีที่ดิน โรงเรือน และสิ่งปลูกสร้าง พันธบัตรใบหุ้น เงินสด เป็นต้น

แม้เรื่องนี้จะไม่มีใครยืนยันแต่โอกาสที่จะเป็นไปได้มีสูงมาก เพราะการออกกฎหมายมรดก รัฐบาลเองก็ไม่มีนโยบายที่จะทำให้คนจนเดือดร้อน

หากเป็นไปตามที่กำหนดขั้นเดียวคือ ได้รับมรดกมูลค่า 50 ล้านบาทขึ้นไป จะถูกเก็บภาษีส่วนเกิน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ประเมินว่า จะมีผู้เข้าข่ายเสียภาษีมรดกเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ

วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ประเทศไทยไม่มีฐานข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีผู้ที่จะโอนมรดก หรือทรัพย์สินเกิน 50 ล้านบาทจำนวนเท่าไร ซึ่งก็คาดว่าน่าจะมีประมาณ 2-3% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งคิดจากฐานการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยื่น ภ.ง.ด. 91 ที่มีผู้เสียภาษีเงินได้เกิน 1 ล้านบาทขึ้นไป มีประมาณ 1% หรือประมาณ 3.3 แสนคน ของผู้เสียภาษีทั้งหมด

“ผมเห็นว่าการที่รัฐบาลจะมีการจัดเก็บภาษีมรดก 50 ล้านบาท ในอัตรา 10% ของมูลค่าสินทรัพย์นั้น เห็นว่าวงเงินมรดก 50 ล้านบาท ที่จะเริ่มต้นจัดเก็บภาษีนั้นสูงเกินไป เห็นว่าควรมีการจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้าไม่ควรจัดเก็บในอัตราเดียว เช่น มรดก 10 ล้านบาท เสียภาษี 0% มรดก 10-40 ล้านบาท เก็บภาษี 10% และ 40 ล้านบาทขึ้นไป เก็บ 20% เป็นต้น” วิโรจน์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ขั้นของการเริ่มเก็บภาษีมรดก ควรเป็นเท่าไรนั้น เป็นหน้าที่กระทรวงการคลังจะต้องไปพิจารณา เพราะเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองเหมือนกัน รวมทั้งอาจจะต้องมีประเด็นระยะการโอนมรดกด้วยว่าโอนให้ตั้งแต่ผู้ให้มรดกมีชีวิตหรือเป็นการได้รับมรดกหลังจากผู้ให้มรดกเสียชีวิตด้วย

วิโรจน์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีมรดกไม่ได้สามารถสร้างรายได้ให้กระทรวงการคลังเป็นกอบเป็นกำมากนัก เพราะอาจจะมีการหลบเลี่ยงการจ่ายภาษีที่ถูกกฎหมายได้ แต่ที่น่าสนใจคือการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งจะเป็นการดึงสินทรัพย์ให้เข้าสู่ระบบและทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้มากกว่า

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีทรัพย์สินก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะลดความเลื่อมล้ำในสังคมได้และจะทำให้มีการกระจายทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงได้

กฎหมายนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจแม้จะไม่มีเงินถุงเงินถังแต่ควรจะต้องรู้ไว้ ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งคนธรรมดาก็จะกลายเป็นเศรษฐีได้ ถ้าเข้าถูกช่องและรวยถูกทาง

แม้ร่างกฎหมายฉบับนี้ จะไม่ได้เป็นกฎหมายเร่งด่วนที่จะต้องรีบพิจารณาของรัฐบาล แต่ก็เป็นกฎหมายที่รัฐบาลจะเสนอ สนช.พิจารณาก่อนจะเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างแน่นอน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 กันยายน 2557