ชมรมวิศวะจุฬาฯ ต้านเปิดสัมปทานปิโตรเลียม ทีดีอาร์ไอเสนอโอนอำนาจกำกับออกจากพลังงาน
นายนพ สัตยาศัย ประธานชมรมวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมปฏิรูปประเทศไทย เปิดเผยว่า ชมรมไม่ต้องการให้รัฐบาลเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งใหม่รอบที่ 21 เนื่องจากรายงานประจำปีของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในปี 2556 ระบุว่า ไทยมีพื้นที่สำรวจซึ่งยังไม่ได้ผลิตและขุดเจาะสูงถึง 9.8 หมื่น ตร.กม. และมีพื้นที่สำรองอีก 1.17 หมื่น ตร.กม. สะท้อนให้เห็นว่ายังมีพื้นที่สัมปทานเดิมให้ขุดเจาะอีกจำนวนมาก ไม่จำเป็นต้องเปิดรอบใหม่
นอกจากนี้ ต้องการสนับสนุนให้ไทยทยอยสำรวจพื้นที่ปิโตรเลียมกันใหม่ทั่วประเทศ เพื่อจะได้ทราบว่ามีแหล่งพลังงานสำรองเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่การวางแผนที่มีประสิทธิภาพ เป็นข้อมูลสนับสนุนให้การประมูลสัมปทานมีความโปร่งใสมากขึ้น ไม่ใช่รอให้ผู้ได้รับสัมปทานรายใหญ่ของไทย เช่น บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต เป็นผู้บอกว่าไทยมีพลังงานเหลือเท่าใด
ขณะเดียวกัน ต้องการให้รัฐบาลไทยปรับระบบการจัดเก็บผลประโยชน์จากระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลประโยชน์ (PSC) แทน เนื่องจากจะทำให้มีรายได้เข้าสู่รัฐมากขึ้น ตรวจสอบได้ง่ายมีความโปร่งใสมากขึ้นด้วย
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐจะต้องรู้ว่ามีสินค้าอยู่เท่าไหร่ เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับผู้สัมปทาน
ปัจจุบันไทยกำลังเผชิญวิกฤตศรัทธาประชาชนไม่เชื่อถือกระทรวงพลังงานทั้งในฐานะผู้กำหนดนโยบาย และผู้กำกับดูแลกิจการ เพราะไม่เคยเปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงราคาพลังงานสูงมาก ขณะที่กระทรวงพลังงานก็ไม่สามารถเข้าไปจัดการดูแลได้โดยอ้างว่าเป็นสัญญาเชิงธุรกิจ จึงทำให้เกิดคำถามว่า แล้วกระทรวงพลังงานจะเป็นหน่วยงานกำกับเพื่ออะไรในเมื่อไม่มีอำนาจกำกับราคาได้
นางเดือนเด่น เสนอว่า ทางแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาคือ ต้องแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมพ.ศ. 2532 และ พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อโอนอำนาจการกับดูแลกิจการพลังงานทั้งหมดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดูแลเหมือนประเทศอื่นที่แยกผู้กำหนดนโยบายกับผู้กำกับออกจากกันชัดเจน
นอกจากนี้ สาระสำคัญที่ต้องแก้ไขคือการเปิดเผยข้อมูลราคาพลังงาน เปิดช่องให้สาธารณชนเข้ามาช่วยตรวจสอบได้ ไม่ใช่ข้าราชการและนักการเมืองพูดคุยกันเองอีกทั้งภาครัฐต้องสลายการผูกขาดพลังงานเปิดให้มีการลงทุนอย่างเสรีมากขึ้น
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 กันยายน 2557