tdri logo
tdri logo
19 กันยายน 2014
Read in Minutes

Views

โพสต์ทูเดย์รายงาน: วิกฤตพลังงานภูมิภาค ไร้ผู้ขาย-มีแต่ผู้ซื้อ

ตะวัน หวังเจริญวงศ์

ความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียนถือเป็นความร่วมมือสำคัญด้านหนึ่งทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและความมั่นคงของภูมิภาค แต่ภายใต้วิถีทางที่เราพยายามจะร่วมมือ ดูเหมือนยังมีอุปสรรคแฝงเร้นอยู่พอสมควรโดยเฉพาะเรื่องความต้องการซื้อที่มากกว่าความต้องการขาย

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกเล่าในงานสัมมนา “จังหวะก้าวพลังงานไทย จังหวะใหม่อาเซียน” ว่าในแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี บลูพรินท์) กล่าวถึงเรื่องพลังงานอยู่ 3-4 ย่อหน้า โดยให้ความสำคัญกับ 4 ประเด็นหลัก

1.การสร้างเครือข่ายด้านพลังงานขายพลังงานระหว่างกันผ่าน Trans ASEAN Gas Pipeline Project หรือ TAGP โดยมีแหล่งก๊าซหลักอยู่ที่ East Natuda Field ของอินโดนีเซีย ดำเนินการทั่วภูมิภาคให้ได้ 1 หมื่นกิโลเมตร ภายในปี 2558 และการทำโครงการระบบสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid : APG) เพิ่มให้ได้ 16 โครงการ ภายในปี 2563

2.การพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนปัจจุบันภาพรวมทั้งอาเซียนมีการใช้พลังงานอยู่กว่า 20% ขณะที่ไทยมีพลังงานทดแทนอยู่ราว 17% ของกว่า 20% ดังกล่าว ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อย และทำให้ทั้งภูมิภาคต้องพัฒนาต่อไป

3.การเปิดให้เอกชนเข้ามาช่วยลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพลังงานกับภาครัฐมากขึ้น และ

4.ความช่วยเหลือด้านพลังงานในภาวะฉุกเฉินให้แต่ละประเทศให้ความช่วยเหลือด้านพลังงานแก่ประเทศในภูมิภาค ในยามที่ประเทศนั้นประสบภัยหรือสงคราม

อย่างไรก็ตาม แม้อาเซียนจะระบุเรื่องดังกล่าวไว้ร่วมกัน แต่ในทางปฏิบัติ เช่น เรื่อง APG ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือกันในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศที่มีพรมแดนติดกันเท่านั้น ไม่ได้เปิดให้ทุกประเทศเข้าไปใช้ได้ โครงสร้างพื้นฐานบางประเทศก็ยังไม่พร้อม นอกจากนี้อาเซียนยังมีปัญหาในเรื่องโครงสร้างอื่นๆ เช่น โครงสร้างราคาพลังงานที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไม่สามารถร่วมมือกันอย่างกลมกลืนได้

“ที่สำคัญการเจรจาทั้งหลายเป็นแนวคิดตั้งแต่ประมาณ 20 ปีมาแล้ว ปัจจุบัน East Natuda Field ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซหลักตามแผนในอดีต ยังมีก๊าซเหลืออยู่หรือไม่ แล้วทุกประเทศตอนนี้ก็ไม่อยากขายพลังงานให้กัน อาเซียนเข้าสู่ยุคที่มีแต่อุปสงค์ไม่มีอุปทาน”

การสร้างความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกัน จึงล่าช้าออกไปเรื่อยๆ เช่น TAGP ปัจจุบันสร้างได้เพียง3,000 กิโลเมตร และเลื่อนแผนออกไปเป็นปี 2573 แทนแล้ว

อาเซียนจึงประสบปัญหาด้านพลังงาน 4 เรื่องประกอบด้วย 1.อุปสงค์-อุปทานไม่สมดุล 2.การเมืองภายในประเทศ ทำให้บางประเทศไม่ต้องการขายพลังงาน 3.ขาดแหล่งพลังงานที่ชัดเจน และ 4.หลายประเทศมีเกาะจำนวนมาก แต่ละเกาะห่างไกลกันทำให้ต้นทุนค่าวางท่อก๊าซค่อนข้างสูง

“หากจะแก้ปัญหาให้อาเซียนต้องทำราคาและกฎระเบียบให้กลมกลืนกัน ลดการแทรกแซงราคาปล่อยราคาเป็นไปตามต้นทุน และต้องเปิดเสรีการลงทุนพลังงานในภูมิภาคให้มากขึ้น สลายการผูกขาดพลังงาน”

ด้าน มนูญ ศิริวรรณ ประธานคณะกรรมการบริษัท การจัดการธุรกิจ และนักวิชาการด้านพลังงานกล่าวว่า ปัจจุบันอาเซียน 8 ใน 10 ประเทศ เปลี่ยนสถานะกลายเป็นผู้นำเข้าน้ำมันอย่างเต็มตัว (Net Importer) ไปแล้ว แม้กระทั่งอินโดนีเซียที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีน้ำมันค่อนข้างมาก ก็กลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันเช่นเดียวกัน เนื่องจากการดำเนินนโยบายราคาที่ผิดพลาด ทำให้ประชาชนใช้น้ำมันกันอย่างฟุ่มเฟือย

ปัจจุบันไทยถือเป็นผู้นำเข้าน้ำมันมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน อย่างไรก็ตาม ประเทศที่นำเข้าน้ำมันมากที่สุด คือสิงคโปร์ เป็นประเทศที่นำเข้าเพื่อส่งออกไปขายอีกทอดหนึ่ง ไม่ได้ใช้เพื่อการบริโภคในประเทศดังนั้นไทยจึงถือเป็นประเทศที่นำเข้ามาเพื่อบริโภคมากที่สุดในอาเซียน

ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่เออีซีมีเรื่องที่ต้องเตรียมความพร้อม 3 เรื่อง 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน2.ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน และ 3.โครงสร้างราคาพลังงาน แม้ปัญหาพลังงานจะมีเรื่องอื่นๆยิบย่อยอีกจำนวนมาก แต่หากแก้ไขทั้ง 3 เรื่องข้างต้นได้ จะแก้ปัญหาพลังงานได้เกือบทั้งหมด

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กันยายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด