tdri logo
tdri logo
23 กันยายน 2014
Read in Minutes

Views

แจกเงินผู้มีรายได้น้อย ตกเบ็ดรีดภาษี?

ยุทธการคืนความสุขให้ประชาชนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งประกาศว่าต้องทำให้สำเร็จกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

นโยบายการจ่ายเงินภาษีให้คนจน (Negative Income Tax : NIT) ซึ่งกระทรวงการคลังศึกษามานานแล้ว แต่ไม่มีรัฐบาลใดกล้านำมาใช้กำลังจะกลายเป็นอีกหนึ่งมาตรการในการคืนความสุขให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย

โครงการนี้กระทรวงการคลังคิดอย่างแยบยลว่าจะยิงนัดเดียวได้นกสองตัว คือ 1.แก้ไขปัญหาความยากจนโดยอัดฉีดเงินไปให้ผู้มีรายได้น้อยโดยตรง 2.ขยายฐานผู้เสียภาษีเงินได้ ซึ่งจะเป็นข้อมูลสำคัญในการจัดเก็บภาษีให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากเมื่อเทียบกับงบประมาณที่จะต้องใช้ปีละประมาณ 5 หมื่นล้านบาท

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายจ่ายภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อยทำเสร็จแล้ว และเตรียมเสนอให้ รมว.คลัง พิจารณาได้ในเร็วๆ นี้
สาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ มีส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

1.การกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งจะต้องเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยและไม่เคยเสียภาษีมากรอกประวัติการทำงาน สถานที่ทำงานและรายได้ที่ได้รับ ซึ่งจะต้องกรอกข้อมูลให้ละเอียดเพื่อจะนำไปสู่ส่วนที่ 2 คือ การตรวจสอบข้อมูล ที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรจะนำเอาข้อมูลที่ประชาชนแจ้งไปตรวจสอบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นจริงหรือเท็จ หลังจากนั้นจึงจะเก็บข้อมูลเข้าไปในระบบเพื่อไปสู่ส่วนที่ 3 คือ การจ่ายเงินภาษีให้ประชาชน

การกำหนดอัตราเงินคืนภาษีและวิธีการสามารถออกเป็นประกาศกระทรวงการคลัง ในเบื้องต้นจะเก็บข้อมูลผู้มีเงินได้ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี มีเงินได้ตั้งแต่บาทแรกก็สามารถเข้าโครงการได้
มีเงินได้ 1 บาท-3 หมื่นบาท/ปี จะได้เงินโอนภาษีจากรัฐ 20% รายได้มากกว่า3 หมื่นบาท/ปีขึ้นไป จะได้รับ 12% ของส่วนที่เกิน 3 หมื่นบาท ไปจนถึงรายได้ 8 หมื่นบาท เกินกว่านั้นจะไม่ได้รับเงินจากรัฐ เพราะถือว่ามีรายได้ที่มากพอยังชีพแล้ว โดยผู้ที่ได้คืนภาษีมากที่สุดคือผู้มีเงินได้ไม่เกินปีละ 3 หมื่นบาท จะได้เงินคืนภาษีประมาณปีละ 6,000 บาท เงินคืนภาษีต่ำสุดที่จะได้รับคือปีละ 2,000 บาท
กระทรวงการคลังคาดว่ามีผู้ที่ได้รับเงินโอนภาษีประมาณ 18 ล้านคน คิดเป็น27.5% ของประชากรทั้งหมด จะสร้างภาระงบประมาณปีละ 5.56 หมื่นล้านบาท

สำหรับการคืนภาษี ทาง สศค.จะต้องหารือกับกรมสรรพากรในรายละเอียดหลังจากกฎหมายผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว

นโยบายดังกล่าว ทาง สศค.ประเมินแล้วว่าคุ้มค่ากับเงินที่จะเสียไป ระยะยาวจะทำให้รัฐมีรายได้มากขึ้น เนื่องจากฐานข้อมูลการเสียภาษีจะมีมากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้อยู่ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 10 ล้านคน และแรงงานที่ไม่อยู่ในระบบภาษี 20 ล้านคน

สำหรับเงื่อนไขที่มีการหารือกันในขณะนี้ หากมีการออกมาตรการจูงใจในการคืนเงินให้กับประชาชนที่เข้าสู่ระบบภาษี จะยึดหลักจากอัตรารายได้ค่าจ้างขั้นต่ำ คูณด้วยรายปี หรือเท่ากับ 300 บาทคูณ 30 วัน คูณ 12 หรือเท่ากับกำหนดขั้นต่ำไม่เกิน 6 หมื่นบาท/ปี และเป็นขั้นบันไดตามรายได้

ปัจจุบันจากการสำรวจของกระทรวงการคลังพบว่า ประชากรไทยที่เข้าสู่วัยทำงานและเป็นคนทำงานจริงๆ มีจำนวนทั้งสิ้น 39 ล้านคน แต่มีการสำแดงภาษีในแต่ละปีแค่ 10 ล้านคน และเสียภาษีจริงแค่ 2 ล้านคน หากดึงคนในวัยทำงานเข้ามา รัฐจะมีฐานภาษีที่กว้างขึ้น ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ฐานของบุคคลผู้เสียภาษีไปออกมาตรการด้านภาษีเพื่อสนับสนุนประสิทธิภาพในการจัดเก็บได้ระยะยาวเช่น ใบกำกับภาษี การกำกับภาษี หรือการสนับสนุนเงินด้านสวัสดิการต่างๆ สำหรับดูแลผู้ด้อยโอกาสในสังคม

ดูเหมือนเสียงต้านโครงการนี้จะน้อยมาก เมื่อรัฐบาลชี้ประเด็นว่า การใช้เงินช่วยคนจนตัวจริง 5.5 หมื่นล้านบาท กับโครงการประชานิยมที่นักการเมืองหว่านออกไปแต่ไปตกถึงมือใครบ้างก็ไม่รู้ อย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าวที่สร้างความเสียหายเป็นภาระต่องบประมาณมากกว่า5 แสนล้านบาท

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่า การแจกเงินเพื่อช่วยคนจนปีละ2,000-6,000 บาท ไม่ใช่ยาวิเศษแก้จนเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาเท่านั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลจะต้องผลักดันให้ประชาชนมีการศึกษา มีความรู้ประชาชนก็จะต้องขยันทำมาหากิน ภาครัฐมีหน้าที่จัดสวัสดิการและลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเท่าเทียมการเข้าถึงโอกาส รวมถึงการจัดด้านสวัสดิการการรักษาพยาบาล ฯลฯ จะเป็นการช่วยคนจนอย่างยั่งยืนกว่า

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 20 กันยายน 2557

นักวิจัย

ดร. สมชัย จิตสุชน
ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง

แชร์บทความนี้

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด