ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์
แม้เวลานี้จะยังไม่มีการประกาศรายชื่อสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อย่างเป็นทางการ แต่พลันที่โผ สปช. ออกมาในส่วนความเชี่ยวชาญ 11 ด้านนั้น หลายคนพากันตั้งคำถามมากมาย อาทิ คนนั้นคนนี้เป็นใคร มาจากไหน แล้วจะปฏิรูปได้สำเร็จหรือ เพราะ สปช.ในแต่ละด้านกลายเป็นเด็กในคาถา คสช. ซึ่งไม่ได้เชี่ยวชาญหรือเป็นตัวจริงเสียงจริงของด้านๆ ต่างเลย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่ม 40 ส.ว. ที่มีบทบาทในการขับไล่ระบอบทักษิณอย่าง ประสาร มฤคพิทักษ์ ไพบูลย์ นิติตะวัน คำนูณ สิทธิสมาน รวมถึง วันชัย สอนศิริ และ เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เข้ามาร่วมกันอย่างคับคั่ง โดยไร้วี่แววฟากเพื่อไทยและเสื้อแดง ส่อแววการไม่ยอมรับการปฏิรูปครั้งนี้สูง
“รู้สึกผิดหวัง เพราะสุดท้ายก็เป็นคนหน้าเดิม และเป็นทีมงานเดียวกับ คสช. ไม่มีอะไรแปลกใหม่ ดังนั้นแนวทางการปฏิรูปที่จะออกมาคงไม่ดี เพราะยังคงยึดติดกับความคิดแบบเดิม ปฏิรูปในมุมที่อีกฝ่ายต้องการ ประเทศชาติและประชาชนคงไม่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ถือเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก นอกจากนี้การปฏิรูปอาจล้าสมัย ปัญหาไม่ได้รับการคลี่คลาย ซ้ำยังอาจเพิ่มปัญหา เหมือนอยู่ในวังวนเดิมๆ ท้ายที่สุดรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ต้องไปแก้ พอแก้กลับมาก็มีการปฏิวัติอีก” สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ กรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย ระบุ
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรต่างก็แสดงความผิดหวังกับการตั้ง สปช.ครั้งนี้ โดย ประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย ซึ่งได้สมัคร สปช.ในกลุ่มของสังคม แต่ไม่มีชื่ออยู่ในโผ ได้แสดงความรู้สึกว่าโผที่ออกมาดูแล้วไม่มีตัวแทนของชาวนาไทยที่เป็นเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศ มีแต่รายชื่อกลุ่มข้าราชการเก่าและพ่อค้าเกือบทั้งหมด จะทำให้ปัญหาเกษตรกรไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เพราะจะถูกนายทุนและข้าราชการเก่ามาคิดแทนอีก
เฉกเช่นเดียวกับ เพิก เลิศวังพง อดีตประธานชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (ชสยท.) กล่าวว่า หากโผชื่อที่ออกมาเป็นจริงก็เท่ากับว่าเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่อยู่ในสายตาของรัฐบาลหรือ คสช. เพราะไม่มีตัวแทนภาคเกษตรที่แท้จริงเข้าไป ซึ่งจะเห็นว่าแม้กระทั่ง 11 กลุ่มก็ไม่มีกลุ่มเกษตรกร มีแต่กลุ่มเศรษฐกิจ ทำให้เกษตรกรไม่มีลู่วิ่งในการปฏิรูปประเทศเลย ต้องไปอาศัยอยู่ในลู่วิ่งของคนอื่น ดังนั้นหากโผจริงยังไม่ออก ก็อยากให้ผู้มีอำนาจพิจารณาตัวแทนเกษตรกรเป็นหลักด้วย
ด้านผู้ประกอบการเกี่ยวกับพลังงาน พงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง ตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มที่จะเข้ามาปฏิรูปพลังงานยังไม่ค่อยมีความหลากหลายที่จะรองรับกับการปฏิรูปพลังงานเท่าที่ควร โดยบุคลากรที่เข้ามาเป็น สปช. ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคน้ำมัน ก๊าซ และการอุดหนุนราคาพลังงาน ในขณะที่ไม่มีบุคคลจากด้านไฟฟ้าเลย ซึ่งเท่าที่ทราบมีบุคคลที่เป็นอดีตผู้ว่าการไฟฟ้าหลายคนที่สมัครเข้าไป แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก
นอกจากนี้ เมื่อมองจากรายชื่อในเบื้องต้น เชื่อว่ามุมมองด้านปฏิรูปพลังงานจะเป็นแนวทางเดิมที่ได้มีการวางไว้แล้ว ยังไม่มีมุมมองใหม่ที่แตกต่างมากนัก ทั้งที่การปฏิรูปพลังงานจะต้องมองในภาพรวมทุกๆ ด้าน จึงจะทำให้เกิดความสมดุล
ปิดท้ายที่ด้านปฏิรูปเศรษฐกิจ ซึ่ง นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) บอกว่า เท่าที่ดูรายชื่อ สปช.สายเศรษฐกิจ ทุกคนมีความรู้ความสามารถ ที่ผ่านมาก็มีผลงานเชิงประจักษ์ แต่ยังขาดในส่วนคนที่เป็นเอสเอ็มอี และน่าจะมีสัดส่วนผู้หญิงมากกว่านี้ รวมทั้งน่าจะมีคนที่มีความคิดที่แตกต่างกัน และสิ่งสำคัญที่ สปช.ชุดเศรษฐกิจจะต้องทำ คือ การจัดลำดับความสำคัญการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม “นิพนธ์” กล่าวว่า การปฏิรูปเศรษฐกิจบางเรื่องก็สามารถที่จะทำได้เลย บางเรื่องจะต้องใช้ระยะเวลานาน และ สปช.ชุดนี้มีเวลาเพียง 1 ปีเศษ อาจจะทำไม่ได้สำเร็จ ดังนั้นจะต้องมีการวางแผนกติกาที่จะผลักดันให้รัฐบาลชุดใหม่มาสานต่อให้ได้ ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาลใหม่สิ่งที่ทำมาดีๆ ก็ไม่มีการทำต่อ
“ขณะนี้ยังไม่อยากคอมเมนต์ ขอดูกึ๋นของ สปช.เศรษฐกิจชุดนี้ก่อนว่าจะมีการจัดลำดับความสำคัญปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง อย่างเช่นที่ผ่านมารัฐบาลเตรียมที่จะปฏิรูปภาษี มีการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดิน ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน มีความขัดแย้งกัน ดังนั้นการออกมาตรการอะไรเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก ที่จะทำให้ลดความขัดแย้งและลดความเหลื่อมล้ำเป็นธรรมทุกฝ่าย”นิพนธ์ ระบุ
สุขภาพ-ปกครองท้องถิ่น เครือข่ายประเวศ-กปปส.ยึด
สำหรับบุคคลที่เป็น สปช.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม จำนวน 15 รายนั้น ชัดเจนว่ามีความเชื่อมโยงกับเครือข่าย นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และกลุ่ม กปปส. ไม่น้อยกว่า 5 ราย อาทิ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา ที่ปรึกษา นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข เป็นหนึ่งในทีมยุทธศาสตร์ สธ. และมีบทบาทในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะทำงานให้กับทั้ง รมว.สาธารณสุข และ รมช.สาธารณสุข
นพ.สุวัฒน์ วิริยพงษ์สุกิจ อดีตเลขานุการชมรมแพทย์ชนบทปี 2538-2540 และยังเป็นแกนนำการเคลื่อนไหวของชมรมในปัจจุบัน รวมถึง สุภัทรา นาคะผิว โฆษกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายภาคประชาชนด้านสุขภาพ ที่มักเคลื่อนไหวสอดรับกับชมรมแพทย์ชนบท และองค์กรตระกูล ส. มาโดยตลอด
นอกจากนี้ ยังมีบุคคลซึ่งเคยขึ้นเวที กปปส.ในการเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำมาซึ่งการรัฐประหาร ไม่ว่าจะเป็น ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (นพ.ณรงค์ศักดิ์ และ นพ.สุวัฒน์ ก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.) ขณะที่บิ๊กทหารเข้ามาเพียง 2 คน ได้แก่ น.อ.ไพศาล จันทรพิทักษ์ และ พล.ร.อ.ชาญชัย เจริญสุวรรณ
ส่วนรายชื่อ สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่นมี 2 ราย ที่จุดยืนทางการเมืองชัดเจนและเคยขึ้นเวที กปปส. ได้แก่ พงศ์โพยม วาศภูติ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย และจรัส สุวรรณมาลา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการอีกหนึ่งรายคือ วุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ในยุคที่ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นเลขาธิการ
ขณะที่ สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นอีกคนที่เชื่อมโยงกับ นพ.ประเวศ อย่างแนบแน่น เนื่องจากเป็นภรรยาของ นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และอดีตผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทั้งหมดฉายภาพถึงการปฏิรูปในอนาคตอันใกล้ ที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการ “ผูกขาดวิธีคิด” และกลายเป็น “ปฏิรวบ” ในท้ายที่สุด
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 กันยายน 2557