ทีดีอาร์ไอชี้เกษตรกรไทยยังติดกับประชานิยม
แม้จะรู้ว่ามีการทุจริตแต่ผลประโยชน์บังตา แนะรัฐเลิกให้เงินชดเชยหันมาสนับสนุนกิจกรรมของชาวนาและเอกชนแทน ห่วงอีก 10 ปีข้างหน้าคนเลิกทำนาไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน
เหตุคนหนุ่มสาวเมินได้เงินน้อย เสนอทางออกทางรอดในอนาคตต้องรวมแปลงนาทำนาแปลงใหญ่ลดต้นทุน รวมกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพดี และทำประกันภัยความเสี่ยง
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงทิศทางและมิติใหม่ของการพัฒนาข้าวและชาวนาไทยว่า ทุกวันนี้ชาวนาไทยยังติดกับดักประชานิยม เพราะเกษตรกรยังต้องการจะได้ราคาข้าวที่สูง หรือได้เงินชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งทำให้รัฐบาลต้องหางบประมาณมาจ่ายให้มหาศาล ดังนั้นรัฐบาลใหม่ควรวางกฎกติกาการใช้เงินต้องสนับสนุนให้เกษตรกรมีการปรับตัว และมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเกษตร ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถสู้กับประเทศคู่แข่งได้เลย
ทั้งนี้สิ่งที่จะทำให้ชาวนาหลุดพ้นจากกับดักประชานิยมที่นักการเมืองนำมาฝังหัวเกษตรกรมานาน คือการใช้ระบบตลาดให้เป็นกลไกที่ทำให้ภาคเกษตรประสบความสำเร็จ เพราะทุกวันนี้ประเทศคู่แข่งต่างหันมาใช้ระบบตลาดเช่นกัน รวมถึงการให้ชาวนาและพ่อค้าเป็นผู้นำการพัฒนาแทนที่จะให้รัฐบาลเป็นผู้นำ แต่ให้รัฐบาลเป็นเพียงผู้ให้การช่วยเหลือสนับสนุนการปรับตัวของชาวนาและพ่อค้า
“รัฐบาลควรทำกิจกรรมที่ชาวนาและภาคเอกชนไม่มีปัญญาทำหรือไม่มีแรงจูงใจ และการลงทุนวิจัยต่างๆ จะต้องเปลี่ยนวิธีการจัดการใหม่เป็นการวิจัยผู้มีส่วนได้เสียและมีส่วนรับผิดชอบและตัดสินใจด้วย รวมถึงออกกฎหมายที่จำเป็นเพื่อจำกัดขอบเขตของฝ่ายต่างๆ เห็นได้จากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่าการผลิตข้าว 5 ฤดูในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา มีการใช้เงินซื้อข้าวถึง 8.57 แสนล้านบาท หากรวมกับงบดำเนินการและค่าจ้างสีข้าว ค่าเช่าโกดัง รวมแล้ว 9.85 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลขาดทุนไปแล้ว 5.2 แสนล้านบาท มีการทุจริตในการระบายข้าว 0.8-1.1 แสนล้านบาท แต่ชาวนาก็ไม่รู้สึกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ส่งผลเสียกับระบบเศรษฐกิจ เพราะชาวนามองว่าประชานิยมแล้วได้ประโยชน์”
ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่าสิ่งที่น่าเป็นห่วงในปัจจุบันนี้คือ ชาวนาไทยแก่ตัวเร็วกว่า 32% ที่เป็นหัวหน้าครอบครัวอายุเกิน 60 ปี และส่วนใหญ่ไม่มีประกันสังคม ขณะที่คนรุ่นใหม่อาจจะไม่สนใจที่จะเข้าสู่อาชีพเกษตรกรรมซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีชาวนาเลิกทำนากว่า 5 ล้านคน โดยกลุ่มชาวนาที่ยากจนซึ่งมีประมาณ 1-1.3 ล้านครัวเรือน ในจำนวนสัดส่วน 30% ยากจนที่สุด กลุ่มนี้มีโอกาสย้ายไปทำอาชีพอื่นที่มีรายได้ดีกว่า ดังนั้นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลต้องจูงใจให้คนเข้ามาทำนามากขึ้นโดยใช้การตลาดนำมากกว่าการหว่านนโยบายประชานิยมเพราะสิ่งที่ชาวนาต้องการคือขายข้าวได้ในราคาที่สูง แต่หากรัฐบาลต้องการยกระดับชาวนาและยังคงประชานิยมจะต้องเป็นประชานิยมแบบรับผิดชอบ
ทั้งนี้การที่ชาวนารายเล็ก กลาง และยากจนได้ผลผลิตที่ต่ำขาดทุนเพราะต้นทุนที่สูงขึ้นและได้ได้ดูแลเอาใจใส่นา ในอนาคตคนรุ่นลูกน่าจะขายที่นาทิ้งเพื่อหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ดังนั้นทางออกคือการรวมแปลงนา เพื่อลดต้นทุนและแก้ปัญหาเรื่องการขาดน้ำในการเพาะปลูก ซึ่งจะคล้ายๆกับที่โรงงานอ้อยช่วยชาวไร่อ้อยรายเล็ก จัดการแปลงนาใหม่ และทางออกที่ 2 คือการรวมกลุ่มผลิตข้าวคุณภาพดี
ส่วนกรณีที่ราคาข้าวตกต่ำมากหรือผลผลิตเสียหายอย่างรุนแรง เช่น การประกันภัยความเสี่ยงเพื่อไม่ให้ขาดทุนหนักแต่ต้องไม่ใช้นโยบายอุดหนุนให้มีกำไรเพิ่ม เพราะไม่เช่นนั้นชาวนาจะไม่ปรับตัว และการชดเชยความเสี่ยงราคา ทั้งชาวนาและรัฐบาลต้องร่วมกันรับภาระความเสี่ยง โดยรัฐรับความเสี่ยง 50-60% ของความเสี่ยงและต้องจำกัดการชดเชยเพียง 10-15 ตันต่อปีเท่านั้น
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 21-24 กันยายน 2557