ทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย

ปี2014-09-12

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย


วงเสวนา “ยุทธศาสตร์ และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย” ระบุ เรื่องน้ำไม่สามารถหาข้อยุติหรือสรุปเป็นแผนแม่บทออกมาได้ในระยะเวลาอันสั้น แนะควรตั้ง Water boards เพื่อดำเนินการโครงการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ และไม่ควรเร่งรัดสรุปแผนบริหารจัดการน้ำ


เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้จัดการสัมมนาเรื่อง”ยุทธศาสตร์และทิศทางการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิชาการด้านการจัดการน้ำได้ร่วมกันอภิปราย โดย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ กล่าวตอนหนึ่งว่า ปัญหาการบริหารจัดการน้ำเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ดังนั้นการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องคำนึงถึงและพิจารณาการบริหารจัดการน้ำอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโครงการดังกล่าว

ซึ่งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ให้ดำเนินการการจัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ต.ค.นี้ อาจไม่สำเร็จ เนื่องจากโครงการน้ำไม่สามารถหาข้อยุติหรือสรุปเป็นแผนแม่บทออกมาได้ภายในระยะเวลาอันสั้น  แต่ควรใช้สภาปฏิรูปหรือสมัชชาปฏิรูป เดินหน้าจัดเวทีเสวนา(Deliberative) เพื่อรับฟังความเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกลุ่มน้ำ โดยหน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องนำข้อเสนอและโครงการทางเลือกให้แก่ประชาชน เพราะหากประชาชนเข้าใจถึงผลกระทบและความเสี่ยง ประชาชนจะมีชุดข้อมูลตัดสินใจก่อนจะนำไปสู่ทางออกและรูปแบบการจัดการที่เหมาะสม ซึ่งจะทำให้ช่วยลดแรงต่อต้านลงไปด้วย

นอกจากนี้ คสช.ยังต้องศึกษารายละเอียดและผลกระทบให้แน่ชัดทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจด้วย ซึ่งพบว่าการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่ผ่านมายังไม่มีหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมหรือเป็นหลักปฏิบัติอย่างชัดเจน แต่จะเน้นผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก รวมทั้งไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งกรณีดังกล่าวรัฐควรเพิ่มทางเลือกให้ทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ เช่น รัฐอาจจะต้องเก็บภาษีจากผู้ที่ได้ประโยชน์ไปจ่ายค่าชดเชยให้กับผู้เสียผลประโยชน์ ตลอดจนออกกฎหมายรองรับการบริหารจัดการน้ำตามแผนแม่บท หรือยุทธศาสตร์น้ำของประเทศ ด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ(Water boards) เพื่อดำเนินการโครงการบริหารจัดการน้ำมูลค่า 3 แสนล้านบาท ที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่า คสช.ยังมีเวลาอย่างน้อย 1 ปี ในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้การดูแลบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพ คุ้มค่าและได้รับการยอมรับจากประชาชน

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ ยังเห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีน้ำในอนาคต โดยระบุว่า ควรเปิดเวทีให้มีการหารือกันในเรื่องนี้ ซึ่งภาษีที่เก็บได้จะนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการลงทุนพัฒนาโครงการหรือช่วยเหลือประชาชนในบางพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการหรือโครงการใดที่จะเป็นการป้องกันเขตเศรษฐกิจ หรือพื้นที่ กทม.และปริมณฑลแต่ไม่ควรสูงเกินไปจนกระทบต่อราคาสินค้า

สอดคล้องกับ ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เห็นด้วยกับการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ โดยทำงานในรูปแบบซุปเปอร์บอร์ดของรัฐวิสาหกิจซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการน้ำของประเทศมีทิศทางที่ชัดเจน สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.บริหารจัดการน้ำ เพื่อขับเคลื่อนหรือรองรับการกำหนดนโยบายด้านน้ำและที่ดินให้สอดคล้องกัน โดยให้มีอำนาจอนุมัติโครงการลงทุนด้านการบริหารจัดการน้ำการจัดวางผังเมือง และการกำหนดพื้นที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่กีดขวางทางน้ำ เนื่องจากในช่วงอุทกภัยปลายปี 2554 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่มีการบริหารจัดการน้ำที่มีระบบ รวมทั้งยังไม่มีการจัดวางผังเมืองอาคารสิ่งปลูกสร้างและถนน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการระบายน้ำที่ชัดเจน

ขณะที่ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในชนบท ภาครัฐสามารถเข้าถึงชนบทได้มากขึ้น โดยในปัจจุบันมีถึง 70,000 หมู่บ้านที่มีน้ำใช้ทั่วถึง เหลือเพียง 2,000 หมู่บ้านที่ยังรอความช่วยเหลือ แต่ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำยังมีจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงโดยเฉพาะการขาดระบบดูแลด้านภัยพิบัติและการจัดการน้ำเพื่ออนาคต ทำให้มีความเสี่ยงทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้ง โดยเฉพาะภาคกลางและภาคตะวันออก นอกจากนี้ยังขาดหน่วยงานที่จะรวบรวมแผนการบริหารจัดการน้ำที่เป็นภาพรวมของประเทศ ทำให้การนำเสนอโครงการต่างๆ เป็นลักษณะคล้ายขนมชั้น นั่นคือ ต่างคนต่างเสนอโครงการของตัวเอง แต่ไม่สามารถบริหารจัดการหรือประสานงานให้เป็นโครงการเดียวกันได้

ขณะที่ ดร.สุทัศน์ วีสกุล นักวิชาการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร(สสนก.)สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย(เอไอที) กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรตั้งแผนและกำหนดโครงการก่อน จึงจะกำหนดงบประมาณในการดำเนินการได้ ซึ่งแผนแม่บทเรื่องการพัฒนาและบริหารน้ำของประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้น ควรจะพิจารณาปัญหาน้ำแล้งและน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยและลุ่มน้ำหลักควบคู่กันไป เพราะหากทำสมดุลน้ำ(Water Balance) รายเดือน จะพบว่า มีปริมาณน้ำขาดหรือเกินเท่าไหร่ การบริหารจัดการเป็นอย่างไร จึงจะสามารถกำหนดวิธีการและยุทธศาสตร์ในการแก้ปัญหาในเรื่องน้ำได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องใหญ่ที่มีความสำคัญต่อทุกฝ่าย ซึ่งส่วนตัวมองว่าการที่ คสช.กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งแผนโครงการบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านบาทภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ เป็นเรื่องที่เร็วจนเกินไป ควรให้เวลาหน่วยงานต่างๆ สักระยะ เพราะหวั่นเกรงว่าหากเร่งรีบปัญหาน้ำที่เกิดขึ้นจะซ้ำรอยเดิม และอาจรุนแรงมากขึ้น พร้อมเสนอว่า คสช.ควรใช้เวลาในการศึกษาและรับฟังความเห็นให้รอบด้าน ก่อนตัดสินใจดำเนินโครงการ โดยจะต้องพิจารณาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้วย เพราะมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตไทยอาจจะต้องผันน้ำมาจากต่างประเทศ ดังนั้นยุทธศาสตร์ที่ตั้งขึ้นต้องมีการทำงานเชิงรุกที่มุ่งเน้นการสร้างภูมิคุ้มกัน การปรับตัวและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องประเมินความเสี่ยงก่อนที่จะจัดทำแผนให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงความเหมาะสมในด้านทรัพยากรด้วย.///