tdri logo
tdri logo
7 ตุลาคม 2014
Read in Minutes

Views

เดลินิวส์รายงาน: แนะใช้ CLM ฐานผลิตของไทย-อินโดฯ

ชี้ช่องอุตสาหกรรมหลัก รถยนต์ สิ่งทอ มีคลัสเตอร์ใน CLM บริหารจากไทย แนะให้เร่งทำวิจัยและพัฒนา

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เปิดเผยผลการศึกษาอนาคตอุตสาหกรรมไทยหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยพบว่า แม้ยังไม่ถึงเวลากำหนดตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีในเขต 10 ประเทศอาเซียนในปี 2558 แต่พบว่า การรวมกลุ่มเศรษฐกิจในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นแล้วแม้ว่าการปรับปรุงกฎระเบียบและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังตามไม่ทัน

การศึกษาพบว่า นักลงทุนหลายชาติเข้ามาลงทุนในอาเซียนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เทียบกับปี 2547 โดยในประเทศไทย นักลงทุนจากญี่ปุ่น ลงทุน 5,816 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 2,749 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, จากสหภาพยุโรป เพิ่มเป็น 1,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 706 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, จากจีน 569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 0 และจากไต้หวัน 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 125 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับกลุ่มประเทศกัมพูชา เมียนมาร์ ญี่ปุ่นลงทุนเพิ่มเป็น 1,939 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ไต้หวัน 1,536 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์ 1,310 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, จีน 1,084 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เกาหลีใต้ 860 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทย 167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การศึกษากล่าวถึงประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีการลงทุนในภูมิภาคนี้จำนวนมาก ปรับยุทธศาสตร์ ประเทศไทย+1 (THAILAND+1) ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปประเทศกัมพูชาและลาว ได้แก่ ชุดสายไฟ ผ้าคลุมเบาะ และกรอบโทรทัศน์ ด้วยแรงจูงใจสำคัญที่ค่าจ้างแรงงานและใกล้กับฐานการผลิตและส่งออกของไทย โดยการขนส่งทางถนน

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ขณะนี้ประเทศอินโดนีเซียมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตรถ (โลว์คอสกรีนคาร์) เพิ่มประมาณ 1 แสนคันต่อปี ส่วนไทยมีโครงการอีโคคาร์ 2 เพิ่มกำลังผลิตอีก 1.5 ล้านคัน โดยแหล่งผลิตรถทั้ง 2 ประเทศ จะมอบให้ประเทศกัมพูชาเป็นคลัสเตอร์ รับจ้างผลิตชิ้นส่วน โดยนำวัตถุดิบจากต้นทางไปผลิตแล้วส่งกลับ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ไม่มีแผนจะไปตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในกัมพูชา เพราะปัญหาด้านแรงงานมีอีกมาก

ส่วนอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งบางส่วนย้ายโรงงานไปยังประเทศข้างเคียง แต่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการได้จำแนกว่า ถ้าเป็นผู้ผลิตสินค้าปริมาณมาก ช่วงเวลาการผลิตช้า ราคาถูก จะไปผลิตประเทศข้างเคียง หากเป็นสินค้าที่ผลิตยาก ต้องการความเร็ว ราคาสูงจะผลิตในประเทศไทย

หากเป็นกลุ่มใช้เทคโนโลยี เช่น ชุดนอน ชั้นในสตรี เสื้อผ้าเด็ก บางประเภทผลิตในประเทศข้างเคียง ยกเว้นสินค้าพรีเมียม หรือคุณภาพสูงจะผลิตในไทย ส่วนสินค้าที่ไม่ซับซ้อน เช่น เสื้อโปโล เสื้อคอกลม จะผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน

สภาพความเป็นไปดังกล่าว ทีดีอาร์ไอมีข้อสรุปว่า อุตสาหกรรมหลักดังกล่าวต้องขยายฐานการมองและการตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและที่ไกลออกไป ในระยะยาวให้พัฒนาตัวเองเป็นประเทศผู้ค้า เน้นกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่าสินค้า ด้วยการวิจัยและพัฒนา การออกแบบ และการตลาด โดยต้องมีความสามารถในการบริหารเครือข่ายการผลิต โลจิสติกส์ และการตลาด

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 8 ตุลาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด