tdri logo
tdri logo
17 ตุลาคม 2014
Read in Minutes

Views

ปฏิรูปประเทศไทย…จากเศรษฐกิจสู่จิตวิญญาณ จากคุณภาพสู่ความยั่งยืน

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

DSC04852

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) และ Eisenhower Fellowships ได้จัดงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย: ปฏิรูปอะไรและอย่างไร?” โดยวงเสวนามีการนำเสนอประเด็นการปฏิรูปในด้านต่างๆ ได้แก่ การปฏิรูปเศรษฐกิจ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐ และการปฏิรูปวิธีคิดและจิตวิญญาณ

DSC04796
ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ (Eisenhower Fellow 2013)

ในด้านการปฏิรูปเศรษฐกิจ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ (Eisenhower Fellow 2013) กล่าวว่า การทำให้คนไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน คือหัวใจสำคัญของการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ซึ่งควรมีแนวทางปฏิรูป 5 ข้อ ได้แก่ 1. การให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ เนื่องจากประชากรไทยวัยทำงานมีจำนวนจำกัด และมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างต่ำ แต่มีผู้สูงอายุมากขึ้น ประชากรวัยทำงานจึงต้องทำงานอย่างมีคุณภาพมากขึ้น 2. ต้องส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนให้เท่าเทียมกัน 3. ลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม ซึ่งเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย 4. สร้างภูมิคุ้มกันในระบบเศรษฐกิจไทย หลังจากพบว่าไทยต้องเผชิญความผันผวนในภาคการเงินมากขึ้น โดยเฉพาะจากการที่สหรัฐฯ ยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) การเผชิญกับภัยธรรมชาติ และราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงกำลังซื้อของคนไทย จนทำให้หนี้ครัวเรือนภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้น 5. การทำงานแบบประสานความร่วมมือกันทุกฝ่าย โดยแต่ละหน่วยงานต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศ

DSC04807
นายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (Eisenhower Fellow 2000)

ทางด้านนายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ  (Eisenhower Fellow 2000) ระบุว่า ควรปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้กำหนดนโยบายในองค์กรรัฐวิสาหกิจ ภายใต้แนวคิดที่ว่า รัฐวิสาหกิจเป็นของคนทั้งประเทศ จึงต้องดำเนินนโยบายเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยมีองค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระ เนื่องจากในปัจจุบัน รัฐวิสาหกิจยังอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในสังกัดกระทรวงการคลัง และการกำหนดนโยบายหรือการสั่งการยังต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้ไม่มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง อีกทั้งควรมี Key Performance Indicator (KPI) ขององค์กร เพื่อชี้วัดคุณภาพของรัฐวิสาหกิจ โดยเปิดเผยผลการชี้วัดต่อประชาชนอย่างโปร่งใส

DSC04820
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (Eisenhower Fellow 2007)

สอดคล้องกับนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (Eisenhower Fellow 2007) ที่เชื่อว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปสะดุดก็คือ “อำนาจนิยมอุปถัมภ์และทุนนิยมอภิสิทธิ์” หากกำจัดสองอย่างนี้ได้ จะทำให้การปฏิรูปสังคมไทยในทุกภาคส่วนคืบหน้าไปได้พอสมควร ซึ่งการปฏิรูปสื่อจำเป็นต้องปฏิรูปในส่วนของโครงสร้าง ด้วยการเปิดพื้นที่ให้สื่อแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับการทำงานของสื่อ ทั้งนี้ ทีวีดิจิตอลนับเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพราะไม่สามารถยึดคลื่นความถี่เดิมได้ จึงจำเป็นที่ต้องสร้างคลื่นใหม่ เพื่อสร้างตัวเลือกให้ประชาชน และเนื้อหาที่สำคัญอีกประการในการปฏิรูปสื่อ ก็คือจริยธรรม-จรรยาบรรณของสื่อ โดยต้องเพิ่มความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้องแก่สาธารณชน เพราะสื่อทำหน้าที่แทนประชาชน

DSC04835
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(Eisenhower Fellow 2002)

ส่วน ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(Eisenhower Fellow 2002) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีนักวิชาการอยากมีส่วนช่วยปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เกิดความยั่งยืนมากที่สุด และโดยส่วนตัวคิดว่าหากไม่ทำตอนนี้ก็อาจไม่มีโอกาสปฏิรูปอีกเลย ซึ่งการปฏิรูปการศึกษานั้นควรเปลี่ยนระบบบริหารการจัดการทั้งหมด โดยต้องทำ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. แบ่งงบประมาณลงไปพัฒนาระดับจังหวัดมากขึ้น โดยให้ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่บริหารจัดการเอง ไม่ใช่ให้คนวางแผนคิดแทนคนปฏิบัติ 2. จัดตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปโดยตรง เนื่องจากการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในระยะยาว 3. ปฏิรูปครูและหลักสูตรครุศาสตร์-ศิลปศาสตร์ พร้อมกับแสวงหาครูที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ต้องอาศัยพลังจากสื่อ โดยการรณรงค์ให้คนไทยมีความรู้สึกเป็นเจ้าของการศึกษา และการศึกษาที่ดีไม่ใช่แค่การเรียนต่อหรือการมีงานทำ แต่ต้องเป็นการศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจ ซึ่งจะทำให้สังคมมีความสงบสุข

DSC04841
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ (Eisenhower Fellow 2008)

ขณะที่ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ (Eisenhower Fellow 2008) ยอมรับว่ารู้สึกกังวลกับเรื่องนโยบายประชานิยม หากคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรตีโจทย์ผิด ด้วยการวางกลไกทางกฎหมายเพื่อสกัดกั้นไม่ให้นโยบายประชานิยมเกิดขึ้น โดยคาดว่าหากดำเนินการในลักษณะนั้นจะทำให้เกิดผลกระทบตามมา เพราะการที่รัฐธรรมนูญบังคับไม่ให้รัฐบาลมีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็เท่ากับเป็นการจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และจะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองเกิดขึ้นได้

โดย ดร.สมเกียรติเสนอทางออกว่าควรเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภา ควบคู่กับการสร้างกฎกติกาต่างๆ นั่นคือ 1. ควรแก้กฎหมายเลือกตั้ง โดยกำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งต้นทุนของนโยบายที่หาเสียง 2. ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็น “ธรรมนูญการคลัง” โดยกำหนดให้การจ่ายเงินแผ่นดินต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ 3. ควรมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่กำหนดกรอบวินัยทางการคลัง 4. ควรจัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา เพื่อเป็นหน่วยวิเคราะห์งบประมาณและการคลังของรัฐสภาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

DSC04849
นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (Eisenhower Fellow 1994)

ด้าน นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (Eisenhower Fellow 1994) กล่าวถึงการปฏิรูปด้านวิธีคิดและจิตวิญญาณว่า ในส่วนของการปฏิรูป มีหลัก 2 ประการคือ 1. ระบบวิธีคิดและการศึกษา ซึ่งสมควรรื้อใหม่หมด เนื่องจากการศึกษาในปัจจุบันเน้นสอนเรื่องวิชาชีพ แต่กลับละทิ้งเรื่องคุณค่าของชีวิต 2. ระบบศีลธรรม-จริยธรรม ซึ่งทุกศาสนามีคำสอนในด้านการใช้ชีวิต ดังนั้น การปฏิรูปควรอยู่บนฐานของคำว่า “ธรรมนิยม” และใช้ “ธรรมะ” ของทุกๆ ศาสนาเป็นรากฐานของการปฏิรูปในทุกๆ ด้าน

DSC04790

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด