ส่องมาตรการแจกเงินอุ้มชาวนา

ปี2014-10-03

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสแรก 3.6 แสนล้านบาทที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ปล่อยออกมาล่าสุดได้รับเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง

โดยเฉพาะการโปรยงบ 4 หมื่นล้านบาทอุ้มชาวนาที่มีรายได้น้อย ด้วยการจ่ายเงินให้ไร่ละ 1 พันบาท สูงสุดรายละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่ง โดยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าวิธีดังกล่าวแทบไม่ต่างอะไรจากประชานิยม

มุมมองของผู้ได้รับผลประโยชน์และนักวิชาการที่ศึกษาเรื่องนี้เป็นอย่างไร เห็นด้วย-เห็นต่างมากน้อยแค่ไหน แต่ละคนให้เหตุผลและ ข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

 

วิเชียร พวงลำเจียก
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

รับได้กับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลที่จ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินคนละ 15 ไร่ หรือรายละไม่เกิน 15,000 บาท โดยเฉพาะชาวนารายย่อยที่มีที่ดินไม่เกิน 20 ไร่

เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถ บรรเทาปัญหาของชาวนาได้ระดับหนึ่ง เงินอุดหนุนไร่ละพันบาทที่ได้รับ จะถูกนำไปใช้จ่ายในครัวเรือน และลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวสำหรับฤดูกาลผลิตต่อไป แต่เงินจำนวน ดังกล่าว ชาวนาคงไม่สามารถนำไปจ่ายหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เพียงพอ

ขณะเดียวกัน ชาวนาที่มีที่ทำกินตั้งแต่ 30 ไร่ขึ้นไป อาจประสบปัญหาอยู่บ้าง เพราะต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีมากกว่ารายย่อย

อย่างเจ้าของนา 40 ไร่ ต้องใช้พันธุ์ข้าวเป็นจำนวน 1 ตัน ตันละ 22,000 บาท เท่ากับว่ายังต้องหาต้นทุนส่วนนี้อีก 7,000 บาท

เป็นไปได้อยากให้รัฐบาลเพิ่มมาตรการการช่วยเหลืออย่างน้อยให้เทียบเท่ากับฤดูกาล 2553/2554 ที่ประสบมหาอุทกภัย ซึ่งรัฐบาลขณะนั้นให้เงินอุดหนุน อยู่ที่ไร่ละ 2,222 บาท จำกัดจำนวน

ส่วนในระยะยาว มาตรการเพียงเท่านี้คงไม่เพียงพอ เนื่องจากชาวนามีต้นทุนสูง ไม่ว่าค่าปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะน้ำมัน ที่ต้องใช้หลายขั้นตอน ไม่ว่าจะไถ หว่าน วิดน้ำเข้านา เนื่องจากบางพื้นที่ไม่อาจใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำธรรมชาติได้ จึงต้องวิดน้ำเข้านา บางแห่งต้องวิดน้ำ 3 ทอด และ 7 วันก็ต้องทำอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการตามที่เคยหารือกันไว้ว่า จะช่วยควบคุมราคาต้นทุนการผลิตในทุกๆ ด้าน เพื่อให้ชาวนามีต้นทุนลดลง

รวมถึงช่วยเหลือเรื่องการงดเว้นดอกเบี้ยชาวนาของธ.ก.ส. สำหรับเงินกู้ที่นำไปใช้เป็นทุนปลูกข้าวของแต่ละฤดูกาลอีกด้วย

 

อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง

เป็นนโยบายประชานิยมอย่างเห็นได้ชัด เพราะแก้ไขปัญหาระยะสั้นและเฉพาะหน้าเท่านั้น ยังไม่ช่วยแก้ปัญหาเรื่องข้าวได้ทั้งระบบ

การดำเนินการตามนโยบายนี้คงทำได้แค่ชั่วคราว แต่เชื่อว่าพอมีรัฐบาลใหม่นโยบายนี้อาจจะถูกยกเลิก

ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องข้าวมีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วและรัฐบาลก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันราคาข้าวหรือโครงการรับจำนำข้าว เห็นได้ชัดว่าทำอย่างไรรัฐก็ต้องขาดทุน

รวมทั้งการจ่ายเงินให้ชาวหน้าไร่ละ 1 พันบาทเองก็ตาม ยังไม่ใช่การแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เพราะคงไม่ทำให้ชาวนาสามารถตั้งตัวได้ มันไม่ใช่นโยบายที่ต่อเนื่องยั่งยืน

ข้อเท็จจริง การตลาดในเรื่องข้าวของประเทศไทยสามารถสร้างกำไรและสร้างรายได้ให้ชาวนาได้ หากตัวกลางไม่โกงกันมากนัก ทางที่ดีประเด็นนี้ควรต้องทบทวนใหม่ทั้งระบบ ทำไมไม่เอา งบประมาณส่วนนี้ไปตั้งโรงสี โดยให้เกษตรกรชาวนาเป็นผู้บริหารจัดการดูแลกันเอง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง

ที่ผ่านมาประเทศไทยมักสอบตก เกี่ยวกับการบริหารจัดการ นโยบายไม่มีความเป็นเสถียรภาพ เปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็เปลี่ยนนโยบายใหม่ แต่ต่างก็เป็นนโยบายประชานิยม โดยไม่มีการดูว่าตรงไหนเป็นจุดอ่อนของระบบ

ไม่ใช่แค่เรื่องข้าว แต่เรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษาก็เป็นเช่นนี้ ปัญหามันจึงเรื้อรัง

อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะจ่ายเงินให้ชาวนา แล้วบอกว่าไม่ได้เป็นประชานิยม ก็จะมีคำถามตามมาว่า เมื่อพยายามทำให้เป็นรัฐสวัสดิการแล้ว การช่วยเหลือมีความครอบคลุมทุกภาคส่วนหรือไม่
เช่น ช่วยเหลือชาวนาแล้ว เกษตรกรในส่วนอื่นๆ หรือชนชั้นแรงงาน ได้รับการช่วยเหลือเหมือนชาวนาอย่างมีความเป็นธรรมหรือไม่

เพราะหากจะปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นประชานิยม การเป็นรัฐสวัสดิการจะต้องมีความชัดเจนในเรื่องของหลักการและเหตุผล โดยเฉพาะที่สำคัญคือความเท่าเทียม ต้องแสดงให้ชัดเจนว่าช่วยอย่างไร ช่วยเพราะอะไรแล้วจะได้ผลอย่างไร

จึงจะลดกระแสถูกโจมตีว่าอะไรๆ ก็เป็นประชานิยม

 

นิพนธ์ พัวพงศกร
นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

การจ่ายเงินดังกล่าวแทบไม่ต่างจากประชานิยม แต่ผลดีคือเงินถูกจ่ายไปให้คนยากคนจนโดยตรง คนกลุ่มนี้เป็น กลุ่มคนที่ไม่เคยได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าว

และกลุ่มชาวนาทั่วประเทศมีทั้งหมด 3.2 ล้านครัวเรือน กลุ่มที่มีที่นาไม่เกิน 15 ไร่มี 80% ของชาวนาทั่วประเทศ ถือเป็น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย หากมีเงินเข้าไปใน ครัวเรือนจะเกิดการบริโภคเงินสูงสุด 90-100% หรือแทบไม่เหลือเก็บเลย

เมื่อรัฐบาลจ่ายเงินให้ 4 หมื่นล้านบาท ชาวนาก็จะนำไปใช้จ่ายในการบริโภคอุปโภค ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสั้นๆ หากการจ่ายเงินเกิดขึ้นตามวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็น
มาตรการที่ไม่น่าเกลียด

เพราะเงินจะได้กลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเร็วขึ้น เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวและสินค้าเกษตรตกต่ำ อำนาจการบริโภคของชาวนาหรือคนจนลดลง รัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มอำนาจการบริโภคให้กับชาวนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2558 ให้ไม่ตกต่ำ เพราะขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณในเรื่องอำนาจการซื้อลดลง

การจ่ายเงินให้ชาวนา คนจน แบบให้เงินถึงมือ เป็นวิธีการ กระตุ้นเศรษฐกิจได้รวดเร็วที่สุด แต่รัฐบาลต้องทำในช่วงสั้นๆ อย่าให้การจ่ายเงินเป็นการทำลายระบบตลาดและการผลิตของเกษตรกร
รัฐบาลปฏิเสธไม่ได้ที่ต้องช่วยเหลือชาวนา เพราะคนกลุ่มนี้เมื่อราคาสินค้าตกต่ำจะเป็นภาระให้รัฐบาลตลอดมาอย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลมีมาตรการระยะสั้นในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องมีมาตรการระยะยาวในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ข่าวสด วันที่ 3 ตุลาคม 2557