การซื้อสื่อของภาครัฐ: โจทย์ที่ท้าทายสำหรับการปฏิรูปสื่อ

ปี2014-10-10

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์
ธิปไตร แสละวงศ์

การแทรกแซงการทำงานของสื่อสาธารณะของภาครัฐเป็นเรื่องที่ถูกกล่าวถึงในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์ที่ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐโดยตรง เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เสรี ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบสัมปทานดังเช่นสื่อโทรทัศน์ หรือ วิทยุ แต่รัฐยังคงพยายามใช้งบโฆษณาเพื่อเป็นช่องทางแทรกแซงการทำงานของสื่อหนังสือพิมพ์ โดยเฉพาะเรื่องการเปิดโปงการทุจริต ทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน จึงไม่สามารถเป็นแนวร่วมในการ “ตรวจสอบ” พฤติกรรมของภาครัฐได้อีกทางหนึ่ง

จากการสำรวจผลประกอบการระหว่างปี พ.ศ. 2552-2556 ของบริษัทหนังสือพิมพ์รายวันที่มีผู้อ่านมากที่สุด 5 ฉบับแรก พบว่ารายได้หลักของบริษัทเหล่านี้มาจากการค่าโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนโดยเฉลี่ยร้อยละ 75-80 ของรายได้รวม แม้ว่าบริษัทหลายแห่งจะพยายามหารายได้จากช่องทางอื่นๆ เช่น การรับจัดงาน แต่ก็ยังไม่สามารถชดเชยรายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาได้

นอกจากนี้ การที่ธุรกิจประเภทนี้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งระหว่างบริษัทหนังสือพิมพ์ด้วยกันเอง และจากสื่อทางเลือกภายนอก โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ อาจทำให้บริษัทสื่อขนาดเล็กที่ไม่สามารถแย่งชิงค่าโฆษณาจากบริษัทขนาดใหญ่ได้ จำเป็นต้องพึ่งพาโฆษณาภาครัฐ ซึ่งอาจเป็นการเปิดโอกาสให้อำนาจการเมืองเข้าไปมีอิทธิพลในการทำหน้าที่หลักของสื่อได้

ปัญหาดังกล่าวจึงนำมาสู่ข้อเสนอ 2 ประการ เพื่อกำจัดและป้องกันปัญหาดังกล่าวที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น ดังนี้

ต้องกำกับการใช้งบประมาณของรัฐในฐานะผู้ซื้อ

ในปีที่ผ่านมา รัฐใช้งบโฆษณาเกือบ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าขั้นต่ำที่สามารถประเมินได้จากช่องทางการโฆษณาผ่านสื่อทั่วไป เช่น โทรทัศน์ วิทยุ หรือหนังสือพิมพ์ แต่ยังไม่รวมการจัดงานประชุมสัมมนาหรือนิทรรศการต่างๆ อย่างไรก็ดี หากมูลค่างบในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปีก็ไม่แปลกแต่อย่างใด เนื่องจากงบรายจ่ายของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน ดังนั้น ประเด็นที่สำคัญที่สุดไม่น่าจะอยู่ที่ว่าการใช้งบโฆษณานั้น “มากเกินไป” หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่ามีความ “คุ้มค่าและโปร่งใส” หรือไม่

ในเรื่องของความคุ้มค่านั้น มีหลักฐานปรากฏให้เห็นอยู่หลายครั้งว่ารัฐใช้งบโฆษณาอย่างสุรุ่ยสุร่ายโดยไม่ใส่ใจว่าเงินทุกบาทที่ใช้ไปคือเงินของส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นรูปโฆษณาสี่สีเต็ม ปกหลังของหนังสือพิมพ์ ซึ่งพื้นที่เกินครึ่งแสดงรูปนักการเมืองและข้าราชการระดับสูง ในขณะที่ข้อมูลข่าวสารที่ต้องการแจ้งให้ประชาชนทราบกลับไม่มีเนื้อหาสาระใดๆ ที่สำคัญหรือป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ริมถนนแสดงรูปภาพหัวหน้าหน่วยงานเต็มพื้นที่ของป้ายที่กล่าวเพียงว่า “เดินทาง โดยสวัสดิภาพ” ซึ่งโฆษณาเหล่านี้ใช้เงินอย่างต่ำหลักหลายแสนบาทต่อครั้งขึ้นไป

การใช้เงินส่วนรวมเพื่อภาพลักษณ์ส่วนตัวในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศกำลังพัฒนาอย่างฟิลิปปินส์และอินเดีย และวิธีการแก้ปัญหานี้ โดยทั่วไปแล้ว จะเป็นการออกกฎหมายที่กำหนดว่าห้ามมีชื่อ ลายเซ็น รูป เสียง หรือสัญลักษณ์ใดในสื่อโฆษณาที่ใช้เงินของรัฐอย่างเด็ดขาดอย่างในประเทศออสเตรเลียและแคนาดา นอกจากนี้ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องมีการบังคับใช้อย่างจริงจังและมีบทลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน

กฎหมายดังกล่าวยังต้องกำหนดให้มีการระบุข้อความว่าเป็น “โฆษณาที่ใช้เงินจากหน่วยงานรัฐ”เพื่อให้ประชาชนสามารถแยกแยะได้ว่าสื่อโฆษณาชิ้นใดผลิตโดยเงินส่วนตัวหรือเงินของรัฐ เนื่องจากมีประเด็นที่พูดถึงกันมากว่า มีการใช้งบประมาณจ้างสื่อผลิตข่าวที่มีเนื้อหาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ส่วนตัว

นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยให้ประชาชนรับทราบผ่านเว็บไซต์ของตนเองว่า ใช้งบประชาสัมพันธ์มูลค่าเท่าใดในแต่ละโครงการหรือปีงบประมาณ และให้แก่สื่อบริษัทใด โดยในปัจจุบัน พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ได้กำหนดไว้แล้วว่า ให้หน่วยงานทุกแห่งมีหน้าที่ต้องเปิดเผยรายละเอียดการใช้งบประมาณให้ประชาชนได้ทราบ

ต้องกำกับพฤติกรรมของสื่อในฐานะผู้ขาย

นอกเหนือจากการกำกับผู้ซื้อแล้ว วิธีการกำจัดและป้องกันปัญหาการซื้อสื่อที่ต้องทำ ควบคู่กันคือการกำกับพฤติกรรมของสื่อที่ละเลยหน้าที่ของตนเอง และให้ความช่วยเหลือสื่อ ที่ถูกอำนาจการเมืองครอบงำ

ในเรื่องวิธีการกำกับดูแลสำหรับประเทศไทยนั้น การให้สื่อกำกับดูแลกันเองน่าจะเป็น วิธีการที่เหมาะสมที่สุด อย่างเช่น กรณีของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ซึ่งในแง่ของเนื้อหาจรรยาบรรณวิชาชีพ การสำรวจพบว่า “ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมฯ” ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไทยมีความสมบูรณ์และรัดกุมเทียบเท่าประเทศที่พัฒนาแล้วหากแต่การบังคับใช้นั้นยังคงเป็นไปอย่างจำกัดสำหรับประเทศไทย แม้ว่าการเข้าเป็นสมาชิกของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ของไทย จะอยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจเช่นเดียวกับประเทศเหล่านั้นก็ตาม

ทั้งนี้ เนื่องจากในกรณีของต่างประเทศ เช่น สวีเดนหรือสหราชอาณาจักร สภาการหนังสือพิมพ์มีโครงสร้างที่น่าเชื่อถือและดูเป็นกลางกว่า จากการประกอบด้วยตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาคประชาชนหรือแม้แต่ภาครัฐที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและประชาชนทั่วไปให้ความเชื่อถือ เข้ามาร่วมทำหน้าที่พิจารณาการปฏิบัติตามจรรยาบรรณวิชาชีพของสื่อ

ในขณะที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ ไทยประกอบด้วยบุคคลในวงการสื่อหนังสือพิมพ์เป็นหลัก และแม้จะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก แต่ก็มาจากการแต่งตั้งของบุคคลกลุ่มแรก ทำให้ถูกสังคมหรือแม้แต่สมาชิกสื่อด้วยกันเองสงสัยว่าสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลางหรือไม่ และจะปกป้องผลประโยชน์ของสังคมส่วนรวมได้ดีเพียงใด

จึงนำไปสู่ข้อเสนอที่ว่า สภาการหนังสือพิมพ์ฯควรจะต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน เสียใหม่ โดยการดึงบุคคลนอกวงการสื่อหนังสือพิมพ์ที่สังคมให้การยอมรับในความมีคุณธรรมและความสามารถ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการในสภาการหนังสือพิมพ์มากขึ้น ในจำนวนและอำนาจหน้าที่เท่ากับกรรมการจากวงการสื่อ ผ่านวิธีการสรรหาและแต่งตั้งที่โปร่งใส

 

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 9 ตุลาคม 2557