แรงงานข้ามชาติจากเวียดนาม

ปี2014-10-03

สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์

เมื่อพูดถึงแรงงานข้ามชาติระดับล่าง เรามักนึกถึงแรงงาน 3 สัญชาติจากกัมพูชา ลาว และพม่า แต่ที่จริงปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งชุมนุมของแรงงานข้ามชาติจากทั่วโลก ซึ่งในระดับล่างหรือแรงงานทักษะน้อยที่กำลังมาแรง เห็นจะเป็นแรงงานจากเวียดนาม

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีชาวเวียดนามทะลักเข้ามาประเทศไทยแต่ไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน เนื่องจากเข้ามาในลักษณะของนักท่องเที่ยว แต่คาดว่ามีมากกว่า 50,000 คน แรงงานจากเวียดนามมีเอกลักษณ์ที่ต่างจากแรงงาน 3 สัญชาติ ซึ่งไทยอนุญาตให้แรงงานที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องเข้ามาทำอาชีพกรรมกรและรับใช้ในบ้านเท่านั้น จะไปทำอาชีพอื่นไม่ได้ ส่วนเวียดนามนั้นยังไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงาน พวกนี้ที่เข้าเมืองอย่างถูกต้องโดยถือพาสปอร์ตท่องเที่ยว แต่ลักลอบทำงานในประเทศ

สำนักงานแรงงานต่างด้าวบอกว่าพวกนี้น่ากลัวเพราะเข้ามาแล้วจะไม่กลับออกไป รวมทั้งยังเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยอีกด้วยส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเสิร์ฟ ขายของ อยู่ที่ร้านอาหาร หากไปดูตามถนนบางเส้นจะพบชาวเวียดนามทำงานเต็มไปหมด ก่อนหน้านี้เคยมีการเข้าไปจับกุมก็มีนายตำรวจยศใหญ่โทรศัพท์มาขอ ทำให้ทำงานลำบาก การที่ชาวเวียดนามเข้าเมืองมานั้นจะมีหนังสือเดินทางจึงไม่มีความผิดตามกฎหมายเข้าเมือง แต่หากลักลอบทำงานจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 51 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับตั้งแต่ 2,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ายอมออกนอกราชอาณาจักร ตำรวจก็จะปรับแค่ 2,000 บาท เมื่อถูกขับออกไปแล้วก็แอบกลับเข้ามาใหม่

ที่จริง เมื่อต้นปี 2557 อธิบดีกรมการจัดหางานคนก่อนเคยเปรยว่ากรมการจัดหางาน พร้อมจะลงนามข้อตกลงหรือเอ็มโอยูกับประเทศที่ 4 ได้แก่ เวียดนาม บังกลาเทศ และเนปาล ภายในปีนี้ เนื่องจากมองว่าการจ้างงานของประเทศกลุ่มที่ 4 มีข้อดีต่อความมั่นคงของชาติ เพราะมีพรมแดนไม่ติดกับประเทศไทย จึงง่ายต่อการควบคุมในการเข้าและออก มากกว่า 3 ประเทศเพื่อนบ้าน

หลายปีที่ผ่านมา “แรงงานเวียดนาม” ถือเป็นอีกหนึ่งแรงงานที่ทยอยเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก เพราะนับตั้งแต่ทางการไทยทำเอ็มโอยูกับรัฐบาลเวียดนามเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ เพื่อยกระดับกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียน โดยทำข้อตกลงกันว่าอนุญาตให้ประชาชนของทั้งสองประเทศที่ถือหนังสือเดินทางอยู่ในประเทศของคู่ตกลงได้ครั้งละ 30 วัน โดยไม่ต้องขอวีซ่า เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประชาชนทั้งสองประเทศ

จากข้อตกลงนี้ ทำให้เกิดการเดินทางเข้าออกประเทศไทยของชาวเวียดนามเป็นจำนวนมากปีละประมาณ 5-6 แสนคน ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่อาศัยช่องว่างของข้อกฎหมายที่อนุญาตให้อยู่ได้ 30 วัน อยู่ทำงาน และเมื่อครบกำหนด 30 วัน ก็จะเดินทางออกจากประเทศไทยข้ามไปฝั่งลาว เพื่อต่อพาสปอร์ตแล้วกลับเข้ามาใหม่ทันที วนเวียนอยู่อย่างนี้นานเป็นแรมปีซึ่งตัวเลขแรงงานข้ามชาติเวียดนามทำงานผิดกฎหมายที่ว่าประมาณ 5 หมื่นคนนั้นยังเป็นที่น่าสงสัย

กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะอาศัยการบอกต่อของเพื่อนแรงงานที่มาอยู่ก่อนแล้ว โดยจะติดต่อกับนายจ้างเพื่อหางานให้แก่คนที่มาใหม่ในลักษณะชักชวนเพื่อนและญาติมาทำงาน จากนั้นได้บอกต่อๆ กันมา ไม่ได้เรียกเก็บค่านายหน้า และยังไม่มีขบวนการค้าแรงงานในกลุ่มของชาวเวียดนาม ประกอบกับมีความต้องการของนายจ้างสูงมากเนื่องจากเป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ มีทักษะดี ฝึกฝนง่าย เป็นงานเร็วและขยันขันแข็ง จึงหางานได้ง่าย ซึ่งงานส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในบ้าน เช่น เป็นแม่บ้านดูแลผู้สูงอายุ หรือเด็กเล็ก และทำงานบ้านหรือร้านขายของที่จำเป็น เพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่เจ้าของร้าน นอกจากนั้นบางคนจะสมัครเข้าทำงานตามเขียงหมู หรือโรงเชือดที่ต้องทำงานในช่วงดึกๆ โดยแรงงานกลุ่มนี้ต้องทำงานหลังร้าน เนื่องจากพูดภาษายังไม่ได้ แต่บางพวกจะสมัครทำงานตามร้านอาหารเป็นพนักงานในครัว หรือเป็นคนล้างจาน แต่หากหน้าตาดีหรือพูดภาษาไทยได้บ้าง นายจ้างอาจขยับให้เป็นเด็กเสิร์ฟอาหาร

กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะกระจัดกระจายไปทั่วทุกสารทิศ ตั้งแต่อีสานสู่ภาคกลางขึ้นเหนือลงใต้ โดยพบอยู่แทบทุกจังหวัดใหญ่ๆ นอกจากนั้นบางคนที่มาอยู่นานจะมีช่องทาง ทำกิจการของตัวเอง เช่น ติดต่อขอเข้าดูแลลานจอดรถของร้านอาหารใหญ่ๆ ที่มีลูกค้าเยอะ โดยไม่คิดค่าแรง แต่อาศัยรายได้จากการทิปของลูกค้าที่มารับประทานอาหาร ซึ่งร้านเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลหรือหัวเมืองใหญ่ๆ

แรงงานเวียดนามในไทยคนหนึ่ง อายุ 36 ปี จากจังหวัดเหง่ อาน ที่อยู่ตรงกันข้ามกับ จ.นครพนม ของไทย หนึ่งในผู้เข้ามาค้าแรงงานในไทย เล่าว่า แต่งงานแล้วมีบุตรสองคน คนโตอายุ 11 ขวบ ส่วนคนเล็กอายุ 8 ขวบ มีอาชีพรับจ้างทั่วไปในเวียดนามได้ค่าแรงสูงสุดวันละไม่เกิน 8 หมื่นด่อง หรือประมาณ 120 บาทไทย แต่ละวันจะต้องไปรออยู่ในจุดนัดพบแรงงานตามตลาดต่างๆ หากมีนายจ้างต้องการจ้างแรงงานก็จะมาเลือกเอาไป วันไหนถูกเลือกก็จะมีงานทำ หากวันไหนไม่ถูกเลือกก็จะไม่มีรายได้

“จุดเปลี่ยนที่ทำให้ชีวิตดีขึ้น กับการมาขายแรงงานในไทย เมื่อเพื่อนบ้านกลับมาเยี่ยมญาติ ก็มาบอกเล่าถึงความสุขสบายในไทย งานดีเงินดีกว่า หากต้องการทำงานก็จะพาไปโดยไม่เสียค่านายหน้า จึงตัดสินใจมาด้วย โดยใช้หนังสือเดินทางเข้ามาที่ลาวก่อน หลังจากนั้นก็จะเข้าประเทศไทยที่ด่านสะพานมิตรภาพ ไทยลาว-แห่งที่ 3 ระหว่างเมืองท่าแขก แขวงคำม่วนกับ จ.นครพนม” (ทางฝั่งเวียดนามเรียกสั้นๆ ว่านคร)

แรงงานคนนี้เล่าต่อว่า ครั้งแรกที่มาเมืองไทย เพื่อนได้ฝากงานให้ทำที่ร้านขายของชำในตลาดสด จ.นครพนม เป็นกรรมกรแบกหามยกของทั่วไป ได้เงินเดือนละ 6,000 บาท โดยนายจ้างมีที่พักและอาหารให้ 3 มื้อ เงินเดือนจึงเหลือเก็บเต็มๆ หลังจากทำงานได้ 6 เดือนก็พบกับเพื่อนที่มาอยู่เมืองไทยก่อนหน้านี้ระหว่างเดินทางไปต่ออายุการอยู่ในประเทศไทยที่ด่านสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 3 โดยเพื่อนบอกเล่าว่า ทำงานที่ จ.ขอนแก่น ได้เงินวันละ 300 บาท แต่ต้องเช่าบ้านและหาอาหารกินเอง เห็นว่ารายได้ดีกว่า จึงตัดสินใจลาออกจากที่เดิมแล้วเดินทางไปทำงานที่โรงเชือดไก่ในขอนแก่น ทำมานานนับปีแล้ว แต่ละเดือนต้องไปต่ออายุหนังสือเดินทางที่ลาวผ่านทางสะพานมิตรภาพไทยลาว จ.หนองคาย เพื่อรักษาสถานะของการอยู่ได้อย่างถูกต้องในประเทศไทย

จนกระทั่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2557 การออกไปต่ออายุหนังสือเดินทางเริ่มมีปัญหา เพื่อนร่วมงานบางคนไปต่อแล้วถูกปฏิเสธไม่ให้กลับเข้ามาในประเทศไทยอีก ทำให้เกิดความแตกตื่นในกลุ่มผู้ใช้แรงงานชาวเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยมีข่าวลือเกิดขึ้นต่างๆ นานา เช่น ทหารจะทำการกวาดล้างแรงงานต่างด้าวครั้งใหญ่ จะจับและปรับคนละ 1 หมื่นบาท
หากพบว่าแอบทำงานในไทยหรือหากทางการตรวจพบว่าอยู่อย่างผิดกฎหมายจะถูกปรับทันที 5 หมื่นบาท พวกเราจึงตัดสินใจเดินทางกลับบ้านที่เวียดนามก่อน เพื่อรอให้เหตุการณ์ปกติก่อนค่อยหาทางกลับมาใหม่ เพราะรักนายจ้างคนไทยมาก คนไทยใจดี โอบอ้อมอารี ไม่เอาเปรียบแรงงานถ้ามีโอกาสจะกลับมาอีกแน่นอน

ขณะที่เขียนเรื่องนี้อยู่ ผู้เขียนกำลังอยู่ที่ฮานอยโดยองค์การ Swiss Agency for Development and Cooperation (SDC) จ้างให้ศึกษาเรื่องแรงงานข้ามชาติจากเวียดนามไปไทย ได้ไปสัมภาษณ์อธิบดีและรองอธิบดีกรมส่งออกแรงงาน (Department of Overseas Labour: DOLAB) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การการย้ายถิ่นระหว่างประเทศ (IOM) สหภาพแรงงาน รวมทั้งได้เดินทางไปจังหวัดห่าถินท์ติดชายแดนลาวและใกล้นครพนม เพื่อสัมภาษณ์แรงงานเวียดนามที่เคยมาทำงานประเทศไทย

จากการศึกษาของผู้เขียนที่ประเทศต้นทางพบว่าข้อความดังกล่าวข้างต้นซึ่งรวบรวมจากสื่อมวลชนของไทยนั้นใกล้เคียงความจริงมาก แม้ทางราชการเวียดนามจะบอกว่าไม่ทราบตัวเลขแรงงานเวียดนามที่ลักลอบทำงาน (เขาใช้คำว่า นอกระเบียบ หรือ Unorganized) แต่เฉพาะที่มาจากห่าถิ่นท์ก็ประมาณ 1 หมื่นคน ถ้ารวมจากที่อื่นๆ ด้วยก็หลายหมื่น ส่วนตัวเลขนักท่องเที่ยวนั้น เขายืนยันว่าเป็นนักท่องเที่ยวจริงเป็นส่วนใหญ่ และช่วงเปลี่ยนรัฐบาล กว่าครึ่งเดินทางกลับด้วยความหวาดกลัว

รัฐบาลเวียดนามจริงจังกับเรื่องแรงงานเวียดนามข้ามชาติมาก ดังที่ ปลัด ก.แรงงาน เผยว่า นายเหงียน ตัด ถัน (H.E. Mr. Nguyen Tat Thanh) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามประจำประเทศไทย ได้เข้าหารือถึงความคืบหน้าในการจัดทำ MOU ด้านการจ้างแรงงานระหว่างประเทศไทยเวียดนาม เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการจัดส่งด้านแรงงานของเวียดนามเข้ามาทำงานในประเทศไทย ในประเภทกิจการก่อสร้าง ซึ่งปลัดได้ชี้แจงกับทางเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ว่าประเทศไทยกำลังดำเนินการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวใน 3 สัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งจะต้องรอให้การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวแล้วเสร็จไปก่อน เพื่อให้ได้ทราบถึงจำนวนความต้องการแรงงานต่างด้าวของนายจ้าง เมื่อเสร็จสิ้นในส่วนนี้จะได้นำเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อพิจารณาว่าจะนำเข้าแรงงานจากประเทศใดต่อไป

เมื่อผู้เขียนคุยกับเจ้าหน้าที่แรงงานเวียดนามก็เห็นว่าเขาหงุดหงิดพอสมควร ขณะเดียวกันก็ได้มีโอกาสคุยกับนายกสมาคมการท่องเที่ยวจังหวัดห่าถินท์ ซึ่งเล่าให้ฟังว่าทางสมาคมกำลังร่วมมือกับสมาคมการท่องเที่ยวใน 9 จังหวัดของไทยและสมาคมท่องเที่ยวของประเทศลาวว่าจะทำความตกลงระดับจังหวัด เพื่อจัดส่งแรงงานด้านการท่องเที่ยวจากเวียดนามมาไทยตามความต้องการระดับจังหวัดของไทย โดยทางเวียดนามจะมีการฝึกอบรมคนมาอย่างดี

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ทราบแล้วเปลี่ยน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 ตุลาคม 2557