เปลี่ยนอาชีพ ‘ชาวนา-ปลูกยาง’ หนทางแก้ปัญหาจริงหรือ?

ปี2014-10-13

หมายเหตุ – รัฐบาลมีนโยบายให้ชาวนาและเกษตรกรผู้ปลูกยางบางส่วน เปลี่ยนอาชีพมาปลูกพืชชนิดอื่นหรือทำงานอื่น เพื่อหารายได้ทดแทน หลังจากราคาพืชผลเกษตรราคาตกต่ำ มีความเห็นจากฝ่ายต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้

 

วิเชียร พวงลำเจียก
นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย

ไม่มีชาวนาคนไหนเชื่อรัฐบาล หรือเชื่อผู้นำที่มาสั่งให้ชาวนาเลิกทำนา เพราะคำสั่งนี้เท่ากับสั่งให้เราไปตาย พวกเราชาวนาจะหยุดทำนาก็ต่อเมื่อไม่มีแรงทำนา ป่วยเรื้อรัง เพราะพวกเราจน มีหนี้สิน และหยุดทำนาก็ไม่มีกิน

ชาวนาในประเทศไทย ส่วนใหญ่ทำนากันมาตลอดชีวิต ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ไม่มีความชำนาญหรือความสามารถจะไปทำอาชีพอื่น แม้อาชีพอื่นจะเป็นการเพาะปลูกก็ตาม เพราะการเพาะปลูกพืชแต่ละประเภทก็ต้องอาศัยความชำนาญ หากให้ชาวนาเลิกทำนาและไปปลูกอย่างอื่น เช่นไปปลูกถั่ว ต่อไปถั่วเหลืองก็ล้นตลาดและราคาตกต่ำอีก ขายไม่ออก ก็ต้องไปแก้ไขปัญหาราคาถั่วอีก แบบนี้แก้ไขที่ข้าวเปลือกแต่ต้นเหตุเลยดีกว่า

ถามรัฐบาลว่าให้ชาวนาเลิกทำนามาจากสาเหตุใด เช่น ไม่สามารถบริการจัดการน้ำเพื่อการเกษตรได้ จึงให้เลิกทำนา หากเป็นสาเหตุนี้ ต้องไปแก้ไขที่การบริหารจัดการน้ำ เพราะบ้านเราไม่ได้ขาดน้ำตลอดทั้งปี บ้านเรามีฝนตก มีน้ำท่วม ทำอย่างไรจะเอาน้ำในยามมีมากเก็บไว้เพื่อในยามขาดแคลน เป็นแนวทางแก้ไขต้นเหตุ หากให้เลิกเพาะปลูกข้าวเพราะขาดน้ำ แบบนี้เรียกว่าแก้ปัญหาแบบไม่ต้องคิด

หากให้หยุดทำนา เพราะแก้ไขปัญหาราคาข้าวเปลือกในท้องตลาดตกต่ำไม่ได้ รัฐบาลจึงหาทางลดจำนวนแปลงนาข้าว เพื่อให้ข้าวเปลือกในท้องตลาดมีน้อยลง และราคาจะขึ้น หากคิดได้เท่านั้น ก็ถือเป็นเวรกรรม เพราะว่าเราต้องคิดหาทางขายข้าวในตลาดโลก หรือแปรรูปข้าวเจ้า ให้เป็นสินค้าอย่างอื่น รูปแบบอื่น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ข้าวเจ้า แทนที่มาคิดว่าหากเลิกปลูกแล้วราคาจะดีขึ้น

ที่สำคัญ หากให้ชาวนาเลิกเพาะปลูกข้าว เพียงเพราะแจกเงินมาไร่ละ 1,000 บาท คนละไม่เกิน 15 ไร่ ถามว่าพอยาไส้หรือไม่ เงินเท่านั้น

ส่วนการที่กรมชลประทานประกาศงดส่งน้ำทำนาแต่ช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนปีหน้า ถามว่าเอาอะไรมาคิด หน้าที่กรมชลประทานคือการบริหารจัดการน้ำ ไม่ใช่หน้าที่มาบอกไม่มีน้ำแล้ว แล้วจะมานั่งทำงานกันทำไม ช่วงนี้หากเป็นเดือนไทยคือเดือน 11-12 ตามโบราณกล่าวว่า เดือน 11 น้ำนอง เดือน 12 น้ำทรง หมายถึงต้องมีน้ำ แต่ตอนนี้ไม่มีน้ำทั้งที่เมื่อเดือนก่อนเร่งปล่อยน้ำทิ้งลงท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ชาวนาบอกได้คำเดียวว่างงมาก

หากให้พวกเราเลิกทำนา ถามต่ออีกว่า หนี้สินทั้งในระบบกับ ธ.ก.ส. กับสถาบันการเงิน กับสหกรณ์ ยกเลิก แบบล้างหนี้สินให้หรือไม่ และหนี้สินกับร้านจำหน่ายปุ๋ยและยา เมล็ดพันธุ์อีกใครรับผิดชอบ

ขอถามซื่อๆ ว่า ตอนที่ราคาเปลือกในท้องตลาดราคา 13,000-15,000 บาทต่อตัน จนราคาข้าวเปลือกตกมาที่ 5,000-6,000 บาทต่อตันนั้น ราคาข้าวสารในห้างสรรพสินค้าหรือในตลาดลดลงบ้างหรือไม่ ราคาข้าวสารไม่ลดลงเลย ทั้งที่ความจริงมันน่าจะลดราคาลง เพราะต้นทุนคือข้าวเปลือกราคาตกไปกว่า 50-60% แต่ราคาข้าวสารก็ไม่ลดลง ถามแบบนี้ใครตอบผมได้บ้าง ว่าเพราะอะไร

 

วิโรจน์ ณ ระนอง
ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

แนวคิดเรื่องการเปลี่ยนอาชีพชาวนาโดยรัฐจะจ่ายเงินช่วยเหลือนั้น รัฐบาลอาจได้รับอิทธิพลมาจากนโยบายโซนนิ่งเกษตร หลายฝ่ายเข้าใจว่า นโยบายโซนนิ่งสามารถออกแบบผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด สุดท้ายแม้ไทยจะทำโซนนิ่งสำเร็จ แต่เราไม่สามารถควบคุมราคาได้ เพราะโซนนิ่งไม่ใช่ยาวิเศษ เราควบคุมการผลิตในประเทศได้ แต่ควบคุมปริมาณผลผลิตในโลกไม่ได้ หลายฝ่ายคิดว่า ปลูกอ้อยแล้วได้ราคาดีแต่ปัจจุบันราคาอ้อยดีเพราะผู้บริโภคในประเทศยังอุดหนุนราคาอ้อย ราคาอ้อยที่ขายในประเทศยังสูงกว่าราคาอ้อยที่ส่งออก

แม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ส่งออกผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมาก แต่ไม่ใช่ผู้ผลิตผลิตผลทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก เช่น ข้าว แม้ส่งออกได้มาก แต่ปริมาณการส่งออกทั้งหมดคิดเป็นเพียง 3% ของผลผลิตข้าวทั้งโลก ไทยไม่ได้ใหญ่หรือมีอิทธิพลจนสามารถกำหนดราคาพืชผลในตลาดโลกได้ รัฐพยายามลดพื้นที่การเพาะปลูกในสินค้าที่ราคาไม่ดีลง เพื่อให้ความต้องการพอดีกับปริมาณผลผลิต จะทำให้ราคาสินค้าดีขึ้นนั้น ยังไม่มีหลักฐานทางวิชาการรองรับ

นอกจากนี้ จำนวนผลผลิตของพืชแต่ละชนิดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของดินในแต่ละพื้นที่เท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำและฝนสำหรับการเพาะปลูกอีกด้วย หากปีใดน้ำแล้งทำให้ผลผลิตข้าวลดลง 10% หรือน้ำมากส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 10% จะมีผลต่อราคาข้าวเช่นกัน

 

เสมียน หงส์โต
ประธานเครือข่ายชาวนาภาคกลาง

จ้างชาวนาเปลี่ยนอาชีพ พื้นที่ภาคกลางนั้นทำไม่ได้แน่นอน เพราะทุกคนก็ถนัดและฝังรากลึกในการทำนากันทุกคน จะให้ชาวนาไปเริ่มต้นกับอาชีพอื่นใหม่ๆ นั้นผมว่ายากมากเพราะทุกวันนี้ชาวนา 80-90 เปอร์เซ็นต์นั้นไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินจริงๆ มีเพียงเป็นผู้เช่านา ถ้าให้ชาวนาไปทำสวนเจ้าของเอาที่ดินคืนทำไง ให้ชาวนาไปเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง ทำอย่างอื่นไม่มีความถนัด ชาวนาก็มีแต่ลงทุน มีแต่ต้องศึกษาหาความรู้ใหม่เท่ากับเกษตรกรชาวนาต้องเริ่มต้นใหม่ ทุกวันนี้ชาวนาส่วนใหญ่ก็มีวัยกลางคนขึ้นมาจนถึงวัยชรา ทุกคนเรียนรู้การทำนามาตั้งแต่เยาว์วัย อยากให้รัฐบาลมองให้ตรงจุด สนับสนุนช่วยเหลือให้ตรงประเด็นก็จบ ไม่ใช่สร้างวิมานในอากาศให้ชาวนาสับสนอย่างทุกวันนี้ มีโครงการมากมาย แต่ทุกอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ จะช่วยชาวนาจริงๆ ต้องช่วยเรื่องต้นทุนการผลิตค่าปุ๋ย ค่าน้ำมัน ระบุราคาให้ชัด ระบบชลประทานก็มาดูแลจริงจังเท่านั้นก็จบ ชาวนาก็ทำนาต่อไป เพราะชาวนาเห็นโรงสีมีความหวังขายข้าวได้อยู่แล้วไม่ต้องกลัวทำแล้วขายไม่ได้

อย่างเรื่องเปลี่ยนอาชีพชาวนาให้เก้าพัน ชาวนาคิดแล้วปีหนึ่งทำนาได้ 2 ครั้งก็ปาเข้าไปหลักหมื่นแล้ว และ 5 ปี ก็ได้มากกว่าที่รัฐจะช่วยเหลือชาวนา

 

วิชัย อัศรัสกร
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวนาบางพื้นที่ก็ตื่นตัวกับการเปลี่ยนพื้นที่จากปลูกข้าวมาเป็นปลูกพืชอื่นแล้ว เพราะปลูกข้าวรายได้ไม่ได้ดีนัก และนโยบายรัฐบาลก่อนมีการบิดเบือนกลไกราคาบิดเบือนตลาด ทำให้แห่เพาะปลูกจนเกิดปัญหาผลผลิตล้นและราคาตกต่ำ ที่ผ่านมาหอการค้าไทยก็ได้ส่งยุทธศาสตร์ 6 สินค้าเกษตรหลัก ถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว มีทั้งการทำเกษตรแบบยั่งยืน และปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด (โซนนิ่ง) การเพิ่มผลผลิตและพัฒนาคุณภาพ ฉะนั้น จึงเห็นว่าไม่ยากที่ชาวนาจะเปลี่ยนอาชีพ

แต่จะให้การเปลี่ยนอาชีพจากชาวนาไปทำเกษตรที่เหมาะสม ประเมินมี 27 ล้านไร่ รัฐบาลและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมต้องมีส่วนช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนอาชีพและต่อยอดเพื่อให้เกิดรายได้ที่มั่นคง รัฐบาลควรเป็นเจ้ามือเจ้าภาพ ช่วงแรกควรให้งบสนับสนุนในด้านการปรับปรุงปรับเปลี่ยนการปลูกพืช อาจไม่ใช่แค่พืชพลังงาน แต่ควรจะรวมถึงพืชอื่นๆ ที่กำลังต้องการ อาทิ พืชตระกูลถั่วหรือผัก เช่น การปรับจากปลูกข้าวเป็นพืชพลังงานใช้เงิน 2 พันบาทต่อไร่ รัฐก็จ่ายให้ 1 พันบาท รัฐอาจตั้งงบประมาณ 1-2 พันล้านบาท ช่วยเหลือกลุ่มนี้ ผู้ประกอบการก็ต้องช่วยเหลือด้านปัจจัยการผลิตและค่าแรงงานอีกไร่ละ 4-5 พันบาท รับมือราคาตลาด เพียงไม่กี่ปีรายได้เกษตรกรก็จะมั่นคง

แรกๆ อาจยาก แต่เมื่อมีกลุ่มนำร่องโดยรัฐและเอกชนร่วมมือกันผลักดัน จะเป็นตัวเร่งโดยอัตโนมัติให้กับพื้นที่ที่เหลือปรับตาม ที่สำคัญจะเกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจแบบยั่งยืน อย่างปรับเปลี่ยนพื้นที่ 1 ไร่ จะมีเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ 6 พันบาท พื้นที่ 1 ล้านไร่มีเงิน 6 พันล้านบาท พื้นที่ 10 ล้านไร่มีเงิน 6 หมื่นล้านบาท พื้นที่ 20 ล้านไร่ มีเงินถึง 1.2 แสนล้านบาทเข้าพัฒนาระบบเศรษฐกิจ เพียงปีเดียว

 

ทศพล ขวัญรอด
ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดใต้

เห็นด้วยในเรื่องของการจัดโซนนิ่งเท่านั้น อย่างเช่น ปลูกยางพื้นที่ในนาข้าวน้ำท่วมได้ผลผลิตน้อย เป็นยางไม่มีคุณภาพ ไม่คุ้มค่า พื้นที่เหล่านี้หากรัฐสนับสนุนให้ปลูกปาล์มทดแทนก็จะดี แต่รัฐต้องทำแผนล่วงหน้า 5 ปี รองรับให้ชัดเจนว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปาล์มล้นตลาดเหมือนกับยางพารา พร้อมเตรียมโรงงานอุตสาหกรรมไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงานทดแทน หรืออุตสาหกรรมน้ำมัน เป็นต้น

ส่วนการจ่ายเงินชดเชยสนับสนุนของรัฐบาลหากครอบคลุมเกษตรกรทั้ง 3 กลุ่มก็รับได้ แต่วันนี้รัฐต้องพยุงเรื่องราคายางพาราให้สูงขึ้นและเร่งแก้ปัญหาระยะยาวเอาไว้ ต้องเรียกกลุ่มพ่อค้ายางรายใหญ่ 5 บริษัทในประเทศไทย มาพูดคุยเจรจาขอความร่วมมือรับซื้อยางในราคาสูงขึ้น นายกรัฐมนตรีต้องเดินทางไปเจรจากับประเทศอินโดนีเซียส่งออกยางเป็นอันดับที่สอง ขอความร่วมมืออย่าขายยางตัดราคากัน เพื่อกำหนดราคาในการขายยางกับประเทศจีนอีกครั้งหนึ่ง

โอกาสดีของเรากำลังจะมาถึงเนื่องจากเอฟทีเอกำลังจะหมดสัญญา รัฐบาลไทยต้องบินไปต่อสัญญากับจีนพร้อมบอกเหตุผล เพื่อจีนจะได้ซื้อยางในราคาสูงขึ้น การเจรจาต่อรองกับประเทศในภูมิภาคเอเชียจะพูดง่ายกว่าพูดกับฝรั่ง วันนี้บริษัทส่งออกทั้ง 5 บริษัท ยังแอบทำสัญญาลับๆ กับโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยด้วยกัน เกษตรกรชาวสวนยางรู้หมด

 

อุทัย สอนหลักทรัพย์
ประธานสภาการยางแห่งประเทศไทย

การปรับโครงสร้างเกษตรกรโดยให้เงินชดเชย การออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อจูงใจให้เกษตรกรหันไปปลูกพืชอื่น หรือทำเกษตรผสมผสานนั้น ควรนำเงินจำนวนดังกล่าวไปสร้างให้สินค้าเกษตรมีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่า เพราะเกษตรกรแต่ละรายมีความชำนาญในการปลูกพืชแต่ละชนิด หากให้ปลูกพืชชนิดใหม่เป็นเรื่องยาก ส่วนมาตรการโค่นยางเก่าเพื่อลดผลผลิตยางและจะชดเชยเกษตรกรให้ปลูกพืชอื่นตามมาตรการของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) โดยกำหนดราคาชดเชยระหว่างยางพาราและปาลม์น้ำมันไม่เท่ากันนั้น อาจส่งผลให้เกษตรกรหันมาปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น จนทำให้ผลผลิตปาล์มล้นตลาดซ้ำรอยยางพารา มองว่ารัฐบาลควรชดเชยราคาในอัตราที่เท่ากัน เพื่อให้เกษตรกรเลือกปลูกพืชเอง

อยากเสนอให้นำเงินมาปรับโครงสร้างเกษตรกรให้กลายเป็นอุตสาหกรรมเกษตรดีกว่า ทำอย่างไรให้เกษตรกรสามารถแปรรูปสินค้าเกษตรของตัวเองได้ เป็นอาชีพเสริม

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 13 ตุลาคม 2557