วิเคราะห์ ‘รัฐไทย’ ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ

ปี2014-10-31

หมายเหตุ – เป็นเนื้อหาจากการอภิปรายเรื่อง “รัฐไทยกับการแก้ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาทางวิชาการประจำปีของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่หอประชุมศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย ชั้น 3 อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

บรรยง พงษ์พานิช
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

ปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจสามารถมองได้หลายมิติ แต่อยากจะเจาะจงไปที่ “ขนาดบทบาทและอำนาจของรัฐไทย” ว่ามีความเหมาะสมอย่างไร และมีการพัฒนาอย่างไรในช่วงสิบห้าปีที่ผ่านมา การขยายตัวของอำนาจภาครัฐทำให้ประเทศไทยมีข้อจำกัดในด้านศักยภาพการแข่งขัน และเกิดการขยายตัวของการคอร์รัปชั่นอย่างมหาศาล

ขนาดของรัฐบาลมองได้จาก 3 ส่วน คือ 1.ขนาดของงบประมาณ 2.ขนาดการเติบโตของเศรษฐกิจ หลายคนมองว่ารัฐไทยเล็ก แต่หากพิจารณาลงไปในรายละเอียด จะเห็นว่ารัฐวิสาหกิจไทยมีขนาด และค่าใช้จ่ายเพิ่มจากร้อยละ 17 ของจีดีพี เป็น ร้อยละ 42 ในปัจจุบัน

ตรงนี้มีคำถามว่า รัฐวิสาหกิจใหญ่ไปหรือไม่ มีประสิทธิภาพหรือไม่ โกงหรือไม่ รวมถึงมีการ กวาดต้อนทรัพยากรไปอยู่ภายใต้อำนาจรัฐ

3.ขนาดสถาบันการเงิน ที่เพิ่มขึ้นมาจาก ร้อยละ 13 ของจีดีพี เป็นร้อยละ 42 และก่อให้เกิดคำถามเหมือนกับรัฐวิสาหกิจไทย ในเรื่องของขนาดใหญ่เกินไปหรือไม่ มีประสิทธิภาพหรือไม่ และโกงหรือไม่
ความจริงแล้วรัฐควรมีหน้าที่สร้างกฎกติกาและกลไก และปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกลไก แต่รัฐไทยหากไปดูรายละเอียดจะพบว่า รัฐไทยได้เข้าไปทำบทบาทแทนตลาด ซึ่งมีกฎระเบียบและมีอำนาจมาก โดยเฉพาะในเรื่อง จำนำข้าว รัฐได้เข้าไปยึดตลาดเข้ามาทำเอง เข้าไปจัดการทุกจุดโดยไม่ปล่อยไปตามกลไกตลาด

ส่วนเรื่องของอำนาจรัฐ อำนาจรัฐไม่ใช่อำนาจของรัฐบาลอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการออกกฎหมายเพื่อสร้างกลุ่มอำนาจใหม่ๆ อาทิ องค์กรอิสระ ที่มีบทบาทในการควบคุมทรัพยากรของรัฐ เมื่อมีอำนาจย่อมก่อให้เกิดกระบวนการที่ไม่โปร่งใสเกิดขึ้น

ดังนั้น จากข้อสรุป รัฐได้ขยายบทบาทและอำนาจมากมาย ซึ่งตรงกันข้ามกับทั่วโลก ดังนั้น วิธีการลดปัญหาคอร์รัปชั่น และปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจที่ดีที่สุด คือการลดอำนาจและบทบาทของรัฐให้น้อยลง
การแก้ปัญหาโครงสร้างในลักษณะนี้ 1.ต้องมีการลดขนาดของรัฐให้มากที่สุด 2.ทำให้มีประสิทธิภาพ และ 3.ป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหล อาจจะมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย มีการใช้รัฐนำ แต่ต้องมองด้วยว่าประเทศเหล่านี้มีระบบข้าราชการที่เข้มแข็ง ขณะที่บริบทของประเทศไทยในปัจจุบันไม่ได้เป็นอย่างนั้น

 

ผาสุก พงษ์ไพจิตร
ศาสตราภิชาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

จริงๆ แล้วปัญหาของเมืองไทย ไม่ได้ยิ่งใหญ่ ประเทศไทยได้ผันตัวเองจากประเทศที่มีรายได้ต่ำ เป็นประเทศที่มีรายได้กลางค่อนข้างสูง ต้องดูย้อนหลังไปว่าตั้งแต่ปี 2523 ประเทศไทยได้เข้าไปอยู่ในระบบการผลิตอุตสาหกรรมโลก ไปพึ่งการลงทุนจากต่างประเทศ เศรษฐกิจไทยก็เติบโตมาในระดับที่น่าพอใจพอสมควร แต่ต้องกลับมาดูว่าควรต้องทำอะไรอีก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเขยิบขึ้นไป โดยต้องดูว่านักลงทุนคาดหวังอะไรจากสังคมไทย

สิ่งสำคัญที่ต้องทำคือ การปรับคุณภาพของคนงานให้เขยิบขึ้นไปเรื่อยๆ ทันกับความต้องการของบริษัทที่เข้ามาลงทุน และทันความต้องการบริษัทไทยที่มีการพัฒนา

อีกประเด็นหนึ่งคือ เรื่องของสาธารณูปโภคมีเพียงพอหรือไม่ ในการตอบสนองความต้องการของบริษัทที่ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ และต้องมีการปฏิรูประบบภาษีเพื่อให้มีรายได้เพียงพอในด้านค่าใช้จ่ายในสิ่งเหล่านี้ รวมทั้งใช้จ่ายในการจัดการสินค้าและบริการสาธารณะ ซึ่งคนไทยต้องการเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และมีความสุขในการทำงานในสังคมเดียวกัน

มีข้อน่าสังเกต ก็คือเมืองไทยไม่ได้ลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มาตั้งแต่ปี 2540 ตอนแรกมีปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ทำให้ลงทุน ไม่ได้ แต่ระยะหลังเกิดความไร้เสถียรภาพในทางการเมือง จนไม่มีรัฐบาลใดดำเนินนโยบายทำให้มีการลงทุนด้านสาธารณูปโภคได้เป็นชิ้นเป็นอัน

สำหรับปัญหาทางการเมือง ทั้งที่ได้มีการพัฒนาทางการเมืองมาตลอด แต่ก็มาเกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จากการที่คนชั้นกลางเกิดกลัวพัฒนาการทางการเมืองภาคมวลชน จนเกิดความระส่ำระสายมาโดยตลอด

สรุปคือ รัฐไทยไม่สามารถจัดการเรื่องคุณภาพของคนงาน และแม้แต่บริหารการลงทุนด้านสาธารณูปโภค เพราะการเมืองไร้เสถียรภาพ

ขณะนี้กำลังมีความพยายามในเรื่องการปฏิรูปประเทศ เห็นว่าจะต้องมีบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนเข้าไปมีบทบาท คู่ขัดแย้งจะต้องมีส่วนในการปฏิรูป เพราะดูเหมือนว่าการปฏิรูปถูกจำกัดอยู่ในมือคนจำนวนน้อย มีการกีดกันคู่ขัดแย้งออกไป ผลของการปฏิรูปจึงเป็นที่พอใจของคนกลุ่มเล็กๆ แต่จะไม่สามารถเป็นที่พอใจของคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่มีโอกาสร่วมปฏิรูป

จึงมีความกังวลว่า แนวโน้มในอนาคตแทนที่จะได้ปฏิรูป เราอาจจะมีความขัดแข้งเพิ่มมากขึ้นหรือไม่

 

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย คือโครงสร้างการพัฒนา แม้ว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จมาก่อน และเติบโตในช่วงเวลาที่ผ่านมา แต่ได้สร้างผลเสียตามมาอย่างมากเช่นกัน ที่สำคัญคือ การปล่อยให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และการพึ่งพาตลาดส่งออกมากเกินไป ทำให้ประเทศผันผวนไปกับภาวะเศรษฐกิจโลก ใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อมมากเกินไป

ดังนั้น ต้องมีการปรับโครงสร้างการพัฒนา เช่นเดียวกับการทำธุรกิจ หากมีโครงสร้างธุรกิจที่ผิด การทำธุรกิจจะดำนินต่อไปไม่ได้ โครงสร้างการพัฒนาที่ผ่านมาส่งประเทศมาได้ไกลเท่านี้ จะหวังพึ่งต่อไปจึงเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ รวมถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย

หากมองต่อไปจะพบว่าการจะแก้ปัญหาทั้งหมด จะต้องมีการแก้ปัญหาในเรื่องของอุปทาน เพราะเวลารัฐบาลจะพูดถึงการ กระตุ้นเศรษฐกิจ จะพูดถึงด้านของอุปสงค์ซึ่งเป็นเรื่องของเศรษฐกิจระยะสั้น แต่โครงสร้างเศรษฐกิจเป็นเรื่องระยะยาว ซึ่งเป็นด้านของอุปทาน ซึ่งก็คือเรื่องของคุณภาพแรงงาน ระบบการศึกษา และคุณภาพของผู้ประกอบการ

ในตอนนี้ระบบการศึกษามี 3 คำ คือ แพง ห่วย และเหลื่อมล้ำ การศึกษาแพงเพราะต้นทุนในการบริหารจัดการสูง ทั้งที่มีงบการศึกษาที่สูงกว่างบบริหารจัดการภาครัฐทั่วไป เพราะในด้านนโยบายเกิดปัญหาในเรื่อง การจัดการ ไม่มีใครที่จะกล้าแตะปัญหาในเชิงโครงสร้างที่เกี่ยวพันส่งผลต่อคนจำนวนมาก

ปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา และ การยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ต่างมีปัญหาคล้ายกันคือ รัฐบาลอายุสั้น แต่ปัญหาอายุยาว ต้องแก้กันนาน ปัญหาในเรื่องการศึกษาถ้าจะแก้กันให้ดีต้องใช้ความต่อเนื่องอย่างน้อย 10-20 ปี แต่รัฐบาลอยู่เต็มสมัยเพียงสี่ปี หรือน้อยกว่านั้นด้วยซ้ำ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมาแล้ว 17 คน คนที่อยู่สั้นที่สุด คือ 2-3 เดือน เมื่อเป็นเช่นนี้จะคิดหาทางแก้ปัญหาที่ต้องใช้เวลายาวนานได้อย่างไร

ตรงนี้เป็นโจทย์ใหญ่ในการแก้ปัญหาทุกประเด็น หากรัฐบาลอายุสั้น ปัญหาอายุยาว จะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างไร

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการอิสระ

ปัญหาเชิงโครงสร้างที่แก้ไม่ออก ตกทอดมาตั้งแต่อดีตและสืบทอดมาจนปัจุบัน สรุปได้ว่าประเทศนี้เป็นประเทศที่ผ่านการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ โดยจำกัดกลุ่มคนที่เป็นผู้นำในการเข้าสู่สมัยใหม่จำนวนน้อย แบ่งผลประโยชน์กันจำนวนน้อย สืบมาจนทุกวันนี้ เข้ามาอยู่ในยุคที่เรียกว่าตลาดที่มีผู้ขายเพียงน้อยราย คนจำนวนน้อยเพียงหยิบมือเดียวมีผลต่อตลาดมากกว่าร้อยละ 70-80

หากไล่ย้อนไปตามประวัติศาสตร์ ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้เป็นอาณานิคม ยังไม่เคยผ่านประสบการณ์ของการกู้เอกราช ยังไม่มีการเปลี่ยนสังคม ทั้งสังคม ดังนั้น ต้องทำให้คนรู้สึกว่าเราเป็นพวกเดียวกัน เสมอภาคกัน และอยู่ร่วมกันภายในชาติเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ใหญ่ เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงมนุษย์มาก เพราะชาติเป็นรัฐชนิดเดียวในโลกนี้ที่ยอมรับว่า ชาติเป็นสมบัติของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

การที่มีคนไปยืนถือธงชาติ แต่มองคนไม่เท่าเทียมกัน แสดงว่า ไม่ได้รักชาติจริง เพราะรักแต่ธงชาติ ฉะนั้นสังคมไทยยังไม่ได้เปลี่ยนตรงนี้ คนไทยจึงยอม จึงมองเห็นคนเป็นช่วงชั้น จึงไม่สามารถแก้ปัญหาได้

“ตลาดที่มีผู้ขายเพียงน้อยราย” เกิดขึ้นจากการเมืองแบบใด คำตอบคือจะต้องมีกลุ่มคณาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ หรือนักการเมือง ที่ร่วมกับพวกทุน แล้วแบ่งผลประโยชน์กัน จึงจะเกิดตลาดที่มีผู้ขายเพียงน้อยรายขึ้นได้ ซึ่งเป็นคอร์รัปชั่นที่ยิ่งใหญ่มากๆ ในสังคมไทยที่ไม่มีใครพูดถึง

หลายคนมองว่า คณาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ไม่ดี แต่กลับไปหาคณาธิปไตยที่มาจากการรัฐประหารแทน เพื่อที่จะแก้ปัญหา ตลาดที่มีผู้ขายเพียงน้อยราย ถือเป็นเรื่องที่ตลกสิ้นดี เป็นการคิดอะไรแปลกๆ ที่ตามไม่ทัน อย่างคนที่อยู่ในอาณานิคมโดยแท้

แนวโน้มของการปฏิรูปในรอบนี้ ไม่ใช่การปฏิรูป อย่างที่เราพูดถึง แต่เป็นเรื่องของการปรับ เป็นการรวมกลุ่มของกลุ่มคณาธิปไตยใหม่อีกกลุ่มหนึ่ง ในขณะที่หลายกลุ่มถูกกำจัด บางกลุ่มถูกกันออกไป ในขณะที่อีกหลายกลุ่มพยายามทำทุกวิถีทาง ด้วยการซื้อ ประจบ เพื่อที่จะสามารถผนวกรวมเป็นคณาธิปไตยใหม่นี้ได้

จึงไม่ใช่การปฏิรูปอย่างที่เราหมายถึง แต่เป็นการเปลี่ยนรูปของคณาธิปไตยใหม่

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 31 ตุลาคม 2557