ทางเลือกยกระดับเศรษฐกิจไทยระยะยาว

ปี2014-10-09

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


TDRI แนะไทยเน้นสร้าง Growth ลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อหลุดจากกับดักรายได้ปานกลาง


เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาทางวิชาการเรื่อง “การยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจระยะยาวของไทย” โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยโมเดลใหม่ในการพัฒนาประเทศ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเข้าใจทางเลือกในการพัฒนาประเทศ การเสนอนโยบายสาธารณะที่เหมาะสมเกี่ยวกับนโยบายมหภาคและการเงินการคลังต่อกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการแสดงความคิดเห็นอย่าง “ถูกเรื่อง” ในแนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจร่วมกัน

สำหรับผลการศึกษาครั้งนี้เป็นผลการศึกษาในปีแรกที่มุ่งหาแนวทางการขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ทั้งนี้ การเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น (Higher Growth) มีปัจจัยเกี่ยวข้องหลายประการที่ต้องปรับปรุงและยกระดับไปพร้อมกัน ได้แก่ การยกระดับเทคโนโลยี การปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ตลาดแรงงานในบริบทการพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมผู้สูงอายุและผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาคอร์รัปชั่นกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังต้องคำนึงถึงปัจจัยเชิงสถาบันที่จะเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายที่สร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจด้วย

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อข้ามพ้นกับดักรายได้ปานกลาง นักวิจัยได้เร่งศึกษาแนวทางที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ภายใต้หลักธรรมาภิบาล หลังพบว่าอัตราการขยายตัวของไทยเป็นไปอย่างค่อนข้างช้า นับตั้งแต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแม้ประเทศไทยถูกจัดเป็น 1 ใน 13 ประเทศที่เติบโตแบบก้าวกระโดดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 7% โดยอยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลับพบว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยลดต่ำลง โดยขยายตัวเฉลี่ยเพียงปีละ 4% เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสุ่มเสี่ยงว่าไทยกำลังตกอยู่ในกับดักประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap: MIT)

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ
ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ

ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ ระบุว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับการยกระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นหัวใจหลักที่ไทยต้องคำนึง ก็คือการยกระดับเทคโนโลยีในภาพรวม (Technological Upgrading) โดยต้องใช้ระบบตลาดควบคู่ไปกับการส่งเสริมของภาครัฐ ซึ่งรวมถึงปัจจัยเชิงสถาบันทางด้านการเมือง แม้จะต้องใช้เวลานานและต้องมีกระบวนการที่ต่อเนื่องพอสมควร การศึกษาวิเคราะห์โดยใช้แนวคิดจากงานวิจัยของ Khan (2007) ที่เสนอแนวคิด Growth Enhancing Governance หรือระบบธรรมาภิบาลเพื่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งต่างจากระบบธรรมาภิบาลเพื่อส่งเสริมกลไกตลาด (Market- Enhancing Governance) ที่ใช้กันค่อนข้างมาก งานวิจัยของ Khan (2012) เป็นงานวิจัยที่ควรนำมาปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย Khan (2007) ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในระยะ 10 ปีหลัง เป็นโอกาสของการก้าวสู่ Growth Enhancing Governance เพราะฝ่ายบริหารเข้มแข็งขึ้นจนมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในการเติบโตได้ แต่พบว่าไทยกลับเสียโอกาสนั้นไป เนื่องจากไม่มีการกระจายอำนาจทางการเมืองไปสู่ภาคส่วนอื่นอย่างแท้จริง หรืออีกนัยหนึ่งคือเกิดการเมืองแบบผูกขาด ภายใต้หน้ากากประชาธิปไตย (Authoritarianism with democratic face) ซึ่งก่อให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อพวกพ้อง (unproductive rent) มากกว่าการสนใจ Technological upgrading อย่างแท้จริง

ดร.สมชัยเสนอแนะแนวมาตรการเชิงสถาบัน 4 ด้าน คือ ประการแรก ต้องควบคุมคอร์รัปชั่น ประการที่สอง เพิ่มอำนาจต่อรองทางการเมืองให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ และปฏิรูปการเมืองให้นักการเมืองต้องตอบโจทย์ระยะยาวของประชาชน ประการที่สาม สร้างกลไกให้เกิดการส่งผ่านเสียงของประชาชน เพื่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ประการสุดท้ายคือควรปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อนำแนวนโยบายในลักษณะ growth enhancingไปสู่การปฏิบัติ

อย่างไรก็ตาม ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง ทีดีอาร์ไอ เตือนว่า การปฏิรูปใดๆ ควรคำนึงถึงโครงสร้างอำนาจด้วย ซึ่งหมายความว่าการปฏิรูปควรทำอย่างรอบด้าน ไม่ใช่เพียงแก้ไขมาตรการใดมาตรการหนึ่ง โดยเชื่อว่าหากมีการปรับตัวขนานใหญ่ภายใต้ระบบหลักธรรมาภิบาลที่ดี โดยเน้นส่งเสริมการลงทุนไปยังกลุ่มเป้าหมายธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง เพื่อให้ภาคธุรกิจบริการมีศักยภาพสูงขึ้นความเข้มแข็งในภาคเศรษฐกิจของไทยก็จะตามมาในที่สุด.