ตะวัน หวังเจริญวงศ์
การปฏิรูปด้านต่างๆ เปรียบเสมือนวาระระดับชาติที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ตลอดจนภาคประชาชนให้ความสนใจ Eisenhower Fellowships Alumni (Thailand) และ Eisenhower Fellowships จัดสัมมนาหัวข้อ “ปฏิรูปประเทศไทย-ปฏิรูปอะไรและอย่างไร” โดยมีวิทยากรจากหลากหลายภาคส่วนร่วมแสดงทัศนะในการปฏิรูปเมืองไทย
สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สถานการณ์ความคิดของคนยุคปัจจุบันกำลังมองประชาธิปไตยและประชานิยมเป็น “สิ่งตรงข้าม” กัน มาตรา 35(7) และ 35(8) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 กำหนดถ้อยคำซึ่งตีความได้ว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรจะต้องวางกลไกห้ามนโยบายประชานิยมที่สร้างความเสียหายต่อประเทศและประชาชนระยะยาว น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการห้ามนโยบายประชานิยมทั้งหมด
“ในสังคมประชาธิปไตยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง จะมีแรงกดดันให้เกิดการกระจายรายได้ รวมถึงการใช้นโยบายประชานิยม ถ้าห้ามรัฐบาลมีนโยบายอย่างใดอย่างหนึ่งจะกลายเป็นการจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลหรือพรรคการเมืองในการเสนอนโยบาย และจำกัดเสรีภาพของประชาชนในการเลือกด้วย”
อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้หลุดพ้นจากประชานิยมที่สร้างความเสียหาย มีข้อเสนอ 5 ข้อ ได้แก่ 1.แก้กฎหมายการเลือกตั้ง กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งต้นทุนการคลังของนโยบายที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งต่อประชาชน และหากได้เป็นรัฐบาล ก็ห้ามใช้เงินทุนเกินกว่าที่หาเสียงไว้ 2.มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ใช้เงินได้เฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ห้ามใช้เงินนอกงบประมาณ
3.มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้ตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กำหนดกรอบวินัยทางการคลัง เช่น การก่อหนี้ 4.จัดตั้งหน่วยงานฝ่ายนิติบัญญัติ คือ สำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา ซึ่งเป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร ทำหน้าที่วิเคราะห์และตรวจสอบการใช้งบประมาณและผลกระทบของนโยบายฝ่ายบริหาร และ 5.ลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาส
ด้าน วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาทีดีอาร์ไอ วิเคราะห์สอดคล้องกันว่า หากจะปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ต้องยึดเรื่องประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและยั่งยืน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและการทำงานให้ประชาชนทุกคน
นอกจากนี้ มี 4 หลักคิดที่ต้องใช้เป็นแนวทางปฏิรูป คือ1.ให้ความสำคัญกับคุณภาพมากกว่าปริมาณ เนื่องจากไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนหนุ่มสาวต้องมีรายได้สูงขึ้นทำงานที่พรีเมียมมากขึ้น ผลิตภาพสูงขึ้น ไทยต้องหยุดตั้งเป้าเชิงตัวเลข 2.ส่งเสริมการแข่งขันระหว่างรัฐและเอกชน โดยภาครัฐต้องมีขนาดเล็กลง เอื้อให้เกิดทางเลือกมากขึ้น เปิดเสรีใบอนุญาตต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้
3.สร้างภูมิคุ้มกันให้ระบบเศรษฐกิจไทย ป้องกันปัญหาทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอก ทั้งหนี้ครัวเรือน ภัยธรรมชาติการเงินต่างประเทศ จูงใจให้ทุกฝ่ายทำเรื่องต่างๆ ร่วมกันอย่างเป็นพลวัต แชร์ต้นทุน แชร์ปัญหา ไม่ใช่เกิดปัญหาแล้วก็ไปขอความร่วมมือเอกชน ต้องแก้ปัญหาร่วมกัน
ขณะที่ รพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ บอกว่า การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต้องทำทั้งกระบวนการ เริ่มจาก 1.ปฏิรูปชุดความคิดของผู้ออกนโยบาย2.มีองค์กรที่เป็นเจ้าของเรื่องในการดูแลและมีความเป็นอิสระ3.ทบทวนว่ารัฐวิสาหกิจบางแห่งควรมีอยู่หรือไม่ จุดมุ่งหมายมีเพื่อแข่งกับเอกชน หรือทำในบางเรื่องที่เอกชนทำไม่ได้
4.มีวัตถุประสงค์การดำเนินงานขององค์กรที่ชัดเจน มีเคพีไอที่สอดคล้องกับทิศทาง 5.มีผู้บริหารที่มีคุณสมบัติเหมาะสมและสอดคล้องกับการวางเคพีไอ 6.ติดตามการทำงานของผู้บริหารไม่ได้เอื้อประโยชน์ใครคนใดคนหนึ่ง
ด้านการปฏิรูปการศึกษานั้น อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ บอกว่าต้องทำ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.แบ่งงบประมาณลงไปพัฒนาระดับพื้นที่จังหวัดมากขึ้น ให้คนปฏิบัติงานในพื้นที่ได้จัดการเอง ไม่ใช่ให้คนวางแผนคิดแทนคนปฏิบัติ 2.ตั้งกองทุนเพื่อการปฏิรูปโดยตรง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องแก้ระยะยาว ขณะที่รัฐบาลชุดปัจจุบันมีวาระแค่ 1 ปีกว่า และ 3.ปฏิรูปครู พร้อมทั้งหลักสูตรครุศาสตร์และศิลปศาสตร์กันใหม่ โดยนำร่องเป็นพื้นที่และหาแรงจูงใจให้ได้ครูใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบ
“ช่วงนี้เป็นช่วงที่มีนักวิชาการอยากเข้ามาช่วยปฏิรูปการศึกษาจำนวนมาก ไม่ทำตอนนี้ เราก็อาจไม่มีโอกาสปฏิรูปแล้ว”
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 ตุลาคม 2557