ปัญหาการปิดบัญชีผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ใช้เงินกว่า 9 แสนล้านบาท ไปรับซื้อข้าวทุกเมล็ดในราคาตันละ 1.5 หมื่นบาท ไม่เพียงสะท้อนปัญหาการทำงานของหน่วยงานรัฐและความขัดแย้งของหน่วยงานที่ซุกซ่อนปัญหาข้าวล่องหน 3 ล้านตันเท่านั้น หากแต่สะเทือนไปยังหลายเรื่อง
นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าถึงเวลาแล้วที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องใช้อำนาจพิเศษในการจัดการปัญหา เพราะผ่านมานานตั้งแต่รัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 และปัจจุบันกำลังจะสิ้นเดือน ต.ค.แล้ว แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่สามารถปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวได้ จึงแนะนำว่า คสช.ควรจะใช้อำนาจพิเศษได้แล้ว
หากผู้ใดไม่ส่งข้อมูลต้องถือว่ามีความผิด ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เพราะผลขาดทุนข้าวถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายสำหรับประเทศ ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้ว่ารัฐบาลจะขาดทุนจากโครงการนี้จำนวนเท่าไร ขณะนี้มีแต่ประมาณการความเสียหายจากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดเท่านั้น
ที่สำคัญคือ รัฐบาลจะไม่สามารถขายหรือระบายข้าวออกไปได้ เพราะหากมีการขโมยข้าวออกไป หรือมีข้าวยังติดคดีอยู่ รัฐบาลยังสุ่มเสี่ยงอยู่ว่าจะขายข้าวออกไปได้หรือไม่ จึงต้องตรวจสต๊อกเพื่อให้มีตัวเลขปริมาณข้าวที่ชัดเจนออกมาก่อน
หากตรวจสอบแล้วว่ามีข้าวที่ไม่ได้คุณภาพตามที่กำหนดไว้ เช่น เดิมกำหนดให้ส่งข้าวหอมมะลิ แต่กลายเป็นส่งข้าวเจ้ามาแทนก็จะเป็นคดีความ จึงต้องไปดูว่าเป็นโกดังไหน ข้าวรุ่นไหน จำนำรอบไหนรัฐบาลต้องรู้ข้อมูลพวกนี้ก่อน จึงจะสามารถกล่าวหาผู้กระทำผิดและระบายข้าวออกไปได้ หากไม่รู้ก็ขายไม่ได้ เพราะอาจระบายกองข้าวที่มีปัญหาทุจริตออกไปซึ่งจะเท่ากับไปล้างคดีให้กับผู้กระทำผิด
เพราะฉะนั้นต้องถือว่าพวกที่ไม่ยอมส่งข้อมูลการรับจำนำข้าวกำลังร่วมกันปกปิดข้อมูล ก็ย่อมมีส่วนร่วมทุจริตด้วย
เรื่องแบบนี้ไม่สามารถอาศัยอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำได้แล้ว ในเวลานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องใช้อำนาจพิเศษของ คสช.เพราะเป็นอำนาจเด็ดขาดที่มีอยู่ในมืออยู่แล้ว และกรณีนี้รัฐบาลจะนิ่งเฉยไม่ได้แล้ว
“สำหรับเรื่องคดีความคงต้องขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ที่คงต้องไปตัดสินกันว่าจะมีมติอย่างไร เข้าใจว่าจะมีการประชุมเรื่องสำนวนกับอัยการในเร็วๆ นี้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือต้องมีข้อมูลก่อนจะทำสำนวนกล่าวหารัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องได้ ตอนนี้สำนวนกล่าวหารัฐมนตรีชุดแรกเรื่องการขายข้าวแบบจีทูจีก็ยังไม่ออกมาเลย ต้องเร่งให้ออกมา และความเสียหายจากการรับจำนำข้าวนี่แหละคือฐานสำคัญที่จะนำไปสู่ข้อกล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรีต่อไป” นิพนธ์ กล่าว
ส่วนปัญหาข้าวที่ค้างสต๊อกนั้น ภาคเอกชนก็สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แล้วว่า วันหนึ่งรัฐบาลจะต้องระบายข้าวออกมา ทำให้ราคาข้าวยังถูกกดให้ต่ำอยู่ส่วนตัวเห็นด้วยกับ กรณ์ จาติกวณิช อดีต รมว.คลัง ที่แนะนำให้ปิดบัญชีให้รู้ชัดเจนก่อนว่ามียอดขาดทุนเท่าไรจึงจะสามารถตั้งงบประมาณชดเชยทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้จบไปได้ ไม่ใช่ปล่อยให้คาราคาซัง
เพราะผลของการปล่อยให้คาราคาซังเช่นนี้ยังมีผลกระทบต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นของประเทศไทยในระยะยาวด้วย เนื่องจากต้องมีการตั้งงบมาชดเชยทุกปี รัฐบาลควรทำให้ประชาชนรู้ด้วยว่า ส่วนหนึ่งที่เศรษฐกิจไทยตกต่ำอยู่ในทุกวันนี้เป็นเพราะความเสียหายจากการรับจำนำข้าวที่ยังไม่สามารถทำอะไรได้ ทำได้แต่เพียงชำระหนี้ไปทุกปีๆแทนที่จะนำเงินงบประมาณไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน โรงเรียน ท่าเรือ
สำหรับตัวเลขคาดการณ์ขาดทุน 5 แสนล้านบาทนั้น ยังอยู่บนสมมติฐานของราคาข้าวในท้องตลาด ณ วันนี้ แต่ในข้อเท็จจริงคือ ยิ่งขายข้าวช้าออกไปราคาก็จะยิ่งตกลง และจะยิ่งทำให้ขาดทุนหนักมากขึ้นอีก และกระทบต่อเครดิตประเทศด้วย
“เรื่องคดีก็เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. แม้ว่าจะมีความพยายามขวางไม่ให้ปิดบัญชีเสร็จก็ตาม แต่รัฐบาลต้องหันมาใช้อำนาจ คสช.ปิดบัญชีจำนำข้าวให้ได้ จุดนี้จะข้ามช็อตไม่ได้ ต้องตรวจให้จบ เสร็จแล้วจึงจะสามารถทำแผนได้ว่าจะรีไฟแนนซ์หนี้ข้าวก้อนโตได้อย่างไร จะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งจะช่วยเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้ เพราะเป็นเงินก้อนใหญ่ของประเทศ ดีกว่าต้องเสียเงินไปโรดโชว์เสียอีก” นิพนธ์ กล่าว
ด้าน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หากปล่อยให้ล่าช้าออกไปเท่าไหร่ ย่อมเป็นผลเสียกับทางรัฐบาล แม้จะไม่เกี่ยวกับผลทางคดี แต่ส่งผลกับทางการเมืองอย่างมาก
ปัจจุบันในโซเชียลมีเดียมีความพยายามโยงประเด็นเรื่องการตรวจสอบข้าวที่ล่าช้า เพราะไม่พบความเสียหายอย่างที่กล่าวอ้างในตอนแรก ดังนั้นจึงต้องรีบออกมาชี้แจงเพื่อไม่ให้ถูกหยิบยกนำไปปลุกปั่นทางการเมือง
“ความล่าช้าที่เกิดขึ้นจะเกี่ยวข้องกับคดีความที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพราะความผิดและความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้วชัดเจน หรือคดีทางอาญาที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันของ ป.ป.ช.และอัยการ และไม่เกี่ยวกับคดีการระบายข้าวแบบจีทูจีของรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง เพราะคดีเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับผลการตรวจสอบความเสียหาย” นพ.วรงค์ วิเคราะห์
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 28 ตุลาคม 2557