หุ้นส่วนเศรษฐกิจ “ไทย-เกาหลีใต้” บททดสอบเพิ่ม “โอกาส” ทางการค้า

ปี2014-10-07

นับตั้งแต่ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้มีผลบังคับใช้ การค้าระหว่างอาเซียนกับเกาหลีใต้ก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วในอัตราเฉลี่ย 14% ต่อปี ซึ่งอาเซียนกลายเป็นหนึ่งในตลาดส่งออกอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ และแหล่งที่มาเป็นอันดับ 2 ในการนำเข้าสินค้าจากเกาหลีใต้เช่นกัน

แม้ภาพรวมในปัจจุบันดูเหมือนจะเป็นบวก แต่หากมองเฉพาะการค้าของไทยกับเกาหลีใต้ พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพียง 12% ต่อปี หากเทียบกับเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวทางการค้ากับเกาหลีใต้สูงสุดถึง 29%

กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จึงร่วมจัดสัมมนาเวทีสาธารณะเรื่อง “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ระหว่างไทยและเกาหลีใต้” (Comprehensive Economic Partnership Agreement : CEPA) เพื่อศึกษาถึงข้อดี-ข้อเสียบนสมมติฐานว่าความตกลงที่ครอบคลุมทั้งในเรื่องการเปิดตลาดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายแรงงาน รวมทั้งการดำเนินความร่วมมือในสาขาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์โดยเฉพาะต่อการพัฒนาขีดความสามารถของไทย

นายดำรง ใคร่ครวญ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออก กล่าวว่า ตัวเลขความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-เกาหลีใต้ต่ำกว่าศักยภาพที่มีอยู่ โดยตัวเลขการค้าไทย-เกาหลีใต้ในปี 2556 มีมูลค่าเพียง 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์ เทียบกับการค้าระหว่างญี่ปุ่นและจีนมูลค่าถึง 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์ และ 6.5 หมื่นล้านดอลลาร์ตามลำดับ และอีกประเด็นที่น่าหนักใจคือ การที่ผู้ประกอบการจากเกาหลีใต้หันไปให้ความสนใจลงทุนในอินโดนีเซียและ เวียดนามมากกว่า เพราะด้วยความพร้อมทั้งด้านแรงงานและเงินทุนที่ชัดเจนกว่าไทยโดยพบว่าเงินลง ทุนของเกาหลีใต้ที่เข้ามาในไทยเพียง 3.94 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินลงทุนในเวียดนาม 4.46 พันล้านดอลลาร์ และอินโดนีเซีย 5.27 พันล้านดอลลาร์

การศึกษาความร่วมมือ “ซีปา” อยู่ภายใต้ความเห็นชอบของผู้นำทั้ง 2 ประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะขยายการค้าระหว่างกันที่ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ปี 2555

ผศ.ดร.วิศาล บุปผเวศ ที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และหัวหน้าคณะวิจัย กล่าวถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับความร่วมมือซีปาว่า จะสามารถลดความเหลื่อมล้ำของกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคของอาเซียน (RCEP) และเอฟทีเอได้หากข้อตกลงระหว่างกันยัไม่ครอบคลุม

นอกเหนือจากกรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ (AKFTA) การหาแนวทางเพิ่มพูนการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-เกาหลีใต้ที่ครอบคลุมผล ประโยชน์มากขึ้น จะพัฒนเศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้นเทียบเท่ากับประเทศอื่น

“ไทยเป็นประเทศที่เก่งในด้านการส่งออกขณะที่เกาหลีใต้เป็นแหล่งนำเข้าของโลก ดังนั้น โอกาสที่ไทยและเกาหลีใต้จะร่วมมือเพิ่มตัวเลขทางการค้าร่วมกันนั้นสูง แต่เพราะหลายปัจจัยที่ยังเป็นอุปสรรคการค้าระหว่างกัน ได้แก่ มาตรการภาษีศุลกากร ซึ่งเกาหลีใต้มีอัตราภาษีที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเกษตร ขณะที่ไทยก็มีกำแพงภาษีสูงในภาคอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ เครื่องหนัง และอัญมณี”

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี ทั้งสองฝ่ายจะอ้างวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และความเป็นธรรมในเวทีการแข่งขัน ทั้งที่ความเป็นจริงเป็นการกำหนดมาตรฐานที่สูงเกินควร และพยายามเพิ่มขั้นตอนที่ซับซ้อน

ขณะที่วิทยากรอีก 3 ท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯ นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ต่างเห็นพ้องกันว่าหากไทยและเกาหลีใต้สามารถบรรลุข้อตกลงซีปาได้ จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยสามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางบวก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลดอัตราภาษีเป็น 0% และเพิ่มความสะดวกทางการค้ามากขึ้น จะทำให้สินค้าไทยที่มีโอกาสที่จะขยายการส่งออกไปยังเกาหลีใต้มากขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋อง น้ำตาล เอทิลแอลกอฮอล์ อาหารสัตว์ เคมีภัณฑ์บางชนิด เครื่องสูบเชื้เพลิง เป็นต้น

ขณะที่นายยุทธนากล่าวว่า หากกรอบความร่วมมือซีปาบรรลุผล จะทำให้อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยก็มีโอกาสที่จะพัฒนาไปอีกขั้น เพราะเกาหลีใต้เป็นชาติที่มีการแต่งกายที่ทันสมัย และเป็นที่นิยมของหลายประเทศทั่วโลก แม้ผลตอบแทนค่าแรงงานในเกาหลีใต้จะสูงกว่าไทยหลายเท่า ส่งผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นตาม แต่สินค้าประเภทเครื่องนุ่งห่มยังสามารถตีตลาดในหลายประเทศได้ โดยเฉพาะชาติเอเชีย

นั่นเป็นเพราะ เกาหลีใต้เป็น “เจ้าแห่งการทดสอบ” ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย หมายความว่าไทยมีโอกาสเรียนรู้กระบวนการทำงานและการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ได้

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 6-8 ตุลาคม 2557