“วิรไท” เปิด 5 ข้อเสนอปฏิรูปเศรษฐกิจ หนุน กม. การเงินการคลัง-พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้าทันเข้า สนช. ปีนี้

ปี2014-10-16

“วิรไท” แนะ 5 ข้อปฏิรูปเศรษฐกิจไทย “เน้นคุณภาพ-ส่งเสริมการแข่งขันภาคเอกชน-ลดความเหลื่อมล้ำ-สร้างภูมิคุ้มกัน-พัฒนาอย่างยั่งยืน” หนุนมีกฎหมายการเงินการคลัง, กฎหมายการแข่งขันทางการคลังภายในปีนี้

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวในงานเสวนา “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอะไร และอย่างไร” ที่จัดขึ้นโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ว่า หลักคิดในการปฏิรูปเศรษฐกิจไทยต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนไทยในองค์รวม เพื่อให้ความเป็นอยู่ดีขึ้นและเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำได้ต้องอาศัยหลัก 5 ข้อคือ

1) ประเทศไทยควรให้ความสำคัญในการเน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณในการผลิตสินค้า เพราะปัจจุบันประชากรในวัยทำงานค่อนข้างมีจำกัด ขณะที่โครงสร้างประชากรก็ปรับเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหันมาเน้นคุณภาพสินค้ามากกว่าปริมาณที่ทำได้จำกัด เช่น การส่งออกข้าวไม่จำเป็นว่าประเทศไทยต้องเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่จะทำอย่างไรให้ข้าวมีคุณภาพมากกว่า

2) การส่งเสริมการแข่งขันของภาคเอกชนให้มากขึ้น โดยภาครัฐจะต้องเป็นกำลังหลักในการผลักดันภาคเอกชนและทำขนาดของภาครัฐให้เล็กลงเรื่อยๆ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และปล่อยให้ภาคเอกชนดำเนินงานตามกลไกของตลาดทำให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี เนื่องจาก ปัจจุบันยังไม่มีการเปิดเสรีอย่างเต็มที่ในการแข่งขัน เพราะยังติดในส่วนของภาครัฐที่ควรกำหนดนโยบายและทิศทางที่ชัดเจน

3) การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงของประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้ได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้เข้าถึงทั้งในส่วนของการทำงาน ระบบความยุติธรรม การศึกษา สาธารณูปโภค

4) ต้องมีระบบรองรับความเสี่ยงและสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเศรษฐกิจของประเทศจากปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ ที่เกิดจากทั้งในและต่างประเทศ ภัยธรรมชาติ อาทิ ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาเศรษฐกิจโลก ระบบการเงินของโลกที่จะเปลี่ยนไปจากการถอนมาตรการคิวอีของสหรัฐ เป็นต้น และ

5) การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่ต้องอาศัยการประสานนโยบายให้เกิดความต่อเนื่อง สร้างแรงจูงใจให้เห็นแก่ผลประโยชน์ของประเทศ ภาคธุรกิจและสังคม ให้สามารถขับเคลื่อนไปด้วยกันได้

“ปีนี้เป็นปีที่เป็นโอกาสในการเร่งปฏิรูปในทุกๆ ด้าน แต่จะให้กำหนดกรอบว่าจะต้องดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อไหร่ คงลำบากเพราะทุกอย่างต้องใช้เวลา แค่เริ่มได้ก็ถือเป็นการวางรากฐานที่ดีมากแล้ว โดยเริ่มจากการแก้ไขกฎหมายในด้านต่างๆ เพื่อกำหนดให้ทุกอย่างเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง แน่นอน ย่อมมีเสียงคัดค้านบ้างเป็นธรรมดา นั่นเพราะโดยธรรมชาติของคนย่อมกลัวกับการเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าไม่มีการปฏิรูป ประเทศไทยก็ไม่เดินหน้า”

นายวิรไท กล่าวว่า ในปีนี้มีกฎหมายหลายเรื่องที่ต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นได้ เช่น พ.ร.บ.การเงินการคลัง ทั้งที่มี พ.ร.บ.ธปท.ออกมาตั้งแต่หลังปี 2540 แต่ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแลภาคการคลังยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยการใช้งบประมาณการคลังหรือการทำนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายประชานิยมมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นเดียวกับการจำนำข้าวที่ขาดทุนมหาศาล
อีกส่วนจะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการขอใบอนุญาตที่ต้องมีความโปร่งใส ยกตัวอย่างกรณี ใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4 ) ที่ก่อให้เกิดปัญหาความวุ่นวายแก่ภาคธุรกิจจนเดินไปสู่การคอรัปชั่นได้ รวมถึง พรบ.การแข่งขันทางการค้า ที่ต้องเดินไปสู่การปฏิบัติได้จริง และดำเนินไปสู่บริบททางเศรษฐกิจใหม่ที่มีความเป็นธรรมและยั่งยืน

 


เผยแพร่ครั้งแรก: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ วันที่ 15 ตุลาคม 2557