เมื่อเร็ว ๆ นี้ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้จัดงานเสวนาเรื่อง “Contracting Farming คืออะไร?: เกษตรไทยได้หรือเสียผลประโยชน์” เพื่อคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่ง ตลอดจนเพื่อสร้างควมเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับเกษตรกรในระบบ ภายในงานมีผู้รู้มากมายจากหลากหลายสาขาวิชาชีพเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เข้าร่วมเป็นวิทยากรและมีผู้สนใจเข้าฟังการเสวนาอย่างคับคั่ง
เริ่มต้นที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายปิติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา กล่าวเปิดงานพร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การทำ Contract Farming ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย” โดยระบุว่า คอนแทรคฟาร์มมิ่งเป็นทางออกหนึ่งในการพัฒนาด้านการเกษตร ช่วยพัฒนาชัพพลายเชนให้มีมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งปัจจัยความสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับ 1.) บริษัทต้องเลือกเกษตรที่มีความชำนาญ 2.) เกษตรกรต้องเลือกบริษัทที่มีความมั่นคง 3.) เกษตรกรต้องเลือกลักษณะสัญญาให้เหมาะสมกับตนเอง 4.) ทั้งสองฝ่ายต้องเข้าใจความเสี่ยงของกันและกันทั้งความเสี่ยงด้านการผลิตและการตลาด มีการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ รวมไปถึงภาควิชาการและสื่อสาธารณะด้วย 5.) ความเชื่อถือซึ่งกันและกันก็สำคัญ ไม่ใช่คิดแต่ว่าฝ่ายไหนจะมาเอาเปรียบ….ย้ำว่าการแลกเปลี่ยนความรู้และข้อมูลระหว่างกันนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหากปราศจากการเข้าใจกลไกร่วมกันแล้วความสำเร็จคอนแทรคฟาร์มมิ่งก็เป็นเรื่องยาก
ส่วนการเสวนา “Contracting Farming คืออะไร?: เกษตรไทยได้หรือเสียผลประโยช์” มีกูรูด้านคอนแทรคฟาร์มมิ่งมาร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นกัน โดยเฉพาะ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข และการเกษตรสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ผู้เชี่ยวชาญด้านคอนแทรคฟาร์มมิ่งแถวหน้าของไทยอีกท่านหนึ่งระบุว่า ระบบนี้ก็คือการทำธุรกิจที่มีสัญญาข้อตกลงไว้ล่วงหน้าภายใต้เงื่อนไขว่าจะขายให้ใครและมีการกำหนดราคา (แล้วแต่กรณี) โดยระบบนี้ดำเนินการในภาคเกษตรหลายประเภททั้งพืชและสัตว์ อาทิ หมู ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด อ้อย ข้าวโพด ผัก ผลไม้ หรือแม้แต่ที่ทำสัญญากับต่างประเทศ เช่น ถั่วแระที่เกษตรกรไทยทำสัญญากับญี่ปุ่น ระบบนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมากต้องศึกษาจึงจะเกิดความเข้าใจ จึงทำให้มีสื่อมวลชน นักวิชาการและ NGO บางสวนที่อาจจะยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ ส่งผลให้มีมุมมองตามความเชื่อที่บอกต่อ ๆ กันมา หรือเรียกว่า “มายาคติ”
มายาคติที่ 1 คอนแทรคฟาร์มมิ่งเป็นเรื่องเลวร้าย? ทั้งที่ในความเป็นจริงสัญญานี้เกิดขึ้นเพราะคู่สัญญามาลงนามกัน และระบบนี้เกิดมานานมากหากเลวร้ายจริงคงไม่มีระบบนี้อยู่แล้ว แต่กลับเติบโตอย่างมากในปัจจุบัน
มายาคติที่ 2 คอนแทรคฟาร์มมิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกษตรกร? ปกติเกษตรกรจะไม่รู้เลยว่าสินค้าของตนเองจะขายได้ในราคาเท่าไหร่ไม่รู้ว่าผลผลิตประเภทเดียวกันจะออกมาล้นตลาดขนาดไหน ซึ่งส่งผลถึงราคาและรายได้ที่เขาจะได้รับแต่ระบบนี้ทำให้เกษตรกรรู้ราคาพืชผลที่เขาจะผลิตตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต หรือการประกันรายได้ก็มีค่าตอบแทนที่ชัดเจน นี่จึงเป็นการลดความเสี่ยงให้เกษตรกรด้วยซ้ำ นอกจากนี้ การจูงใจให้เกษตรกรมาลงทุนในระดับ 1-20 ล้านบาทนั้น บริษัทย่อมต้องมีหลักประกันให้เกษตรกรมั่นใจได้พอสมควร อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่าเมื่อเกษตรกรลงทุนโรงเรือนไปแล้ว จะทำให้ทางเลือกและการต่อรองมีน้อยลง
มายาคติที่ 3 เกษตรกรคอนแทรคฟาร์มมิ่งส่วนใหญ่ล้มเหลว? กรณีนี้ ดร.วิโรจน์ยืนยันว่าไม่จริง โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจดีเกษตรกรส่วนใหญ่จะได้รับผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำและน่าพอใจ ทำให้เกษตรกรหลายรายสามารถลืมตาอ้าปากได้หลังจากการเข้ามาอยู่ในระบบนี้
มายาคติที่ 4 ถ้าพูดถึงคอนแทรคฟาร์มมิ่งมิ่งแล้วมักหมายถึงบริษัทใหญ่ ดร.วิโรจน์ยกตัวอย่างผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างซีพีว่าหากนับจำนวนสัญญาคอนแทร็คที่ซีพีทำกับเกษตรกรแล้วบริษัทนี้อาจไม่ใช่รายใหญ่ที่สุดหรืออาจมีไม่ถึง 20%ของทั้งประเทศที่มีอยู่ราว ๆ 2 แสนรายด้วยซ้ำ หากแต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรมักมีชื่อซีพีติดมาอยู่เสมอ ทั้ง ๆ ที่ซีพีมีปัญหาค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น
ปัจจัยสำคัญคือ ซีพีมีการคัดเลือกเกษตรกรมาร่วมโครงการอย่างเข้มงวดมีทีมกฎหมายที่เข้มแข็งมีเงื่อนไขสัญญาระหว่างบริษัทและเกษตรกรอย่างชัดเจน เรียกว่า “เกษตรกรอยู่ได้…บริษัทอยู่ได้” และในความเป็นจริงถ้านับจำนวนที่เป็นกรณีพิพาทกันบริษัทที่ใหญ่มากจะมีการละเมิดสัญญากับเกษตรกรค่อนข้างน้อย เนื่องจากมีระบบบริหารจัดการที่ดีกว่าบริษัทเล็ก ๆ การมีสัญญาที่รัดกุมก็ทำให้การผิดสัญญาจากฝั่งเกษตรกรเกิดขึ้นน้อยกว่าการทำงานร่วมกับบริษัทเล็ก ๆ ที่ยังไม่เป็นระบบ
มายาคติที่ 5 การที่เกษตรกรส่วนน้อยมีปัญหา….สแดงว่าปัญหาอยู่ที่เกษตรกร? แม้สัญญาจะถูกออกแบบมาให้เกษตรกรได้กำไรและอยู่ได้ในสถานการณ์ปกติ แต่ก็เป็นสัญญาที่ร่างโดยบริษัทและไม่มีคนกลางเข้ามาดูแล ในสถานการณืปกติเกษตรกรจะมีรายได้ที่สมน้ำสมเนื้อกับการลงทุนภัยธรรมชาติ ตัวสัญญานั้นจะทำให้เกษตรกรต้องเป็นผู้รับภาระ
ดร.วิโรจน์ เสนอทางออกว่า ควรผลักดันให้เกิด “ระบบที่สมดุลและเป็นธรรมมากขึ้น” โดยให้มีการเฉลี่ยความเสี่ยง สร้างความเป็นหุ้นส่วนมากขึ้น อาจมีสัญญากลางเป็นมาตรฐานที่รัฐบาลรับรอง ขณะเดียวกันควรมีคนกลางหรือองค์กรกลางที่เข้ามาดูแลในกรณีพิพาท อย่าให้สัญญาเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทมากเกินไปดังเช่นข้อสัญญาของบริษัทสหฟาร์มอย่างไรก็ดีทุกภาคส่วนควรช่วยกันทำลายมายาคติดังกล่าว โดยควรให้ภาคธุรกิจริเริ่มดำเนินการก่อนภาครัฐเพราะคล่องตัวกว่า และอาจต้องดึงคนในแวดวงกฎหมาย หรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากทั้งสองฝ่ายมาพัฒนาคอนแทรคฟาร์มมิ่งร่วมกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง
ด้าน น.สพ.ชัย วัชรงค์ นักวิชาการอิสระผู้คร่ำหวอดในวงการปศุสัตว์มากกว่า 30 ปี อีกหนึ่งกูรูที่ร่วมเวทีเสวนา อธิบายว่า สินค้าเกษตรไม่เหมือนสินค้าอุตสาหกรรมเพราะมีความอ่อนไหวทั้งแง่การผลิตและการตลาด ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีทุน ไม่มีเทคโนโลยีที่จะรับมือกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่กระทบรุนแรง ไม่มีตลาดรองรับผลผลิตที่สุดแล้วก็ต้องล้มหายตายจาก ธุรกิจเกษตรก็จะตกอยู่ในมือบริษัทใหญ่
ทั้งนี้ในส่วนของ บริษัทผู้ประกอบการรายกลาง-ใหญ่ มีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีและเงินทุนแต่จะให้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนไปกับต้นทุนคงที่อย่างที่ดินและโรงเรือน ย่อมไม่คุ้มค่า ขณะที่การผลิตในภาคเกษตรนั้นจำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมากซึ่งก็จะกลายเป็นรายจ่ายก้อนโต ส่วนเกษตรกรรายย่อยมีจุดแข็งในเรื่องที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนตัว และมีแรงงานพร้อมในครอบครัวอยู่แล้วแต่ขาดความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขาดตลาดรองรับผลผลิตเมื่อนำจุดแข็งทั้งสองมาเสริมกันอย่างลงตัว จึงเกิดเป็นนวัตกรรมด้านการเกษตรที่เรียกว่า “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ซึ่งมีอยู่ 3 รูปแบบได้แก่ 1.) ประกันรายได้ เหมาะกับเกาตรกรรายย่อยเพราะความเสี่ยงส่วนใหญ่อยู่ที่ผู้ประกอบการ 2.)ประกันราคา เหมาะกับเกษตรกรรายกลาง ที่จะได้รับการราคาผลผลิตที่แน่นอน และ 3.)ประกันตลาด ซึ่งเป็นเกษตรกรรายใหญ่ มีความพร้อมในทุกด้านขาดเพียงตลาดในการรองรับผลผลิตเท่านั้น
ส่วนการจะตัดสินว่าใครได้หรือเสียประโยชน์จากคอนแทรคฟาร์มมิ่งนั้น ต้องทำความเข้าใจก่อนว่านี่คือการทำธุรกิจร่วมกัน ไม่มีฝ่ายใดเป็นมูลนิธิมาช่วยสงเคราะห์อีกฝ่ายหนึ่ง เพราะต่างต้องการผลประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ และแน่นอนว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง มีกฎ-กติกาซึ่งต้องปฏิบัติอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกัน
เมื่อมั่นใจแล้วว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน เกษตกรต้องเลือกรูปแบบที่เหมาะสมกับตนเอง ที่สำคัญต้องเลือกผู้ประกอบการที่ถูกต้อง มีความพร้อมทั้งเทคโนโลยี ทุน และตลาด เรียกว่าต้องเลือก “พาร์ทเนอร์ที่มีคุณภาพ” แน่นอนว่าผู้ประกอบการก็ต้องคัดเลือกเกษตรกรด้วยเช่นกัน และภายใต้การตัดสินใจที่ถูกต้องก็พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่สามารถส่งต่อความสำเร็จของอาชีพไปสู่ทายาทรุ่นที่ 3-4 กันแล้ว อย่างไรก็ตาม “ธุรกิจก็คือธุรกิจ” ย่อมมีปัจจัยภายนอกเป็นความเสี่ยงที่ต้องตระหนัก อาทิ ภาวะโรคระบาด ภาวะการเงินของผู้ประกอบการ
น.สพ.ชัย ยืนยันว่าคอนแทรคฟาร์มมิ่งถือเป็นสุดยอดนวัตกรรมของการทำการเกษตร ที่นำเอาจุดแข็งของสองฝ่ายมารวม เพื่อลดจุดด้อยซึ่งกันและกัน ทำให้การผลิตมีประสิทธิภาพ เกิดผลประโยชน์เพิ่มและแบ่งปันกันตามแต่ที่ได้ตกลงกันไว้ส่วนจะสำเร็จหรือไม่ขึ้นกับเกษตรกร ผู้ประกอบการและสภาพแวดล้อม เชื่อว่าเกษตรกรกว่า 90% มีความสุข บางส่วนไม่มีความสุขเพราะไม่เป็นอย่างที่หวังไว้ บางคนทำต่อไม่ได้เพราะมีถนนผ่าน บางคนไม่มีทายาทสานต่อกิจการ…
สิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกันคิดคือจะทำอย่างไรให้คอนแทรคฟาร์มมิ่งพลกด้านดีขึ้นมาทำช่วยกันมองอย่างสร้างสรรค์ ที่สำคัญ “คอนแทรคฟาร์มมิ่งคือธุรกิจไม่ใช่กิจกรรมสังคมสงเคราะห์” โปรดอย่ามองผ่านแว่นขยายของนักสังคมสงเคราะห์ดังเช่นที่ NGO ซึ่งไม่เคยผ่านการทำธุรกิจมาก่อนกำลังมอง
นอกจากนี้ NGO บางส่วนยังกล่าวหาว่าระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งอยู่ได้ด้วยการเร่งผลผลิตซึ่งต้องใช้สารเคมีอันเป็นสาเหตุของการทำลายสิ่งแวดล้อม นับว่าเป็นสิ่งที่เกินจริงไปมาก เพราะภาคธุรกิจหรือผู้ประกอบการที่มีองค์ความรู้จะใช้ระบบการจัดการ เข้ามาช่วยให้คอนแทรคฟาร์มมิ่งนำเทคโนโลยีการจัดการสมัยใหม่ไปใช้ ตั้งแต่ออกแบบโรงเรือนให้เหมาะสม มีพันธุ์สัตว์ที่ดี มี Flow การเลี้ยงที่ถูกต้อง ทำให้ไม่ต้องใช้ยาหรือใช้ก็น้อยลงและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเกษตรกรในระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งจึงก่อปัญหาน้อยกว่าเกษตรกรอิสระด้วยประการฉะนี้
เมื่อระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งเป็นนวัตกรรมที่ดีของภาคเกษตร หากแต่มีผู้ประกอบการนำไปดำเนินการอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เฉพาะเพียงบริษัทใหญ่ บ้างก็ทำได้ดีมีมาตรฐาน บ้างก็ไม่ดังนั้น จึงควรต้องมีการพัฒนาต่อยอดสร้างเครือข่ายคอนแทรคฟาร์มมิ่งที่มองระบบนี้อย่างสร้างสรรค์ร่วมกันเสนอผลประโยชน์ที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายตลอดจนมีภาครัฐเข้ามาสนับสนุนหยิบยกตัวอย่างผู้ประกอบการที่มาตรฐานมาเป็นต้นแบบ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติ นวัตกรรมทางการเกษตรนี้ก็จะสร้างประโยชน์ต่อทุกฝ่ายได้อย่างยั่งยืน
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 31 ตุลาคม 2557