tdri logo
tdri logo
16 ตุลาคม 2014
Read in Minutes

Views

วงเสวนาหนุนปฏิรูปทุกด้าน ชี้เหมาะสมประเทศ ไร้ปัญหาการเมือง

วงเสวนา “ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอะไร และอย่างไร” หนุน ปฏิรูปในทุกด้าน เหตุอยู่ในสภาวะที่เหมาะสมเนื่องจากไร้ปัญหาการเมือง

วันที่ 14 ต.ค. มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมมือกับ Eisenhower Fellowship Alumni (Thailand) และ Eisenhower Fellowship จัดงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “ปฏิรูปประเทศไทย-ปฏิรูปอะไร และอย่างไร”

โดย ดร.วิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้กล่าวถึงหลักการปฏิรูปเศรษฐกิจว่า กำหนดแนวทางการปฏิรูป 5 หลัก คือ 1.ให้ความสำคัญคุณภาพกว่าปริมาณ เพราะประชาชนไทยมีจำนวนจำกัด จึงต้องการทำงานที่มีคุณภาพอย่างมั่นคง 2.ส่งเสริมการแข่งขันรัฐและเอกชนให้มากขึ้น 3.ลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม เน้นทางด้านโอกาสทุกคนต้องมีโอกาสก้าวหน้าในชีวิตเท่ากัน 4.สร้างภูมิคุ้มกันในระบบ 5.ทุกฝ่ายทำงานร่วมกัน ต้องประสานงานให้เป็นประโยชน์

ทั้งนี้ ดร.วิรไท กล่าวอีกว่า ปีนี้เป็นรากฐานเพื่อการต่อเนื่องในระยะยาว สำคัญที่สุดในการปฏิรูป คือ เรื่องกฎหมาย เพราะตอนนี้ถือว่า เป็นเรื่องที่ง่ายเนื่องจากไม่มีปัญหาการเมือง หลายคนอาจไม่สบาย ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการเปลี่ยนแปลง

ส่วนด้านการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ นายรพี สุจริตกุล กรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจถูกรัฐบาลควบคุมมาในทุกรัฐบาล ควรปฏิรูป mind set เพราะรัฐวิสาหกิจถือว่าเป็นของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่คนใดคนหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีองค์กรกำกับดูแลให้มีความเป็นอิสระจากกระทรวง อีกทั้งควรมี KPI ชี้วัดรัฐวิสาหกิจได้ พร้อมเปิดเผยข้อมูลผลชี้วัดแก่ประชาชนอย่างโปร่งใส

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ กล่าวถึงกระบวนการปฏิรูปสื่อมวลชนว่า สื่อจำเป็นต้องปฏิรูปในส่วนของโครงสร้าง เปิดพื้นที่ให้สื่ออย่างเสรีและเป็นธรรม เพราะไม่สามารถยึดคลื่นความถี่เดิมได้ จึงจำเป็นที่ต้องสร้างคลื่นใหม่ เพื่อสร้างตัวเลือกให้ประชาชน อย่างทีวีดิจิตอลที่สร้างความคึกคักมากในอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ นางสาวสุภิญญากล่าวอีกว่า เรื่องเนื้อหาก็สำคัญในด้านการปฏิรูป ในเรื่องของจริยธรรม-จรรยาบรรณของสื่อ โดยต้องเพิ่มความรับผิดชอบอย่างมีเสรีภาพควบคู่กันไป เพราะสื่อทำหน้าที่แทนประชาชน

เมื่อถามว่า เมื่อสื่อต้องใช้ทุนแล้วประชาชนจะได้รับรู้ความจริงมากร้อยเพียงใด แม้จะมีอินเทอร์เน็ตก็ไม่สามารถเชื่อถือได้ น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า เป็นไปได้ยากที่จะแยกออกมาเป็นอิสระ ฉะนั้น ควรปลูกฝังความรู้เท่าทันสื่อแก่ประชาชน

ขณะกรณีปฏิรูปด้านการศึกษา ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ เลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ควรเปลี่ยนระบบบริหารการจัดการทั้งหมด ตอนนี้การศึกษาสอนให้เด็กเรียนต่อไปเรื่อยๆ โดยอยู่ในโจทย์ เรียนไม่ต้องเก่งแต่ต้องมีงานทำ แต่แท้จริงนั้น ปวช. ปวส ก็มีงานทำไม่แพ้ปริญญาตรี อีกทั้งควรวางขั้นตอนกระจายอำนาจ เน้นการตั้งงบประมาณนำร่องจังหวัดและกองทุนเพื่อการปฏิรูประยะยาว อย่างไรก็ตามเรื่องครูในระบบการศึกษาก็สำคัญ ควรสนับสนุนครูที่อยู่ในพื้นที่ลำบาก

ดร.อมรวิชช์ กล่าวอีกว่า การศึกษาที่ดีไม่ใช่แค่การเรียนต่อหรือมีงานทำ แต่ต้องศึกษาเพื่อยกระดับจิตใจ อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ด้านการปฏิรูปธรรมาภิบาลภาครัฐ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงเรื่องนโยบายประชานิยมว่า แม้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 จะออกกฏหมายป้องกันนโยบายประชานิยม ในมาตรา 53(7) และ 35(8) โดยมุ่งจำกัดไม่ให้นโยบายดังกล่าวเกิดขึ้นเลย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาของความชอบธรรมในระบบประชาธิปไตย ด้วยเหตุ 2 ประการ คือ 1.เป็นเรื่องยากที่จะตัดสินใจว่า นโยบายใดเป็น นโยบายประชานิยม เพราะไม่ได้มีความจำกัดความที่ทุกฝ่ายเห็นเหมือนกัน 2.เป็นการจำกัดเสรีภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนในการนำเสนอนโยบาย

ทั้งนี้ ดร.สมเกียรติ ได้กล่าวถึงทางออกในปัญหานี้ว่า ต้องเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลโดยรัฐสภา ควบคู่กับการสร้างกฏิกาต่างๆ คือ 1.แก้กฏหมายเลือกตั้ง เพื่อกำหนดให้พรรคการเมือง ต้องแจ้งต้นทุนทางการคลังของนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงต่อประชาชน 2.มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่เป็น ธรรมนูญการคลัง กำหมดให้การจ่ายเวินแผ่นดินใดๆ ต้องทำตามกฏหมายว่าด้วยงบประมาณ 3.มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีตรากฏหมาย เพือกำหนดกรอบวิจัยทางการคลังด้านต่างๆ 4.จัดตั้งสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภาขึ้นเป็นหน่วยวิเคราะห์งบประมาณและการคลังของรัฐสภาที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร

ดร.สมเกียรติกล่าวอีกว่า จากนี้ในระยะยาว ควรมุ่งลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยจัดให้มีการศึกษามี่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง และจัดให้มีสวัสดิการแก่ผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ

ส่วนการปฏิรูปด้านวิธีคิดและจิตวิญญาณ นพ.บัญชา พงษ์พานิช เลขานุการมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ กล่าวว่า จิตวิญญาณ คือ ระบบวิธีคิด ปกติเราจะมีหลักการที่ สุขกาย สุขใจ สุขสังคม ส่วนสุขด้านจิตวิญญาณ ยังคงเป็นจอขัดแย้ง ในส่วนของการปฏิรูป มีหลักใน 2 ประการ คือ 1.ระบบวิธีคิดและการศึกษา สมควรแก่การรื้อใหม่หมด เพราะการศึกษายังสอนแต่วิชาชีพ แต่ลืมสอนคุณค่าทางชีวิต อย่างเช่น ครู ก็สอนได้แค่วิชาที่ตัวเองถนัด 2.ระบบศีลธรรม-จริยธรรม ทุกศาสนามีมิติในการสอนใช้ชีวิต ไม่ควรยึดติดกับศาสนาของตนเอง ฉะนั้น การปฏิรูปควรใช้คำว่า ธรรมนิยมเป็นหลัก โดยใช้วิธีคิดและจิตวิญญาณเป็นรากฐานสำคัญ

 


เผยแพร่ครั้งแรก: ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 14 ตุลาคม 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด