tdri logo
tdri logo
18 พฤศจิกายน 2014
Read in Minutes

Views

ประชาชาติธุรกิจรายงาน: TDRI ชำแหละจำนำข้าว แบกสต๊อก 10 ปี ขาดทุนเฉียดล้านล้าน

“นโยบายรับจำนำข้าว” ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ตั้งราคาจำนำข้าวขาว ตันละ 15,000 บาท ข้าวหอมมะลิตันละ 20,000 บาท ที่นำมาใช้ต่อเนื่องนับจากปี 2554-2557 หรือคิดเป็น 5 รอบของโครงการรับจำนำข้าว ส่งผลให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาจากการดำเนินการมากมาย โดยเฉพาะ “การทุจริต” ในโครงการที่ดำเนินการตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ล่าสุด ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยผลวิจัยหัวข้อ “การคอร์รัปชั่น กรณีศึกษา : โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด” ในงานสัมมนาสาธารณะเรื่อง “สู่แนวคิดใหม่นโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร…บทเรียนจากนโยบายจำนำข้าว” ระบุว่า โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด 5 รอบ นับถึงเดือน ต.ค. 57 รวมปัจจัยข้าวในสต๊อก 85% ตกมาตรฐานคุณภาพ ประเทศไทยขาดทุนทางการคลังไปแล้ว 6.6 แสนล้านบาท และหากรัฐสามารถระบายข้าว 17.4 ล้านตันหมดภายใน 10 ปี จะขาดทุนรวมสูงถึง 9.6 แสนล้านบาท

โกง 4 วิธี สูญ 1 แสนล้าน บ. 

ทั้งนี้ การขาดทุนสัดส่วน 1 ใน 6 หรือประมาณ 1.09 แสนล้านบาท มีข้อบ่งชี้ว่าเกิดจากการทุจริตในการระบายข้าวของรัฐบาล ในกลวิธี 4 วิธี ได้แก่ 1.การขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ปริมาณ 7.8 ล้านตัน 2.เลือกขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวก ปริมาณ 3.7 ล้านตัน 3.กรณีสับเปลี่ยนข้าว-ข้าวหาย 5.9 ล้านตัน 4.ข้าวถุงราคาถูกโดยองค์การคลังสินค้า (อคส.) 2.4 ล้านตัน

การระบายข้าว “G to G” 7.8 ล้านตัน คิดสัดส่วนเป็น 41% ของการทุจริต โดยรัฐบาลใช้วิธีปิดบังข้อมูลด้วยการโอนกิจกรรมการออกใบอนุญาตส่งออกข้าวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ไปยังกรมการค้าต่างประเทศ และอ้างไม่เปิดเผยข้อมูลซื้อขายเพราะเป็นความลับทางการค้า ซึ่งมีข้อบ่งชี้ในการขายข้าวรัฐต่อรัฐ 6 ประเทศ รอบแรกปี 2555 ที่รัฐบาลอ้างว่าขายไป 1.76 ล้านตัน ไม่ตรงกับตัวเลขจากกรมศุลกากรและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่มีข้าวส่งออกเพียง 0.88 ล้านตัน

วิธีการขายข้าวให้พ่อค้าพรรคพวก คิดเป็น 20% ของการทุจริต นั่นคือการขายข้าวให้พ่อค้าในประเทศ 5.3 ล้านตัน 70% ในจำนวนนี้นั้นถูกล็อกโควตาให้กับบางบริษัทไว้จำนวน 3.7 ล้านตันสันนิษฐานว่า ทั้ง 2 วิธีการข้างต้น รัฐบาลระบายข้าวออกไปในราคาต่ำกว่าราคาตลาดที่ประมาณ 11,000 บาท/ตัน ขณะที่ราคาขายส่งข้าวสารในโครงการช่วงเดือน ต.ค. 54-ต.ค. 56 อยู่ที่ประมาณ 18,000 บาท/ตัน และราคาเดือน พ.ย. 56-เม.ย. 57 ประมาณ 15,000 บาท/ตัน

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า กรณีสับเปลี่ยนข้าวจำนวน 5.9 ล้านตัน คิดเป็น 31% ของการทุจริต เกิดจากนายหน้าที่มีอิทธิพลนำข้าวเปลือกออกจากโรงสีไปทำข้าวนึ่งส่งออก จากนั้นจึงหาข้าวมาคืนคลัง สังเกตได้ว่าช่วง ต.ค. 54-เม.ย. 57 ไทยส่งออกข้าวนึ่งได้ 4.76 ล้านตัน ทั้งที่โครงการจำนำข้าวไม่มีการจัดทำข้าวนึ่ง และข้าวนาปรังเกือบทุกเม็ดก็นำมาจำนำหมด

ส่วนวิธีหาข้าวคืนคลัง ทำได้โดยซื้อข้าวเก่าจากโครงการจำนำข้าวในอดีต 2 ล้านตัน และซื้อข้าวจากต่างประเทศ เช่น กัมพูชา เวียดนาม ลักลอบเข้ามาสีแปรส่งคืน เป็นเหตุให้ข้าวกว่า 85% ในโกดังคุณภาพต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และยังมีข้าวหายอยู่ 1.1 แสนตัน

วิธีสุดท้ายคือการทำข้าวถุงราคาถูก 2.4 ล้านตัน เกิดจากการทุจริตหลังจากรัฐบาลขายข้าวและจ้างบริษัทปรับปรุงข้าวหลังจากปรับปรุงแล้ว แทนที่บริษัทผู้รับจ้างระบายจะรับข้าวถุงมาขายในราคาถูกตามปกติ ก็ได้สิทธิการขายให้บริษัทปรับปรุงข้าวเอง ซึ่งบริษัทเหล่านี้ได้นำข้าวถุงมาจำหน่ายในราคาปกติ ได้กำไรกว่า 100% จากต้นทุน

บริหารสต๊อก-ป้องกันทุจริต

แม้ว่ากระบวนการตรวจสอบตามวิถีประชาธิปไตย จะกำลังขับเคลื่อนไปสู่บทสุดท้าย แต่สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการคือ การบริหารจัดการ “ข้าวสารที่ค้างสต๊อกรัฐบาลกว่า 17 ล้านตัน” เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ โดยควรแก้ปัญหาด้วยการบริจาคให้องค์การอาหารโลก (World Food Programme) เพราะหากยิ่งระบายข้าวช้า ผลขาดทุนจากโครงการจะยิ่งหนัก ทั้งจากต้นทุนการเก็บรักษาข้าว และข้าวเสื่อมสภาพภายใน 3-4 ปี

และที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างกลไกป้องกันไม่ให้เกิดนโยบายแทรกแซงตลาดที่ไม่จำกัดงบประมาณเช่นนี้ขึ้นอีก โดยการแก้กฎหมายให้พรรคการเมืองที่หาเสียงต้องแจกแจงภาระค่าใช้จ่ายและที่มาของเงิน หากชนะเลือกตั้ง จะต้องเสนอร่างงบประมาณรายจ่ายพิเศษต่อรัฐสภา โดยจำกัดวงเงินและอนุมัติปีต่อปี แก้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ให้รัฐบาลสามารถเปิดเผยผลการดำเนินงานนโยบายแทรกแซงตลาดต่อสาธารณะ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด