นักวิชาการชี้แก้ ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ใช้ระบบภาษี-ออกกฎหมายสกัดผูกขาด

ปี2014-11-18

วานนี้ (11 พ.ย.) สมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์จัดสัมมนาในหัวข้อ “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย” โดยเสวนาหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ทุน คน ที่ดิน” นักวิชาการหนุนแก้กฎหมายลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มีประเด็นดังนี้

น.ส.ปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าหากมองความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของคนไทยผ่านการถือครองที่ดินจะสามารถเห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนได้ระดับหนึ่งเนื่องจากปัจจุบันการถือครองที่ดินส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนไม่เกิน 20% ที่ถือครองที่ดินมากถึง 80% ของที่ดินทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้หากมีการคำนวณจากมูลค่าที่ดินจะพบว่าที่ดินที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะการถือครองที่ดินในเมืองใหญ่จะยิ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง ขณะที่ระดับรากหญ้าหรือคนด้อยโอกาสที่อยู่ในเมืองจะอยู่ในฐานะผู้เช่า รวมทั้งในภาคเกษตรก็มีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินเช่นกันเห็นได้จากการถือครองที่ดินของชาวนา พบว่าปัจจุบันครอบครัวของชาวนา 75% ถือครองที่ดินเพียง 48% ของพื้นที่ทำนาทั้งหมด

ขณะที่ชาวนาที่มีที่ดินเกินกว่า 25 ไร่นั้น มีเพียง 17% ของครอบครัวชาวนาทั้งหมดเท่านั้นซึ่งการถือครองที่ดินขนาดเล็กส่งผลให้ต้นทุนในการเพาะปลูกนั้นสูงกว่าผู้ที่มีที่ดินขนาดใหญ่และมีโอกาสที่ชาวนาและเกษตรกรที่มีที่ดินขนาดเล็กจะถูกกดราคารับซื้อสินค้าเกษตรที่ไร่นามากกว่ารวมทั้งมีข้อจำกัด ในการเข้าถึงแหล่งทุน

น.ส.ปัทมาวดีกล่าวว่า แนวคิดเรื่องการจัดเก็บภาษีที่ดิน โดยที่รัฐบาลเตรียมที่จะ เสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาถือเป็นแนวคิดที่ดีในการส่งสัญญาณว่ารัฐบาล จะใช้มาตรการทางภาษีในการแก้ปัญหา ความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดิน อย่างไรก็ตามการเก็บภาษีที่ดินในอัตราที่ต่ำเกินไปและไม่ใช้อัตราก้าวหน้าในการจัดเก็บตามมูลค่าที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้มาตรการทางภาษีจะไม่ส่งผลในการกระจายการถือครองที่ดินเนื่องจากคนที่มีฐานะดี มีเงินจำนวนมากก็จะยังสามารถซื้อขายที่ดินตามความต้องการได้ด้วยการให้ราคาที่สูง โดยเฉพาะการซื้อขายในพื้นที่ต่างจังหวัดบริเวณชายแดนที่ปัจจุบัน มีการซื้อขายที่ดินในราคาสูงมากเนื่องจากเก็งกำไรทิศทางราคาที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต นอกจากนั้นรัฐบาลต้องระวังผลกระทบจากการเก็บภาษีที่ดินอาจผลักภาระไปให้ผู้เช่าที่ดินได้

“การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนับเป็นแนวคิดที่ดีแต่ต้องทำด้วยความรอบคอบโดยต้องดูว่าการเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินจะส่งผลกระทบต่อผู้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหรือไม่ เพราะเจ้าของทรัพย์สินทั้งที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างอาจจะผลักภาระให้กับ ผู้เช่าซึ่งทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำมากขึ้น”

สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหา เสนอว่ารัฐบาลควรดำเนินการในการสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนที่ดิน โดยการดำเนินการของชุมชนและองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เพื่อส่งเสริมนโยบายการรวบรวมที่ดินหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกันในชุมชนเพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีอยู่ให้มีประโยชน์สูงสุด โดยรูปแบบของกองทุนให้มีความยืดหยุ่นและแตกต่างตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ส่วนที่ดินที่อยู่ในการดูแลของรัฐเช่นที่ราชพัสดุก็ควรมีนโยบายในการส่งเสริมให้นำพื้นที่ซึ่งรัฐไม่ได้ใช้ประโยชน์ในปัจจุบันไปจัดสรรให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยได้ใช้ประโยชน์มากขึ้น

:เตือนกระทบคนรายได้น้อย

นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องคำนึงถึงผู้มีผลกระทบในวางกว้างโดยเฉพาะคนจนผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยในหลักการจะต้องดูความเหมาะสมว่าจะพิจารณาจากสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สิน หรือขนาดของทรัพย์สินหรือคำนวณโดยเริ่มอัตราต่ำ เพราะที่ดินในเมืองใหญ่กับในต่างจังหวัดก็จะมีมูลค่าต่างกัน

นอกจากนี้การเก็บภาษีที่ดินกับภาษี โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอาจต้องแยกจากกันเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการจัดเก็บเพราะภาษีโรงเรือนสามารถจัดเก็บตามประเภทกิจการ ขณะที่ภาษีที่ดินจัดเก็บได้กว้างกว่า เช่น สามารถใช้เป็นกลไกสำคัญในการใช้เป็นเครื่องมือจัดทำโซนนิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้ที่ดินเกิดประโยชน์ในเชิงนโยบายใน อนาคต

:จี้แก้ก.ม.ลดความเหลื่อมล้ำธุรกิจ

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการด้านบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่าความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยไม่ได้มีเพียงความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนเท่านั้น แต่ความเหลื่อมล้ำในระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับรายเล็กก็ยังมีแนวโน้มที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยจากการศึกษารายได้ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่าในปี 2548 รายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ 20 รายแรกมีสัดส่วนรายได้สูงถึง 83% ของรายได้บริษัททั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่ในปี 2556 รายได้ของบริษัทขนาดใหญ่ 20 รายแรกมีรายได้รวมเพิ่มเป็น 94% ขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการขนาดกลางมีรายได้ลดลงเหลือ 16% ในปี 2548 แต่รายได้ของบริษัทขนาดกลางลดลงเหลือ 10% ในปี 2556 ซึ่งนับว่าความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นางเดือนเด่นกล่าวต่อไปว่าจากการตรวจสอบลักษณะของกิจการขนาดใหญ่ที่มีรายได้รวมกันถึง 90% ในตลาดหลักทรัพย์พบว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขัน เป็นทุนที่เติบโตขึ้นมาในประเทศด้วยใช้สิทธิสัมปทาน ใช้อำนาจเหนือตลาด และอำนาจอื่นๆ เช่น อำนาจความเป็นมหาชน หรือเป็นธุรกิจที่มีการแตกบริษัทลูกจำนวนมาก นอกจากนั้นบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ของไทยยังเป็นบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจถึง 11% ซึ่งเป็นลักษณะที่แตกต่างกับบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศ

“การเติบโตขึ้นของทุนขนาดใหญ่ของไทยมีบริษัทจำนวนมากที่เติบโตขึ้นจากธุรกิจที่ไม่ต้องแข่งขัน หรือเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จด้วยกติกาหรือนโยบายของรัฐไม่ใช่ด้วยประสิทธิภาพของตัวเอง ซึ่งธุรกิจเหล่านี้บางรายยังมีการขยายธุรกิจให้ครบวงจร เพื่อสกัดกั้นการเข้ามาแข่งขันของรายเล็ก โดยจากการศึกษาพบว่าธุรกิจผูกขาดจะมีเปอร์เซ็นต์การเติบโตสูงกว่าบริษัทอื่นๆ 11%” นางเดือนเด่นกล่าว

นางเดือนเด่น กล่าวว่าประเทศไทยล้มเหลวในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าโดยแม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายชนิดนี้มานานกว่า 15 ปีแล้วแต่ในทางปฏิบัติยังไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ตามกฎหมายแม้แต่ รายเดียว

:แนะเร่งแก้คุณภาพการศึกษา

นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่สำเร็จเนื่องจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพโดยการศึกษาของไทยมีการใช้ งบประมาณจำนวนมากถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท 25% ของงบประมาณในแต่ละปี แต่กลับใช้งบประมาณไปในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงปรุงพัฒนาคุณภาพการศึกษา เช่น การเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการครูโดยการเพิ่มวิทยฐานะ โดยขณะนี้เงินเดือนโดยเฉลี่ยของครูอยู่ที่ 37,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปรับเพิ่มขึ้นมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา “ขณะนี้คุณภาพทางการศึกษาสวนทางเรียกได้ว่าขณะนี้อยู่ในภาวะวิกฤติซึ่งจะต้องมีรัฐมนตรีที่เป็นนักปฏิบัติลงมาแก้ปัญหาจริงจังเพราะการให้นโยบายและเสนอหลักการอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะแก้ปัญหาได้”

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557