เดลินิวส์รายงาน: “อานันท์” หนักใจการเมืองถ่วง หวั่นตกม้าตายบริหารไม่เป็น ห่วงข่าวลือคอร์รัปชั่นหนาหู

ปี2014-11-28

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 57 ของทีดีอาร์ไอ เรื่องสังคมเศรษฐกิจไทย : ความท้าทายและการปฏิรูป ว่า สิ่งที่หนักใจนอกเหนือไปจากเรื่องการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ วินัยทางการคลัง และการสร้างโอกาสของประชาชน คือปัญหาทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง หรือไม่ได้มาจากประชาธิปไตย สุดท้ายเมื่อบริหารประเทศก็ตกม้าตาย เพราะจัดการไม่เป็น เนื่องจากพูดมากเกินไป ขณะที่ผู้นำรัฐบาลปัจจุบันที่เป็นทหารก็ยังมีข้อจำกัดมาก เนื่องจากวิธีการทำงานในระบบทหารมักเน้นสั่งอย่างเดียว จึงต้องเปลี่ยนเป็นฟังคนในทุกระดับมากขึ้น และต้องฟังให้เป็น เพราะบางรายหากฟังแล้วไม่ยอมรับ หรือไม่เข้าใจลึกซึ้งกับทุกสิ่งที่ได้ฟัง ก็เป็นไปได้ยากที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง และพัฒนา อีกทั้งผู้นำยังต้องมีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาได้ด้วย

“ตอนนี้ไม่แน่ใจในความพยายามที่จะดูแลปัญหาคอร์รัปชั่นว่าจริงใจแค่ไหน และจะทำหรือเปล่า เพราะตอนนี้มีข่าวลือมากเหลือเกิน แม้ว่าผมจะไม่ชอบข่าวลือ แต่ก็ได้ยินมา และไม่รู้ว่าจริงไม่จริง เช่น การตกลงกันนอกรอบ ส่วนการแก้ไขปัญหาปรองดอง และการปฏิรูปก็ต้องทำควบคู่กันไป ซึ่งในเรื่องการแก้ปัญหาปรองดอง ต้องดูสาเหตุหลัก ที่มาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทุกด้านของคนข้างบนและข้างล่าง ซึ่งเรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ของไทยที่จะต้องแก้ก่อน”

ทั้งนี้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ควรจดจำไว้ คือ ต้องภาคภูมิใจในสิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นในความก้าวหน้าต่างๆ และต้องจดจำสิ่งที่ไม่ดี และอย่าปล่อยให้สิ่งที่ไม่ดีกลับมาทำร้ายจนไม่สามารถก้าวหน้าได้ เพราะถ้าคนเราไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์สิ่งที่เคยผิดพลาดไป ก็จะกลับมาเกิดซ้ำอีก นั่นเป็นเพราะคนไทยความจำสั้น ลืมง่าย ทำให้รู้สึกว่า ทุก 5 ปี หรือ 10 ปี สิ่งที่เคยผิดพลาดก็จะกลับมาอีก เพราะไทยไม่ได้นำความผิดพลาดมาแก้ไข และทุกชีวิตของแต่ละสังคมต้องมองไปสู่อนาคต

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงเรื่องสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ : ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในสามทศวรรษหน้าว่า ไทยต้องเร่งปรับโครงสร้างการพัฒนาประเทศใหม่ เพื่อให้หลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางได้ทันก่อนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 68 หรือเป็นประเทศที่มีแต่คนแก่ก่อนรวยเป็นจำนวนมาก โดยต้องยกระดับภาคการเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรแบบทันสมัย เน้นใช้เครื่องจักร เทคโนโลยี การวิจัย ควบคู่การพัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ เปิดเสรีภาคบริการ โดยพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพสูง หากทำได้สำเร็จเชื่อว่า ภายใน 30 ปีจากนี้ จะส่งผลให้คนไทยมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันคนละ 5,480 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นคนละ 28,400 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งจะทำให้ไทยพ้นจากระดับประเทศรายได้ปานกลางได้ในปี 71

ทั้งนี้หากใช้แนวทางดังกล่าว เชื่อว่า นอกจากรายได้ต่อหัวของคนไทยจะสูงขึ้นแล้ว ยังทำให้อัตราการขยายตัวการเศรษฐกิจเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.2% โดยในภาคบริการจะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 59.3% ต่อจีดีพี และมีบริการฐานความรู้ 30.8% ขณะที่ภาคเกษตรลดลงเหลือ 3.8% ของจีดีพี รวมทั้งยังช่วยให้ดัชนีความเหลื่อมล้ำลดลงเหลือ 0.33 เพราะรายได้แรงงานเพิ่มขึ้น โดยแนวทางการผลักดันแนวทางดังกล่าวให้สำเร็จ รัฐบาลต้องไม่มีนโยบายอุดหนุนสินค้าเกษตรมากจนจูงใจเกษตรกรผลิตสินค้าออกมามาก จนไม่สนใจคุณภาพ ทำให้เกิดต้นทุนต่อเศรษฐกิจที่สูงมาก

“สิ่งที่ท้าทายของการเปลี่ยนผ่านประเทศให้หลุดพ้นรายได้ปานกลาง ต้องปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งเป็นกลไกหลักให้มีประสิทธิภาพ”

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า มีปัญหา 3 สิ่งที่ต้องร่วมกันหาทางออก คือ การเติบโตของประเทศเพราะเดิมเศรษฐกิจไทยขยายตัวเกิน 7% มาโดยตลอด แต่ปัจจุบันขยายตัวต่ำเพียง 3% เท่านั้น ต่อมาคือการส่งออก เพราะตั้งแต่ปี 56 เป็นต้นมาแม้ว่าการส่งออกไทยจะติดลบ แต่การค้าโลกกลับขยายตัวมาตลอด และสุดท้ายคือการส่งเสริมการออมให้มากขึ้น

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า แนวโน้มหนี้สาธารณะระยะยาวช่วง 30 ปีข้างหน้า ยังคาดเดาได้ยาก เพราะยังมีปัญหาหลากหลาย เช่น การเติบโตเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และการเมืองยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัญหานโยบายทางการคลังกับแรงจูงใจทางการเมือง จะทำให้มีแรงจูงใจให้ทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง และที่น่าตกใจคือ ไม่ใช่แค่นักการเมืองจะนิยมใช้แนวทางนี้บริหารประเทศ แต่ประชาชนเองก็ชินแนวทางนี้ด้วย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557