คมชัดลึกรายงาน: “โฆสิต” ชี้ดอกเบี้ยนโยบายเหมาะหนุนเศรษฐกิจ ทีดีอาร์ไอห่วงไทยเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็ว ส่อแก่ก่อนรวย

ปี2014-11-28

“โฆสิต” มองดอกเบี้ยนโยบายเหมาะสม หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ระบุต้องเร่งหาตัวถ่วงที่ ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 40 ห่วงไทยรับมือสังคมผู้สูงอายุไม่ไหว แนะทางรอดต้องออมและลงทุน ประธานที่ดีอาร์ไอชี้คนไทยส่อแก่ก่อนรวย

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ในฐานะประธานสภาสถาบันและประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้กำหนดนโยบายว่ามีความพอใจกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันหรือไม่ ส่วนทิศทางของดอกเบี้ย นโยบายในระยะถัดไปต้องพิจารณาจากการปรับเพื่มขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐด้วย

“เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองว่าใครมองอย่างไรสำหรับผมเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเริ่มมีให้เห็นแล้วและอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.00% เป็นอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และสามารถสนับสนุนการฟื้นตัวได้” นายโฆสิตกล่าว และว่าส่วนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนั้น ชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเราต้องหาสาเหตุของการเติบโต ลดลงมาจากอะไร รวมทั้งการส่งออกที่ยังไม่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก ก็สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านโคตรงสร้างการส่งออก

นายโฆสิตกล่าวด้วยว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยจะยิ่งเจอความท้าทายในอนาคตในการเข้าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบซึ่งทางรอดของการเป็นสังคมผู้สู้คือ การเก็บออมเงินและการลงทุน ในขณะที่หนี้สาธารณะของไทยอยู่ในระดับที่สูงมาก สวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น ทำให้ในอนาคตรัฐบาลจะต้องหาเงินทุนในการให้สวัสดิการแก่ประชาชนมากขึ้นในขณะที่รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้เพียง 17% ของจีดีพีเท่านั้น

ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของทีดีอาร์ไอ หัวข้อ “ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า : สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” ว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในทวีปเอเชีย โดยคาดว่าจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2568 และในปี 2588 จะมีประชากรผู้สูงอายุเป็ฯ 36% ของประชากรทั้งหมด และหากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เข้ามาอาจทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางช้าลง

“ในอนาคตเราจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ และเร็วกว่าเพื่อบ้านในเอเชีย ตามหลังญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่ข้อแตกต่างคือทั้ง 2 ประเทศ พวกเขารวยก่อนจะแก่ แต่ประเทศไทยเรายังติดกับดักรายได้ปานกลาง และทำให้พวกเราจะแก่ก่อนที่จะรวยได้” นายสมเกียรติกล่าว

ทั้งนี้ทางเลือกของไทย มี 2 ทางคือ

1. เป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้าโดยพัฒนาโคตรงการโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิคเน้ทักษะเฉพาะคุณภาพสูง จูงใจให้เอกชนพัฒนาและวิจัยมากขึ้น แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการดึงดูดแรงงานจากต่างประเทศที่ไร้ทักษะมาทำงานในไทย ซึ่งหากสามารถทำได้จะทำให้ใน 30 ปีข้างหน้า คนไทยจะมีรายได้ 23,736 ดอลลาร์สหัรฐต่อคน อัตรการเติบโตที่ 4.59% จะพ้นกับดักรายได้ปานกลางในปี 2571

ส่วนอีกทางเลือกหนึ่งคือการพัฒนาสังคมไปยังเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ โดยให้ภาคการเกษตรส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนสู่เกษตรทันสมัยใช้เครื่องจักรขนาดใหญ่ และมีการพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชโดยใช้เกษตรประณีต เช่น อินทรีย์เป็นองค์ประกอบเสริม ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือการบริหารแหล่งน้ำมันให้มีประสิทธิภาพลงทุนพัฒนาและวิจัยพันธุ์พืชแต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรขนาดใหญ่โดยนโยบายรัฐ และระวังคอนแทรคฟาร์มมิ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง หากสามารถจะทำให้รายได้ใน 30 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 28,402 ดอลลาร์ต่อคน อัตรการเติบโตอยู่ที่ 5.21% ต่อปี

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2557