คมชัดลึกรายงาน: ‘ค่านิยม-คุณธรรม’ กับดัก ‘คอร์รัปชั่น’

ปี2014-11-18

‘ค่านิยม-คุณธรรม’ กับดัก ‘คอร์รัปชั่น’ รับฝังรากลึกในสังคม-แก้ปัญหาล้มเหลว

ปัญหา “คอร์รัปชั่น” ถือเป็นปัญหาใหญ่และฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในเวทีสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย” ของสมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวข้อเสวนา “กับดัก : ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชั่น” ทั้งภาคเอกชนและนักวิชาการต่างยอมรับว่า แม้จะมีความพยายามออกมาต่อต้านการคอร์รัปชั่นในรูปแบบต่างๆ แต่ดูเหมือนความพยายามเหล่านั้นจะตกอยู่ในภาวะ “ล้มเหลว”

นายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นต้นทุนทางสังคม และแม้ที่ผ่านมาจะใส่วัตถุดิบเข้าไปมากเท่าไหร่ก็ไม่เกิดประโยชน์ ดูจากการจัดอันดับของประเทศ พบว่า ปัญหาการคอร์รัปชั่นของไทย จากที่เคยอยู่ในอันดับ 102 เลื่อนไปอยู่ที่อันดับ 177 ตกลงมาถึง 14 อันดับ อีกทั้งผลสำรวจยังระบุว่าคนไทยชอบคนมีหน้ามีตา เห็นแก่ตัว ไม่มีระเบียบวินัย ที่สำคัญเยาวชนส่วนใหญ่ยอมรับว่าเคยลอกข้อสอบ และไทยเป็นแชมป์ท้องก่อนแต่งอันดับหนึ่งในเอเชียมา 2 ปี และมีถึง 21% มองว่าเมื่อทุจริตแล้ว ทำบุญจะช่วยลดกรรมมาก

“อาจถึงเวลาที่เราควรหันมาเน้นหลักธรรมนิยมมากขึ้น แทนที่จะเน้นบริโภคนิยม ทุนนิยม โดยต้องทำให้คนในสังคมตระหนักลดความเป็นปัจเจกมากขึ้น และต้องหยุดรอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาล อีกทั้งทรัพยากรมีจำกัดต้องจัดสรรให้คนในสังคมอย่างเท่าเทียมเพื่อลดปัญหา รวมทั้งต้องมีกฎ กติกาที่ชัดเจน เพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการตรวจสอบ และอยากให้ธุรกิจไทยเปลี่ยนวิธีคิดเอาสังคมมาเป็นตัวตั้งในการขับเคลื่อนธุรกิจให้มากขึ้น แต่สิ่งสำคัญต้องปฏิรูปใจก่อน ยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งจะเป็นความหวังของสังคมไทยให้เดินไปในทางที่ถูกต้องและเดินก้าวข้ามกับดักคอร์รัปชั่นได้” นายวิรไทกล่าว

ด้าน นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการปลุกกระแสต่อต้านคอร์รัปชั่นให้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลนี้ และตั้งความหวังว่าปีหน้าอันดับปัญหาคอร์รัปชั่นของไทยจะดีขึ้นอย่างน้อย 20 อันดับ ที่ผ่านมามองว่าค่านิยมกับคุณธรรมเป็นกับดักในการแก้ปัญหา จึงอยากเรียกร้องให้มองอีกมุม โดยยอมรับความจริงว่า ความเห็นแก่ตัวมีมากกว่าคุณธรรมและเป็นสัจธรรมที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ซึ่งมีพลังที่มากกว่า ดังนั้น การวางระบบ การออกแบบกติกาต้องไม่ทำร้ายส่วนรวม ไม่เอาเปรียบผู้อื่น มีระบบที่ทำให้รวมตัวกันและมีพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสู้กับคนที่จะเอาเปรียบหรือละเมิดกติกาของสังคมได้

“การรณรงค์ให้เยาวชนมีคุณธรรมไม่พอ จากที่รณรงค์โตไปไม่โกง ต้องเปลี่ยนเป็นโตไปไม่ให้ใครโกงด้วย โดยที่องค์กรต่างๆ ต้องร่วมมือกันไม่ให้ใครมาคอร์รัปชั่นจึงจะมีชัยชนะในการแก้ปัญหาได้จริง อย่างแรกจึงอยากให้เปลี่ยนทัศนคติก่อน ต้องปลุกให้คนในสังคมลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเองจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ” นายบรรยงกล่าวและว่า กลยุทธ์ในการโกงที่ผ่านมา เช่น การแจกแบบกระจุก ทำให้คนส่วนหนึ่งมีความพอใจว่ามีส่วนได้ประโยชน์และยอมรับการโกงได้ หรือโกงจากการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ และมีการพัฒนาจนเป็นการโกงอย่างมีระบบ โดยเน้นไปในกลุ่มธุรกิจหรือการลงทุนที่มีการคอร์รัปชั่นได้ง่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ นักการเมืองเข้ามาต้องเปลี่ยนคนให้สานต่อ แต่ทุกวันนี้ไม่ต้องเปลี่ยนคน แค่เข้ามาส่งสัญญาณ หากมีอำนาจในมือจริง ระบบก็จะเดินหน้าได้ทันที ถือว่าน่ากลัวกว่า

นายบรรยง กล่าวอีกว่า การคอร์รัปชั่นมีทั้งการโกงเงินรัฐตรงๆ และการโกงโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเอกชนรู้เห็นเป็นใจ เป็นการจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อซื้อความสะดวกในการลงทุน และซื้อความได้เปรียบในการแข่งขัน ทำให้กระบวนการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นทำได้ยากมาก ดังนั้น จึงเสนอให้มีการออกแบบที่วางรากฐานในระยะยาว เพราะแค่ 1 ปีนี้คงไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งตราบใดที่การคอร์รัปชั่นยังได้ประโยชน์มากกว่าโทษที่จะได้รับ การโกงก็ยังคงอยู่ จึงอยากเสนอให้เพิ่มโทษให้รุนแรงขึ้น และอยากเสนอให้รัฐลดขนาดบทบาทตัวเองลงและลดการใช้ดุลพินิจของภาครัฐลง นอกจากนี้ ไทยน่าจะนำมาตรฐานของทั่วโลกทั้งด้านกฎหมายและกฎระเบียบมาปรับใช้บ้าง

“แต่สุดท้ายมองว่าการกำจัดคอร์รัปชั่น จะมาจากภาคประชาชน แต่ต้องมีเครื่องมือที่สนับสนุน เช่น การเปิดเผยข้อมูลอย่างไม่มีเงื่อนไขและได้มาตรฐาน เป็นต้น โดยคณะกรรมการย่อยในซูเปอร์บอร์ดอยู่ระหว่างดำเนินการ นอกจากนี้ ต้องมีผู้ช่วยประชาชนตรวจสอบด้วย แต่ต้องไม่ใช่องค์กรที่ตั้งขึ้นมา แต่ไม่มีอำนาจหรือทำงานจริง รวมทั้งต้องมีสื่อที่มีคุณภาพเข้ามาช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่แท้จริงและมีประโยชน์กับสังคมด้วย” นายบรรยงระบุ

ขณะที่นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทยในฐานะเลขานุการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น กล่าวว่า 3 ปีก่อน เป็นจุดเริ่มต้นของภาคเอกชนในการออกมาต่อต้านคอร์รัปชั่น ทำให้ถูกมองว่ามีการทำงานจริงจังหรือไม่ เพราะเอกชนก็เป็นหนึ่งในกระบวนการคอร์รัปชั่น และมีความเชื่อว่าประเทศไทยไม่มีทางจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ซึ่งการออกมาต่อต้านในช่วง 3 ปีนั้น ยอมรับว่า ล้มเหลว เพราะยังมีการคอร์รัปชั่นมากขึ้น และมีพัฒนาการไปไกลขึ้น พบว่าสัดส่วนการคอร์รัปชั่นปัจจุบันยังอยู่ที่ 30-50% หรือคิดเป็นเม็ดเงินถึงปีละ 2-3 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประสบความสำเร็จใน 3 ปีนี้คือ จิตสำนึกความรับรู้ของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป โดยผลสำรวจของโพลล์เคยชี้ว่าคนไทย 60% เห็นด้วยว่าโกงได้ และหอการค้าฯ สำรวจพบว่าคนไทยกว่า 50% ยอมรับการโกงได้ แต่ล่าสุดสำรวจใหม่เหลือแค่ 20% ที่ยอมรับการโกง ดังนั้น องค์กรและภาคเอกชนจึงพยายามเดินหน้าให้ความรู้ สร้างความเข้าใจให้ภาคประชาชนต่อเนื่องและทำให้มีการลุกฮือออกมาต่อต้านการนิรโทษกรรมการทุจริตคอร์รัปชั่นในช่วงที่ผ่านมา

“การจะขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นเหมือนฮ่องกงหรือสิงคโปร์ได้นั้น อยู่ที่ 2 ปัจจัยคือ ประชาชนต้องไม่เพิกเฉยต้องร่วมต่อต้าน ซึ่งคนไทยมีความพร้อมมากขึ้น และฝ่ายนโยบายของรัฐต้องจริงจังในการปราบปราม ซึ่งที่ผ่านมามีการปล่อยให้กลไกของรัฐเดินหน้าเอง ถือเป็นกับดักของคอร์รัปชั่น หากรัฐไม่เปลี่ยนนโยบายมาเป็นการปฏิบัติได้ก็ไม่มีทางสำเร็จ” นายวิชัยกล่าวและว่า แม้ในช่วงนี้จะไม่มีนักการเมืองขับเคลื่อนนโยบาย แต่การคอร์รัปชั่นก็ไม่ลดลง ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะยังมีความพยายามอยู่ ดังนั้น ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องกระตุ้นให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลในทุกด้าน

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557