คมชัดลึกรายงาน: จี้งัดกฎหมายสกัดการเมืองฟื้น “จำนำข้าว” ทีดีอาร์ไอเคาะขาดทุน 6 แสนล้าน-ทุจริตกว่าแสนล้าน

ปี2014-11-10

ผลพวงจากโครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นอกจากมีผลขาดทุนมหาศาล คาดว่าจะอยู่ที่ 6-7 แสนล้านบาท และเปิดช่องให้เกิดการทุจริตในโครงการแล้ว ยังเป็นการบิดเบือนกลไกตลาดข้าวไทย จนทำให้ความสามารถในแข่งขันของข้าวไทยในตลาดโลกลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ชาวนาส่วนใหญ่ต่างยังต้องการให้รัฐบาลนำโครงการจำนำข้าวกลับมาใช้ในการช่วยเหลือต่อไป

“อยากให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการจำนำข้าว โดยจากการสำรวจความเห็นของชาวนากว่า 70% ยังต้องการให้รับจำนำข้าว เพราะติดกับดักการช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่โครงการจำนำข้าวรอบ 3 ก็น่าจะกลับมาอีก” นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนา “สู่แนวคิดใหม่ของนโยบายอุดหนุนภาคการเกษตร : บทเรียนจำนำข้าว”

พร้อมเสนอให้รัฐบาลแก้ไขรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายงบประมาณ เพื่อกำหนดให้พรรคการเมืองต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในการหาเสียง และชี้แจงต่อสภา ถึงแหล่งเงินและการใช้เงิน รวมทั้งต้องจำกัดบทบาทในการแทรกแซงตลาดข้าว เช่น ไม่ควรเกิน 5-10% ของปริมาณในข้าวในประเทศ ตลอดจนกำหนดแนวทางการระบายข้าวให้ชัดเจน อย่างสต็อกข้าวที่มีอยู่ควรยอมขาดทุน 6 แสนล้านบาท ดีกว่ารอขาดทุนเกือบ 1 ล้านล้านบาท ในอนาคต และข้าวที่เสื่อมคุณภาพควรทิ้งไป ส่วนอีก 50% ควรบริจาคให้โครงการอาหารโลก ซึ่งจะช่วยเคลียร์ สต็อกและลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้ทันที

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือก 5 ฤดูการผลิต ตั้งแต่ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน รวมปริมาณข้าว 54.35 ล้านตัน มีมูลค่าการใช้จ่าย 9.85 แสนล้านบาท จากชาวนาเข้าร่วมโครงการ 1.8 ล้านครัวเรือน โดยส่วนใหญ่ใช้เงินนอกงบประมาณ และพบว่า หากประเมินราคา ณ ปัจจุบันจากสต็อกข้าวที่เหลือ 17-18 ล้านตัน รัฐบาลน่าจะมีผลขาดทุนถึง 6.6 แสนล้านบาท หากรัฐบาลใช้เวลา 10 ปี ในการระบายสต็อก น่าจะทำให้ผลขาดทุนพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 9.6 แสนล้านบาท

จากการศึกษาพบว่า มีการทุจริตในการระบายข้าว ทั้งจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐจำนวน 7.8 ล้านตัน เป็นเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และการทุจริตโดยการเลือกขายข้าวให้พรรคพวกในราคาต่ำจำนวน 4 ล้านตัน เป็นวงเงิน 21,512 ล้านบาท รวมทั้งการทุจริตผ่านโครงการข้าวถุงราคาถูก 1.1 ล้านตัน เป็นเงิน 8,514 ล้านบาท นับว่ามีการทุจริตทุกขั้นตอน โดยความเสียหายจากการทุจริตคิดเป็นวงเงิน 1.09 แสนล้านบาท และสร้างความเสียหายทางสังคม 1.23 แสนล้านบาท

ด้าน นายเมธี ครองแก้ว อาจารย์จากคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ผลพวงของการจำนำข้าวกำลังเดินมาสู่การดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการตัดสินคดีคงอยู่ในดุลพินิจของศาล และผู้เกี่ยวข้องหลายคนคงต้องลุ้นกันต่อไป ซึ่งในฐานะที่ตนเคยอยู่ใน ป.ป.ช. และมีการตรวจสอบการทุจริตข้าวในอดีตพบว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นจริงทุกระดับชั้น ตั้งแต่การสวมสิทธิ์ การเวียนข้าว การทำลายหลักฐาน มีคดีต้องพิจารณาเป็นร้อยคดี และในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา ป.ป.ช.เคยส่งหนังสือเตือนรัฐบาลแล้วว่าจะมีปัญหาในการดำเนินโครงการ แต่ไม่ได้รับการตอบสนอง “เมื่อเริ่มดำเนินการโครงการรอบแรกก็ส่อเค้าจะมีความเสียหายรออยู่ เพราะการส่งออกข้าวลดลงอย่างมาก มีข้าวเหลือในสต็อกขายไม่ออก จึงทำหนังสือท้วงติงไปยังรัฐบาลอีกครั้ง แต่รัฐบาลยังนิ่งเฉยและ เดินหน้าต่อ จนกระทั่งมีนักวิชาการมีหลายฝ่ายออกมาทักท้วงและมีผลเกิดขึ้นอย่างที่เห็น” นายเมธี กล่าว

นายสมพร อิศวิลานนท์ ตัวแทนจากสถาบันคลังสมองชาติ กล่าวว่า การรับจำนำทุกเมล็ดเป็นการบิดเบือนเชิงนโยบายและทำลายกลไกตลาดข้าวโดยสิ้นเชิง เพราะรัฐ เป็นผู้ผูกขาดรายใหญ่ในตลาดข้าวเปลือกและข้าวสาร รวมทั้งทำให้คุณภาพข้าวตกต่ำและขายได้ราคาต่ำกว่าข้าวอินเดียและเวียดนาม ในอนาคตการจะช่วยให้เกษตรกรอยู่รอด ต้องไปดูที่โครงสร้างพื้นฐานในการผลิตที่ดี มีต้นทุนลดลง สามารถแข่งขันได้ รวมทั้งสร้างประสิทธิภาพของกลไกตลาดให้เกิดขึ้นจริง และสร้างความเข้มแข็งให้ระบบสหกรณ์ รวมทั้งการสนับสนุนด้านเงินทุนหรือสินเชื่อให้เพียงพอ

ขณะที่ นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ต้นตอการซื้อข้าวในราคานำตลาดถึง 50% ทำให้ชาวนาชื่นชอบนั้น เป็นผลมาจากนโยบายของฝ่ายการเมืองที่ต้องการชนะและครองใจคะแนนเสียงกลุ่มใหญ่ จึงเป็นที่มาของความเลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและระบบเศรษฐกิจ การที่รัฐตั้งราคาซื้อสูง ทำให้พ่อค้าไม่สามารถแข่งซื้อข้าวกับรัฐบาลได้ และข้าวที่รัฐกำหนดราคาซื้อนั้น สูงกว่าตลาดโลกมากและสต็อกที่มี 18 ล้านตันนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาระบายมากกว่า 3 ปี อย่างแน่นอน

“เชื่อว่าการปลูกข้าวในไทยส่วนใหญ่ไม่ขาดทุนและน่าจะมีกำไร 50% ด้วยซ้ำ แต่อาจมีชาวนาบางกลุ่มที่เดือดร้อนจริง ดังนั้นการช่วยเหลือด้วยการแจกเงินให้ชาวนาไร่ละ 1,000 บาท น่าจะดีกว่า เพราะไม่กระทบตลาด แต่การแจกเงินก็ต้องระวังด้วย เพราะมีเกษตรกรพืชชนิดอื่นที่มีปัญหาความเดือดร้อนเช่นกัน ส่วนวิธีการ แก้ไขปัญหาต้องแก้ทางการเมือง โดยป้องกันการผูกขาดทางการเมืองที่เน้นทำนโยบายโดยไม่คำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ และการช่วยเกษตรกรยากจนต้องช่วยลดต้นทุนให้ถูกลง มุ่งพัฒนาคุณภาพข้าวเพื่อให้อยู่ได้ยั่งยืนและขายได้ราคาดีมากกว่า” นายวิชัย กล่าว

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคาร เพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติไม่เห็นด้วยทั้งการนโยบายรับจำนำ หรือประกันรายได้ เพราะไม่ไว้ใจนักการเมือง การทำโครงการในอดีตจึงต้องมีการสร้างภูมิคุ้มกันให้ธนาคารด้วย แม้รัฐบาลจะไม่ลดราคาจำนำและจำกัดปริมาณการรับจำนำตามที่เสนอ แต่ ธ.ก.ส.ก็เข้มงวดในการทำโครงการระดับหนึ่ง และให้ ครม.มีมติรองรับการจ่ายชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ธนาคารด้วย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557