ภาษีมรดกและประสบการณ์ในต่างประเทศ

ปี2014-11-06

ดร. ภาวิน ศิริประภานุกูล
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Thai PBO

บทบาทสำคัญประการหนึ่งของหน่วยงานวิเคราะห์งบประมาณที่เป็นอิสระ ในลักษณะเดียวกันกับ Thai PBO คือ การวิเคราะห์นโยบายการคลังที่ประกาศใช้โดยรัฐบาลในแง่มุมต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบต่อฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลและผลกระทบต่อสังคม โดยนโยบายการคลังดังกล่าวรวมถึงนโยบายการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลด้วย

สำหรับนโยบายด้านภาษีของรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีการประกาศจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ 2 – 3 ประเภท โดยภาษีประเภทใหม่ที่น่าจะถูกประกาศใช้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด ก็คือ ภาษีมรดก โดยจากข่าวการให้สัมภาษณ์ของ คุณสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนปัจจุบัน คาดว่ากระทรวงการคลังจะสามารถเสนอร่างกฎหมายภาษีมรดกฉบับสมบูรณ์ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้อย่างช้าไม่เกินเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในช่วงต้นปี 2558

สำหรับรายละเอียดในการจัดเก็บภาษีมรดกนั้น น่าจะเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าจะคำนวณจากมูลค่าสุทธิของมรดก นั่นคือ คำนวณรวมมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดหักด้วยมูลค่าของหนี้สินทั้งหมดที่ตกทอดมา โดยมีการยกเว้นภาษีสำหรับมรดกที่มีมูลค่าสุทธิ 50 ล้านบาทหรือต่ำกว่า ส่วนที่เกินจากนั้นจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราคงที่ร้อยละ 10 ในขณะที่มูลค่าสุทธิของมรดกคำนวณจากมูลค่าของสินทรัพย์ เฉพาะที่มีการจดทะเบียนหรือมีหลักฐานในการถือครองเท่านั้น

โดยปกติแล้ว ภาษีมรดกจะถูกจัดเก็บควบคู่ไปกับภาษีการรับการให้ เนื่องจาก มรดกมักจะหมายถึงทรัพย์สินที่มีการยกให้ภายหลังจากเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิตแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้เกิดการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกได้ง่าย จึงมีการนำเอามูลค่าทรัพย์สินที่เจ้าของทรัพย์สินยกให้ ในช่วงที่เจ้าของยังมีชีวิตอยู่ก่อนหน้าการเสียชีวิตตามเวลาที่กำหนดมาคำนวณภาษีร่วมด้วย โดยในกรณีของประเทศไทยจะคำนวณรวมทรัพย์สินที่มีการยกให้ก่อนเจ้าของทรัพย์สินเสียชีวิต 2 – 5 ปี

เมื่อพิจารณารายละเอียดของการจัดเก็บภาษีข้างต้นแล้ว จะเห็นได้ว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีประเภทนี้ คือ ผู้ที่มีฐานะร่ำรวยในสังคมไทยจริงๆเพียงเท่านั้น โดยข้อยกเว้นการจัดเก็บทรัพย์สินที่มีมูลค่าสุทธิ 50 ล้านบาทหรือต่ำกว่า ถือเป็นข้อยกเว้นในระดับสูงที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกในปัจจุบัน ในขณะที่ อัตราการจัดเก็บภาษีที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ณ มูลค่าทรัพย์สินระดับ 50 ล้านบาท ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เกือบจะต่ำที่สุดในโลกได้

ในทางทฤษฎีแล้ว การจัดเก็บภาษีมรดกส่งผลดีหลากหลายประการ ทั้งในแง่การส่งเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ และในแง่ของการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก การจัดเก็บภาษีมรดกที่มีการออกแบบอย่างเหมาะสม จะส่งผลให้เกิดการสะสมทุนและทรัพย์สินในระดับที่เหมาะสม กระตุ้นการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในปัจจุบัน ไม่เกิดการสะสมทรัพย์สินเพื่อเก็งกำไรมากจนเกินไป เกิดการกระจายทรัพย์สินไปสู่ภาคส่วนที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรม จูงใจให้มีการบริจาคเงินให้กับองค์กรสาธารณกุศล นอกจากนั้น ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มเติมให้กับรัฐบาล โดยไม่กระทบผู้ที่มีฐานะไม่สู้ดีนัก ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีมรดกหรือเคยจัดเก็บภาษีดังกล่าว จะเห็นได้ว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่การนำเอาภาษีประเภทนี้ไปบังคับใช้จริง ในทางปฏิบัติ เนื่องจาก การให้นิยามของคำว่ามรดกและการกำหนดเวลาคำนวณรวมทรัพย์สินจากการรับการให้นั้นก่อให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในการหลีกเลี่ยงหรือหลบเลี่ยงการเสียภาษีดังกล่าวได้

ลองพิจารณาตัวอย่างง่ายๆ ดังนี้ เจ้าของทรัพย์สินที่มีมูลค่าสุทธิราว 200 ล้านบาท อาจนำเอาชื่อของลูกๆหลานๆหลายคนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับมรดก ซึ่งทำให้ผู้รับมรดกแต่ละรายได้รับทรัพย์สินที่มีมูลค่าสุทธิไม่เกิน 50 ล้านบาท หรืออาจมีการทะยอยโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตั้งแต่ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ ซึ่งทรัพย์สินที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ก่อนการเสียชีวิต 5 ปีจะไม่ถูกนำมาคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีมรดก นอกจากนั้น อาจมีการเปลี่ยนเงินฝากหรือทรัพย์สินอื่นๆบางส่วนไปเป็นทองคำแท่งหรือของสะสมหายากประเภทอื่น ซึ่งไม่น่าจะถูกจัดเก็บภาษีมรดกในปัจจุบันได้

นอกจากนั้น ในต่างประเทศยังมีการบันทึกถึงช่องทางในการหลีกเลี่ยงการเสียภาษีมรดกที่มีความซับซ้อนอีกเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น การจัดตั้งบริษัทหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทโดยนำเอาหุ้นบุริมสิทธิ์มาใช้ประโยชน์ การทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินกับลูกหลานซึ่งไม่ถือเป็นการยกทรัพย์สินให้ การทำประกันชีวิตโดยให้ลูกหลานเป็นผู้รับผลประโยชน์ การตั้งกองทรัสต์เพื่อกระจายมูลค่ามรดก การทะยอยโอนทรัพย์สินในช่วงที่ราคาตลาดต่ำกว่าต้นทุน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้ยังไม่รวมถึงการโอนทรัพย์สินบางส่วนไปไว้ในต่างประเทศอีกด้วย

ด้วยความไม่ชัดเจนในการนิยามและคำนวณมูลค่าของมรดก รวมถึงช่องทางการหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดกที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก จึงทำให้มูลค่ารวมของการจัดเก็บภาษีมรดกในประเทศต่างๆ อยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก โดยในระยะหลังภาษีมรดกสร้างรายได้ให้กับประเทศต่างๆ ที่จัดเก็บต่ำกว่าร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับรายได้ภาษีทั้งหมดของรัฐบาล หรือต่ำกว่าร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศ ในขณะที่ต้นทุนในการจัดเก็บภาษีมรดกของประเทศมักจะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากต้องมีฐานข้อมูลทรัพย์สินที่ดี ต้องมีกระบวนการรวบรวมและประเมินมูลค่า รวมไปถึงมีกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับวิธีการประเมินและการคำนวณภาษีมรดกเป็นจำนวนมาก

ด้วยเหตุผลเหล่านี้จึงทำให้หลายๆ ประเทศที่เคยจัดเก็บภาษีมรดก ได้ทำการยกเลิกการจัดเก็บภาษีประเภทนี้ไป ยกตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ สิงคโปร์ ฮ่องกง ออสเตรเลีย และ แคนาดา เป็นต้น ในกรณีของประเทศไทย คงต้องมีการเฝ้าติดตามและประเมินผลการจัดเก็บภาษีมรดกนี้ ภายหลังมีการนำมาบังคับใช้จริง ต่อไป

—————————-
หมายเหตุ: ชุดโครงการ ThaiPBO

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557