tdri logo
tdri logo
20 พฤศจิกายน 2014
Read in Minutes

Views

อยู่หรือไป? อนาคตอุตสาหกรรมไทยหลังการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล

เจอหน้าใครช่วงนี้มีแต่คนถามไถ่ว่า หลังจากที่เราเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “เออีซี” อย่างเป็นทางการปลายปีหน้าแล้ว เราจะเป็นอย่างไร? ธุรกิจใดจะล้มหายตายจากไป? ธุรกิจใดจะอยู่รอด? และถ้าอยากจะอยู่แบบรุ่งเรือง เราควรต้องทำอย่างไร? ควรจะอยู่แค่ในเมืองไทยต่อไปหรือควรจะขยับขยายออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเออีซี? ถ้าจะตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ทั้งหมด คงต้องใช้เวลามากพอสมควร บทความนี้ขอเลือกเฉพาะ บางคำตอบที่ผู้เขียนคิดว่าจำเป็นเร่งด่วน สองประเด็นมาเล่าก่อน

ประเด็นแรก ธุรกิจไทยจะเก่งแต่ในบ้านอย่างเดียวไม่พอแน่ เราควรจะต้องคว้าโอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายใต้เออีซีไว้ให้ได้ซึ่งโอกาสที่เกิดขึ้นมีอย่างน้อยสามด้าน

ด้านแรกคือโอกาสด้านตลาด เมื่อรวมกันทั้ง 10 ประเทศแล้ว เออีซีมีขนาดใหญ่กว่าตลาดของประเทศเราประเทศเดียวถึง 10 เท่าด้านต่อมาคือโอกาสในการหาแหล่งวัตถุดิบที่แต่ละประเทศในเออีซีมีอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรัพยากรธรรมชาติพวกน้ำมันปิโตรเลียมและแร่ธาตุ รวมไปถึงส่วนประกอบและชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตจากโรงงานที่กระจายตัวตั้งอยู่ในประเทศเหล่านี้และด้านที่สาม ซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือโอกาสในการหาแรงงาน ที่มีจำนวนและคุณภาพในระดับที่ยอมรับได้ ซึ่งตอนนี้เชื่อว่าเถ้าแก่หลายคนพบปัญหาการหาคนมาทำงาน เพราะคนไทยเลือกงาน คนต่างชาติทยอยกลับประเทศบ้านเกิด และในอนาคต จะยิ่งปวดหัวหนักเข้าไปใหญ่เมื่อมีคนในวัยทำงานไม่พอ จากการที่ประเทศไทยเราเข้าสู่สังคม ผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า

ที่ผ่านมา เราได้เห็นตามหน้าข่าวว่า หลายธุรกิจไทยสามารถไปเติบโตโกอินเตอร์อยู่ในหลายประเทศในเออีซีแล้วไม่ว่าจะเป็น เอสซีจี ปตท. แพรนด้าจิวเวลรี่ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ แต่เมื่อเทียบกับธุรกิจต่างชาติแล้ว เรายังออกไป กันน้อยมากและช้ามากเมื่อดูเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านติดกับเราอย่างกัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าประเทศ ซีแอลเอ็มวี ปี 2555 เราไปลงทุนเพียงประมาณ 5.2 พันล้านบาท เพิ่มจากเมื่อ 8 ปีก่อนเพียง 4.5 เท่า ในขณะที่นักลงทุนญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ เข้ามาลงทุนกันในแต่ละปีในระดับหลายหมื่น ล้านบาท ซึ่งเพิ่มจากเดิมเป็นหลักร้อยเท่า ขนาดนักลงทุนในเวียดนามยังแห่กันไปลงทุน คิดเป็นมูลค่ามากกว่าเราถึง 3.5 เท่า!!!

ประเด็นที่สอง ธุรกิจไทยจะยังทำเพียงแค่การผลิตอย่างเดียวไม่ได้ นอกจากการนำนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการ ปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตและกระบวนการบริหารจัดการในโรงงานแล้ว เราจะต้องหากิจกรรมที่สามารถสร้าง มูลค่าเพิ่มสูงอื่นๆ มาหนุนเสริมด้วย

กิจกรรมสร้างมูลค่าเพิ่มสูงอันแรกคือการทำวิจัยพัฒนาเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ที่ลูกค้าต้องการ ที่ผ่านมา มีธุรกิจไทยที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้อยู่จำนวนหนึ่ง ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ลงไปถึงขนาดเล็ก ขอเล่าตัวอย่างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในการทำกิจกรรมเหล่านี้ประกอบสี่ตัวอย่าง

ตัวอย่างแรกเป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วน ยานยนต์ขนาดใหญ่รายหนึ่งที่เห็นว่า การเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตตามที่ลูกค้ากำหนดหรือ โออีเอ็มเพียงอย่างเดียวไปไม่ไหวแน่ เนื่องจากในแต่ละปี ลูกค้าซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบรถยนต์ จะคอยมาบีบให้ผู้รับจ้างผลิตแต่ละรายการ แข่งกันลดต้นทุนการผลิต ใครทำไม่ได้ก็จะ ไม่ได้รับออเดอร์ไปตามระเบียบ บริษัทรายนี้จึงสร้างส่วนออกแบบวิจัยพัฒนาขึ้นมาเองเพื่อทำ กิจกรรมออกแบบเชิงวิศวกรรมเพิ่มเติมเพื่อเสนอลูกค้า กิจกรรมออกแบบนี้นอกจากทำให้บริษัทได้ค่าตอบแทนแล้ว ยังทำให้บริษัท มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งจากการได้รับ การยอมรับจากลูกค้ามากขึ้นด้วย

ตัวอย่างที่สองเป็นบริษัทผู้รับจ้างผลิต ชุดสายไฟขนาดเล็กรายหนึ่งที่เกือบสิ้นเนื้อ ประดาตัวหลังจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย ปี 2554 เมื่อลูกค้าเลิกสัญญาและหันไปซื้อสินค้าจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่รายหนึ่ง ที่ได้เปรียบเรื่องราคา เนื่องจากบริษัทข้ามชาติแห่งนี้ใช้ยุทธศาสตร์ขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตไม่สูงแต่ใช้แรงงาน อย่างเข้มข้นไปกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี แล้วให้ ไทยเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อกับฐานการผลิตใหม่

เหล่านี้หรือที่เรียกกันว่า ยุทธศาสตร์ประเทศไทย บวกหนึ่ง (Thailand Plus One) บริษัทไทยรายนี้ตัดสินใจทุบกระปุกซื้อเครื่องจักรอุปกรณ์ใหม่มาแล้วทำการตลาดเชิงรุกวิ่งไปเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้า เพื่อยกระดับตัวเองให้เป็นบริษัทโอดีเอ็มที่มีการออกแบบตามความต้องการของลูกค้าพ่วงเข้าไปด้วยอีกราย

ตัวอย่างต่อมาเป็นกลุ่มผู้ค้าเสื้อผ้าแฟชั่นรายย่อยย่านประตูน้ำและสยามจำนวนหนึ่ง ที่ประสบความสำเร็จในการพยายามเลียนแบบต่อยอดจากเสื้อผ้าสวยๆ เก๋ๆ ที่ออกแบบโดย นักออกแบบแบรนด์ดังๆ ได้อย่างรวดเร็ว (fast copycat) จากการพูดคุยกับกลุ่มผู้ค้ากลุ่มนี้ เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นที่ถูกอกถูกใจลูกค้าไม่ใช่แค่คนไทยแต่ยังรวมถึงลูกค้าจากหลายประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศซีแอลเอ็มวีที่ยกย่องว่าไทยเป็นหนึ่งในผู้นำด้านแฟชั่นในภูมิภาค

ตัวอย่างสุดท้าย มีธุรกิจการ์เม้นท์ไทย รายใหญ่จำนวนหนึ่งสามารถขยับขึ้นเป็น ผู้บริหารจัดการเครือข่ายการผลิตที่แผ่ขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้แล้ว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องแรงงานและการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจีเอสพี ธุรกิจเหล่านี้ตัดสินใจไปตั้งโรงงานในประเทศกัมพูชา ลาว และเวียดนาม แล้วใช้ฐานความรู้ความเชี่ยวชาญของตนที่สั่งสมมานานในการจัดการวางระบบต่างๆ ทั้งหมด ตั้งแต่การผลิต การบริหารสินค้าคงคลัง การขนส่งและโลจิสติกส์ และการบัญชี ควบคู่กับการสอนงานพนักงานในประเทศ เหล่านี้ให้มีทักษะเพิ่มสูงขึ้น

ขอสรุปทิ้งท้ายว่า ธุรกิจไทยจะสามารถ อยู่รอดและเติบโตได้อย่างเข้มแข็ง หากพยายามปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที โดยการออกไปแสวงหาโอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น และการยกระดับตนเองไปสู่กิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

ข้อค้นพบจากงานวิจัยโครงการเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมภายใต้ นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย (ระยะที่ 5) ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยดำเนินการร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม

 

—————————-

ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด