สราวุธ ไพฑูรย์พงษ์
คราวก่อน (3 ตุลาคม 2557) ได้คุยเรื่องแรงงานข้ามชาติจากเวียดนามไปแล้วครั้งหนึ่ง วันนี้ขออนุญาตว่าต่ออีกหน่อย เพราะดูเหมือนว่าเราจะยังขาดความรู้บางประการเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติเวียดนามและนโยบายของรัฐบาลเวียดนามในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเรื่องที่รัฐจะทำความตกลงกับรัฐบาลเวียดนามให้ส่งแรงงานมาเสริมหรือทดแทนแรงงานข้ามชาติจากพม่า กัมพูชา และลาว
มันอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด
ในปี 2556 เวียดนามมีประชากรประมาณ 90 ล้านคน และแรงงานประมาณ 53 ล้านคน มีอัตราการว่างงานประมาณร้อยละ 2 ประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานอยู่ในวัย 20-29 ปี ประชากรของเวียดนามโตเร็วกว่าของไทย โดยจำนวนบุตรต่อสตรีในวัยเจริญพันธุ์เท่ากับ 1.8 เทียบกับ 1.4-1.5 ของไทย และยังไม่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยมีสัดส่วนผู้มีอายุ 60 ขึ้นไป ประมาณร้อยละ 9 (เทียบกับร้อยละ 13 ของไทย) ปัจจุบันประเทศเวียดนามถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มรายได้ระดับกลางตอนล่าง โดยมีรายได้ (GDP) เฉลี่ยประมาณ 169,400 บาท น้อยกว่าไทยประมาณ 3 เท่า (ไทยเฉลี่ยประมาณ 497,000 บาท)
เวียดนามเริ่มส่งออกแรงงานเป็นเรื่องเป็นราวตั้งแต่ปี 2529 เมื่อเริ่มเปิดประเทศตามโครงการ Doi Moi ส่งออกแรงงานโดยรัฐบาลประมาณปีละ 8 หมื่นคน ซึ่งรวมในช่วงเวลา 10 ปี (2544-2553) ส่งแรงงานออกไปแล้วไม่ต่ำกว่า 8 แสนคน (ไม่นับ ผู้ลี้ภัยและกรณีอื่น) ตัวเลขเงินส่งกลับโดยแรงงานในปี 2556 มีมูลค่าถึง 352 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของ GDP ของเวียดนาม
ประเทศหลักๆ ที่ส่งแรงงานไป คือไต้หวัน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยแทบไม่มีส่งมาไทยเลย
แรงงานเวียดนามที่มาประเทศไทยนั้นมากันเองโดยที่อยู่ใกล้ชายแดนไทยมาง่ายกลับง่าย เป็นแรงงานที่ไม่ได้ผ่านระบบคัดกรองของรัฐและเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมายซึ่งได้กล่าวไปแล้วในครั้งก่อน แรงงานที่กลับไป เท่าที่พบและพูดคุยกันกับผู้เขียน หลายคนกลับไปเพราะกลัวรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ แต่บางคนกลับไปก่อนหน้านั้นเพราะเจอะงานที่ดีกว่า โดยเฉพาะที่ลาว ให้ค่าจ้างสูงกว่าไทยและดูแลดี เพราะรัฐบาลลาวเป็นผู้จัดหาว่าจ้างและดูแลแรงงานนำเข้าอย่างดี (จากปากคำของแรงงานเวียดนามที่ผู้เขียนสัมภาษณ์) จึงไม่คิดกลับมาทำงานที่เมืองไทยอีก อย่างไรก็ตาม หลายคนก็ยังอยากกลับมาทำงานที่ประเทศไทย
ในแง่การบริหารจัดการ หน่วยงานหลักที่ดูแลแรงงานส่งออกมีหน่วยงานภาครัฐ คือกระทรวงแรงงาน ผู้พิการ และสวัสดิการสังคม (Ministry of Labour, Invalids and Social Welfare; MOLISA) ซึ่งมีกรมส่งออกแรงงาน (Department of Overseas Employment: DoLAB) ดูแลการจัดระเบียบแรงงานไปต่างประเทศและ Department of Labour, Invalids and Social Welfare: DOLISA) ดูแลเจ้าหน้าที่แรงงานระดับจังหวัดและเป็นตัวแทนของ DoLAB ในจังหวัด
นอกจากนั้น ยังมีสมาคมผู้ส่งออกแรงงานเวียดนาม (Vietnam Association of Manpower Supply: VAMAS) กับสหภาพแรงงานเวียดนาม (Vietnam General Confederation of Vietnam: VGCL) ทั้งสองหน่วยงานฟังดูชื่อจะเหมือนเป็นภาคเอกชน แต่ความจริงไม่ใช่ VAMAS จัดตั้งโดยรัฐ มีสมาชิกเป็นบริษัทนายหน้าจัดหาแรงงานส่งออก ซึ่งมีอยู่ 3 กลุ่ม คือบริษัทของรัฐ บริษัทเอกชน และบริษัทรัฐร่วมกับเอกชน
ส่วน VGCL เป็นสหภาพแรงงานแห่งชาติเจ้าเดียว ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจของพรรคคอมมิวนิสต์ให้ลุล่วงและเกิดประโยชน์ต่อพรรค สหภาพแรงงานอื่นๆ ต้องเป็นสมาชิกของ VGCL โดยไม่ต้องสมัครใจ แรงงานที่ไปทำงานในต่างประเทศไม่ได้เป็นสมาชิกของ VGCL จนกว่าจะกลับเข้าไปทำงานใน ประเทศ
รัฐบาลเวียดนามได้พยายามเจรจากับรัฐบาลไทยเพื่อทำข้อตกลง MOU ให้รัฐบาลเวียดนามส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง
ประเด็นที่น่าสนใจของเวียดนาม คือนโยบายการส่งออกแรงงานของเวียดนามนั้นเน้นที่แรงงานทักษะ (ในขณะที่ไทยต้องการแรงงานระดับล่าง) โดยเวียดนามได้ประกาศเป้าหมายการส่งออกดังนี้
-เพิ่มจำนวนแรงงานส่งออก (ทั่วโลก) ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ช่วง พ.ศ.2552-2558 และในอัตราร้อยละ 8-10 ต่อปี ในช่วง 2558-2563
-เพิ่มสัดส่วนแรงงานส่งออกที่สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษา ร้อยละ 5 ต่อปี และ
-ให้สัดส่วนแรงงานส่งออกระดับทักษะเป็นร้อยละ 100 ในปี 2563
น่าอิจฉาเขาที่มีนโยบายชัดเจน แต่ของเราเอาไงยังไม่รู้
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 14 พฤศจิกายน 2557