มติชนรายงาน: ‘ประชาธิปไตย’ กับ ‘แก้ไขคอร์รัปชั่น’ ไปด้วยกันหรือ ‘ต้องเลือก’ ?

ปี2014-11-11

วรรณโชค ไชยสะอาด

“เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน…..แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา…”

ได้ยินได้ฟังกันจนร้องได้กันแทบทั้งบาง สำหรับบทเพลง “คืนความสุข” ผลงานการประพันธ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้ได้ขยับเข้าสู่โรดแมปต่อไปตามกรอบที่วางเอาไว้สำหรับรัฐบาลชั่วคราว เมื่อได้คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) หรือที่เรียกกันว่า “36 อรหันต์” เป็นที่เรียบร้อย

จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าปลายปี พ.ศ.2558 จะได้ “เลือกตั้ง” ตาม “สัญญา” และสุดท้าย “แผ่นดินจะดีในไม่ช้า ขอคืนความสุขให้เธอประชาชน”

นอกจากแนวทางปฏิรูปที่เป็นความคาดหวังแล้ว “การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น” ยังเป็นงานหนัก เป็นการบ้านที่รัฐบาลกำลังปวดตับ เพราะกลับมีกรณีที่ต้องเผชิญเองด้วย ตั้งแต่ “ไมค์แพง” จนถึงเรื่อง “สนามฟุตซอลไม่ได้มาตรฐาน”

หลากหลายองค์กรถือโอกาสนี้จัดสัมมนาหาทางออก แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ดังเช่นเมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ “ทีดีอาร์ไอ” และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ร่วมกันจัดโครงการเสวนาสาธารณะ “เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้” (Economy of Tomorrow) เปิดวงเสวนาหัวข้อน่าฟัง “ประชาธิปไตย คอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศไทย: จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร”

เป็นความพยายามอธิบายปรากฏการณ์คอร์รัปชั่นในสังคมไทย ผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการขจัดคอร์รัปชั่น

บรรยากาศงานเสวนาเป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก

วงเสวนาเริ่มต้นที่ มาร์ค แซกเซอร์ (Mr.Marc Saxer) มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ซึ่งบอกว่า คอร์รัปชั่นเป็นอาการของโรคร้ายที่ใหญ่โต เรื้อรังมาจากระบอบศักดินาและวัฒนธรรมของไทย ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกฎหมายและเหตุผล และยังล้าหลังเกินไปที่จะตอบโจทย์ในสังคมสมัยใหม่และสังคมประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในปัญหาทางการเมืองและเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมเชิงอำนาจ ความอยุติธรรมในสังคม เป็นปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง

พร้อมย้ำชัดเจนว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นต้องแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่หันหลังให้ประชาธิปไตย

“สมการที่สังคมไทยต้องคิดใหม่คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องเท่ากับการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งรากลึกในสังคมไทย สร้างความยุติธรรมในสังคมและสร้างรัฐสมัยใหม่บนรากฐานของกฎหมาย ความ ยุติธรรมและเหตุผล สร้างสังคมที่ให้ผลตอบแทนตามผลงานและความสามารถ มากกว่าความสัมพันธ์ส่วนตัว”

“ปัจจุบันการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นมีเรื่องการเมืองและวาทกรรมแฝงอยู่ เพื่อส่งผลในการทำลายประชาธิปไตย ถูกใช้เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำในการรักษาอำนาจ การต่อสู้กับคอร์รัปชั่นจะสำเร็จได้ ต้องสร้างแนวร่วมทางสังคมที่กว้างขวาง ผนวกการต่อสู้คอร์รัปชั่นเข้ากับการสร้างประชาธิปไตย ที่สำคัญต้องดึงชนชั้นกลางกลับมาเป็นแนวร่วมในการสร้างประชาธิปไตยอีกครั้ง” มาร์คกล่าว

ด้าน สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ บอกว่า ประชาธิปไตยจะจัดการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นได้ต้องไม่มองประชาธิปไตยที่เน้นเพียงแค่การเข้าสู่อำนาจ และสนใจแค่เรื่องการเลือกตั้งอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ต้องเอาตรงนี้เป็นฐาน เอาไปบวกด้วยการตรวจสอบการถ่วงดุลที่ดี นั่นจะเป็นเครื่องมือที่สามารถดึงกลุ่มต่างๆ เข้าร่วมกันเพื่อเปลี่ยนผ่านทางการเมืองไปได้ ที่สำคัญสำหรับคนที่กังวลเรื่องประชาธิปไตย ต้องมองว่าคอร์รัปชั่นนั้นบั่นทอนประชาธิปไตย

“ในทางการเมืองอยากเสนอ 4 เรื่อง คือ 1.อย่าสนใจเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่ต้องสนใจในการใช้อำนาจด้วย 2.อย่าใช้คอร์รัปชั่นกลั่นแกล้งหรือเลือกข้างทางการเมือง ขณะเดียวกันก็อย่าใช้การเมืองปกปิดการทำคอร์รัปชั่น 3.อย่าอ้างความเป็นคนดีในการป้องกันการตรวจสอบ เพราะคนดีต้องตรวจสอบได้ ขณะเดียวกันก็อย่าปฏิเสธเรื่องจริยธรรม และ 4.อย่าปิดกั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และอย่าคิดว่าการกระจายอำนาจจะป้องกันคอร์รัปชั่นได้ เพราะต้องการมีกลไกตรวจสอบที่ดีเข้มแข็งด้วย”

ด้าน ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในสังคมไทยที่ผ่านมา การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นสูงขึ้นตลอด การเติบโตของประชาธิปไตยนั้นขึ้นๆ ลงๆ ส่วนคอร์รัปชั่นนั้นคงที่ตลอดไม่ลดลงเลย สาเหตุคือประเทศไทยตกอยู่ในภาวะที่เมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไป แต่กลับไม่รีบสร้างประชาธิปไตยให้โตตามทัน และหยุดชะงักตลอด ทำให้โอกาสในการสร้างประชาธิปไตยให้สำเร็จในระยะต่อไปนั้นยากยิ่งขึ้น เพราะปัญหาการเหลื่อมล้ำในด้านเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น และปัญหาการเสียผลประโยชน์จากชนชั้นกลาง

“ในระยะสั้น สังคมไทยอยู่ในระยะไม่ชอบฝ่ายตรงข้าม แต่ระยะยาว คอร์รัปชั่นคือสิ่งที่ทุกคนไม่ชอบเหมือนกัน เพราะทำร้ายทั้งสองฝ่าย วันนี้เราต้องอดทน ประชาธิปไตยมันใช้เวลานาน ต้องใจเย็นๆ มองไปข้างหน้าเราจะเห็นเป้าหมายเดียวกัน คือการลดคอร์รัปชั่น มองยาวๆ ความร่วมมือจะเกิด” นายธานีกล่าว

ขณะที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชวนคิดว่า ที่ผ่านมาเราเน้นมองปัญหาคอร์รัปชั่นในกรอบเศรษฐศาสตร์และวัฒนธรรม แต่เห็นว่าการคิดแบบนั้นละเลยปัจจัยสำคัญทางการเมืองไป เพราะงานวิจัยจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่เกิดจากระบอบการเมืองบางชนิดที่เป็นปัญหา ระบอบการเมืองที่ล้าหลัง ขาดอำนาจ เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชั่น

“ที่สุดแล้วเราแยกคอร์รัปชั่นกับการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนออกจากกันไม่ได้ แต่สังคมถูกทำให้สร้างโจทย์ที่คิดแยกออกจากกัน โดยมีกระบวนการทางการเมืองบอกว่า ต้องแก้คอร์รัปชั่น ก่อน ตราบใดที่ไม่แก้ จะทำอย่างอื่นไม่ได้

“ทั้งที่จริงๆ แล้ว สองเรื่องนี้มันสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น เป็นปัญหาใหญ่ของประชาธิปไตย และถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ก็ทำให้ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถาม และทำให้คนจำนวนมากเสื่อมศรัทธาและออกมาประท้วงจนล้มประชาธิปไตย ในนามของการต่อต้านคอร์รัปชั่น” ประจักษ์กล่าว

จบงานพร้อมด้วยความรู้ที่อัดแน่น

หัวข้อเสวนา “ประชาธิปไตย คอร์รัปชั่น และการปฏิรูปประเทศไทย: จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร” เป็นความพยายามอธิบายปรากฏการณ์คอร์รัปชั่นในสังคมไทย ผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการขจัดคอร์รัปชั่น

ตั้งธงสำหรับคำถามไว้กว้างๆ คือ ปัญหาคอร์รัปชั่นสะท้อน “อาการ” ของโรคในสังคมไทยอะไรบ้าง?, ความสัมพันธ์ระหว่างคอร์รัปชั่น การผูกขาด ระบบอุปถัมภ์ และการสร้างประชาธิปไตยคืออะไร?, ประชาธิปไตยมีความสำคัญและจำเป็นต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นอย่างไร?, ทำไมการแก้คอร์รัปชั่นกับการสร้างประชาธิปไตยต้องไปด้วยกัน

และการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นด้วยวิถีทางประชาธิปไตยมีแนวทางใดบ้าง?

ชัดเจนว่าคงต้องถกเถียงกันไปอีกยาว

เช่นเดียวกับการสร้าง “ประชาธิปไตย” ให้ลงหลักปักฐานในประเทศไทยอย่างจริงจัง

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557