จวกนโยบายรัฐต้นตอ ‘เหลื่อมล้ำ’ กฎหมายเอื้อแต่นายทุนรายใหญ่-แผนงานช่วย SME ล้มเหลว

ปี2014-11-18

นักวิชาการจวกนโยบายรัฐกลางเวทีเสวนาใหญ่ประจำปีธรรมศาสตร์ อัดรัฐบาลบริหารผิดพลาด สร้างความเหลื่อมล้ำให้สังคมไทยสูงขึ้น ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้รับความช่วยเหลือ หน่วยงานรัฐทำงานไปคนละทาง ขณะที่กฎหมายทางการค้า ก็เอื้อแต่นายทุนรายใหญ่ จี้เร่งภาษีที่ดิน และเก็บในอัตราสูง ดัดหลังพวกเศรษฐีนักเก็งกำไร

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 สมาคมเศรษฐกิจศาสตร์ธรรมศาสตร์ ก้าวข้ามความ เหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย หัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ” ว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำปัจจุบันเกิดจาก ความล้มเหลวของการกำกับดูแลของรัฐที่เน้นความ มั่นคงมากเกินไปมากกว่าเพิ่มประสิทธิภาพ มีข้อจำกัด ของนโยบายการส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมหรือ เอสเอ็มอี ซึ่งมองว่าในปัจจุบันรัฐช่วยในด้านนโยบายให้ ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเท่านั้น แต่ยังขาดยุทธศาสตร์และแผนธุรกิจ

นอกจากนี้การช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของภาครัฐยังไม่มีความร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลือ โดยยังกระจัดกระจาย ไม่ว่าจะเป็นการ สนับสนุนเงินทุนของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) หรือการสนับสนุนการลงทุนอย่างบีโอไอ หรือการช่วยเหลือทางด้านแรงงาน ส่งเสริมอาชีพของ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรัฐให้ทุนแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีมากไป แต่ยังไม่ครบวงจร ทำให้การแก้ไขเกิดความล้มเหลว เกิดความเหลื่อมล้ำ กันทางธุรกิจขนาดเล็กก็เล็กลง ธุรกิจขนาดใหญ่ ก็เล็กลงเมื่อเทียบกับการแข่งขันจากต่างประเทศ

ขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำยังเกิดจากความล้มเหลวของการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า โดยรายได้ภาคธุรกิจไทยมีแนวโน้ม กระจุกตัวมากขึ้น คนรวยขยายขึ้นแต่คนจนก็กลับน้อยลง เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่มีอัตราการขยายตัว สูงกว่าบริษัทขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง และบริษัท ขนาดใหญ่หลายรายมีข้อได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจาก ปัจจุบันเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีอำนาจผูกขาดตามกฎหมาย ซึ่งมีรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่ในไทย ยังไม่เกิดประสิทธิภาพจากองค์กร เพราะอยู่ที่กติกาของรัฐมากกว่าอยู่ในกลไกของตลาด ส่งผลให้ ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ด้านนางปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความล้มเหลวของรัฐ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จากโครงการภาครัฐที่มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับที่ดินที่อยู่อาศัยของประชาชน แต่หลังจากที่รัฐบาลเตรียมออกกฎหมายภาษีที่ดิน มองว่าเป็นเรื่องที่ประเทศไทยควรมีเพื่อ ลดปัญหาการเหลื่อมล้ำ เพราะคนที่มีอำนาจซื้อ ชอบซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร ปล่อยให้เช่าที่ โดยบางที่ดินปล่อยให้รกร้างไม่เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีที่ดินอาจจะเป็น จุดเริ่มต้นที่ดี แต่หากเก็บในอัตราต่ำก็อาจจะไม่เกิดประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะผู้มีอำนาจซื้อมากก็จะ มีกำลังในการซื้ออยู่ดี ดังนั้น ทางรัฐบาลควรพิจารณาถึงอัตราการเก็บและพิจารณาถึงผลลัพธ์หลังจากออกกฎหมายดังกล่าวด้วย

นอกจากภาษีที่ดินแล้ว อยากให้รัฐบาลคำนึงถึง วิธีอื่นเพื่อจัดสรรที่ดินให้เกิดประโยชน์ เช่น การจัดตั้ง กองทุนที่ดิน โดยเกิดจากทางองค์การบริหารส่วนตำบล กับทางชุมชนในพื้นที่ เพื่อซื้อที่ดินเพื่อช่วยเหลือ คนยากไร้ที่ไม่มีที่ทำกิน และให้ร่วมกันสร้างประโยชน์จากที่ดินนั้นคืนเป็นกำไรให้กองทุนอีกที เพื่อสร้างความเข้มแข็งอีกด้วย

ด้านนายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตศาสตราจารย์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำศึกษาเกิดจากครู ซึ่งที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณเกี่ยวกับการศึกษาไป 25% แต่การศึกษากลับอยู่ในกลุ่มต่ำสุดของโลก เนื่องจากที่ผ่านมา มีการจัดฝึกอบรมพิเศษให้กับครูเพิ่มเติม แต่ไม่ได้นำไปใช้ในการเรียนการสอนของนักเรียน ซึ่งมองว่าควรแก้ไขให้มีการปฏิรูปคุณภาพของการเรียนการสอนในชั้นเรียน เพิ่มศักยภาพนักเรียน ไม่ใช่แค่เพิ่มศักยภาพครู เพราะปัจจุบันเมื่อเทียบผลการเรียนกับการศึกษาแล้วถือว่าระดับชั้นมัธยมต่ำกว่ามาตรฐานกว่าระดับชั้นประถม

ด้านนายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา “กับดัก : ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชั่น” ว่าหนทางที่จะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชั่นได้นั้น กุญแจสำคัญคือประชาชน โดยภาครัฐต้องจัดระบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมทำให้เกิดกระบวนการทุกอย่างเกิดความโปร่งใส และต้องกระทำอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ประชาชนก็ต้องมีความ ตื่นตัวและมีจิตสำนึกร่วมกันว่าการโกงและทุจริตเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ด้านนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กลยุทธ์ ของคอร์รัปชั่นนั้น เป็นการทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้รับผลประโยชน์เพียงสั้นๆ แล้วกระจายภาระหรือหนี้สิน ไปให้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ทั้งจากการลงทุนของภาครัฐ และการแจกจ่ายเงินให้ลงทุน แล้วสร้างกำไรที่เกิดจาก ความได้เปรียบดังกล่าว เมื่อนานเข้าก็กระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน ทำให้เกิดการชะลอตัว วิธี แก้ปัญหานั้นต้องลดทอนอำนาจและบทบาทของรัฐลง โดยสถาบันต่างๆ ในประเทศทั้งเอกชนและประชาชนต้อง ร่วมมือกัน เพื่อทำให้สังคมประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์แนวหน้า วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557