โพสต์ทูเดย์รายงาน: ทีดีอาร์ไอชำแหละ ทุจริตจำนำข้าว 1.1 แสนล้าน

ปี2014-11-10

กนกวรรณ บุญประเสริฐ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ศึกษาพฤติกรรมการทุจริต ในโครงการรับจำนำข้าวปี 2554-2557 ที่ใช้เงิน 9.85 แสนล้านบาทในการแทรกแซงตลาดข้าวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติการณ์ มีการรับซื้อข้าวรวม 54.4 ล้านตัน หรือประมาณ 53% ของผลผลิต

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงกระบวนการทุจริตในการระบายข้าวที่มีมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท ว่า เกิดจากการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 7.8 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริต 4.5 หมื่นล้านบาท ข้าวหาย 1.2 แสนตัน และการสับเปลี่ยนข้าวที่มีคุณภาพจากโรงสีไปขายก่อน แล้วเอาข้าวคุณภาพต่ำมาคืนโกดัง ปริมาณ 5.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริตรวมกันกว่า 3.44 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ การเลือกข้าวขายให้พ่อค้าพรรคพวกเดียวกันในราคา 11 บาท/กิโลกรัม (กก.) ต่ำกว่าต้นทุนที่รับจำนำมา จำนวน 5.3 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าทุจริต 2.15 หมื่นล้านบาท การดำเนินการขายข้าวถุง 2.4 ล้านตัน ที่คาดว่ามีข้าวเข้าตลาดจริงเพียง 1.86 แสนตัน เมื่อคำนวณรวมกับค่าปรับปรุงคุณภาพและค่าขนส่งข้าวถุง คิดเป็นมูลค่าทุจริตกว่า 8,541 ล้านบาท

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่สำรวจ ได้พบพฤติกรรมการทุจริต เช่น มีการโกหกว่าขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ 1.76 ล้านตัน ในปี 2555 และ 7-8 ล้านตัน ในปี 2555-2556 แต่ตรวจหาเอกสารหลักฐานไม่เจอโดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกที่กรมศุลกากร ไม่พบการส่งออกโดยรัฐบาล มีเพียงข้อมูลการส่งออกของสมาคมส่งออกข้าวไทย นอกจากนี้ยังมีการปิดบังข้อมูลด้วยการโอนหน้าที่การออกใบอนุญาตส่งออกข้าวขาวจากสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลับไปที่กระทรวงพาณิชย์ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า บริษัทที่ส่งออกข้าวมีการส่งออกจำนวนและราคาเท่าไหร่

ขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการลักลอบขนข้าวคุณภาพดีไปขายก่อน โดยมีการรายงานว่าข้าวหาย 2.98 ล้านตัน เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2556 แต่กว่าที่จะมีการประกาศออกมา ก็เดือน มิ.ย. 2556 โดย สุภา ปิยะจิตติ ประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีข้าว

การลักลอบขนข้าวคุณภาพออกไป จากนั้นมีการซื้อข้าวคุณภาพต่ำเข้ามาคืนโกดัง ทั้งข้าวเก่าในยุครัฐบาลทักษิณ ประมาณ 2 ล้านตัน และข้าวคุณภาพต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านมาแทน จนปริมาณเพิ่มขึ้น 3 ล้านตัน และคาดว่าน่าจะมีการนำข้าวจากการรับจำนำในรอบที่ 4 มาใช้คืนรอบที่ 3 เพราะกลัวความผิด

และนี่เป็นสาเหตุให้รัฐบาลชุดนี้เมื่อตรวจสอบสต๊อกข้าวในโกดังแล้ว พบว่า เป็นข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานกว่า 85% โดยข้าวที่มีมาตรฐานมีเพียง 14%

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่นายหน้าใช้อิทธิพลนำข้าวเปลือกจากโรงสีไปขายให้ผู้ส่งออกข้าวนึ่ง ทำให้ไทยสามารถส่งออกข้าวนึ่งได้ 4.76 ล้านตัน ช่วงเดือน ต.ค.2554-เม.ย. 2557 ทั้งที่โครงการรับจำนำข้าวไม่เคยมีโครงการทำข้าวนึ่ง ขณะที่ข้าวนาปรังถูกขายให้รัฐบาลหมดทุกเมล็ด แต่ทำไมจึงยังมีการส่งออกข้าวนึ่งได้

ขณะเดียวกัน หากประเมินความเสียหายเป็นค่าเช่าทางเศรษฐกิจ มูลค่าสูงถึง 5.85 แสนล้านบาทหรือ 41% ของจีดีพีเกษตร ทำให้ผู้เกี่ยวข้องสามารถลงทุนเพื่อแสวงหากำไรพิเศษนี้ และส่งผลเสียต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ เพราะทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวแพงขึ้น ทำให้มีการใช้น้ำชลประทานมากกว่าแผนการจ่ายของกรมชลประทาน และกลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาน้ำแล้งในปีนี้ (2557/2558)

รวมทั้งโรงสีมีกำลังการผลิตส่วนเกิน ประมาณ100 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเลิกโครงการรับจำนำข้าว ก็มีแนวโน้มว่าโรงสีเหล่านี้จะประสบปัญหาล้มละลายกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์

นิพนธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทุจริตที่เกิดขึ้นทำความเสียหายมากขนาดนี้ ภาครัฐควรหาตัวผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีเพิ่ม

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 6 พฤศจิกายน 2557