อนัญญา มูลเพ็ญ
ในระหว่างที่ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โจทย์สำคัญที่ทุกฝ่ายต้องเร่งแก้ไขคือ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ในวงสัมมนาหัวข้อ “ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ : ทุน คน ที่ดิน”จัดโดย สมาคมเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงต้นเหตุและแนวทางแก้ไขความเหลื่อมล้ำด้านต่างๆ
ปัทมาวดี โพชนุกูล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินทำกินเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมโดยปัจจุบันพบว่า 59% ของที่ดินทำกินทั้งประเทศตกอยู่ในมือของรัฐ เช่น ที่ดิน ส.ป.ก. ที่ราชพัสดุ และการบริการจัดการที่ดินไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรแต่ที่น่าสนใจ คือ ที่ดินเกษตรกรรม 52% อยู่ในมือครัวเรือนเกษตรกรเพียง 25%
“ที่ดินที่อยู่ในมือเกษตรกรเองพบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำในการถือครองสูง เห็นได้จาก 75% ของครัวเรือนชาวนา 3.5 ครัวเรือน มีส่วนแบ่งในที่ดินทำกินเพียง 48% แต่ครัวเรือนเพียง 25% ถือครองที่ดินในสัดส่วนสูงถึง 52%”
ปัทมาวดี เสนอว่า ภาครัฐควรกระจายการถือครองที่ดินทำกินไปสู่มือประชาชน โดยแนวทางที่จะกระจายที่ดินทำกินได้ทั่วถึง คือ การตั้งกองทุนที่ดินที่บริหารจัดการโดยท้องถิ่น นอกจากนี้การกระจายที่ดินทำกินจะต้องทำควบคู่กับการวางแนวทางการส่งเสริมให้ประชาชนหารายได้จากที่ดินทำกินได้เพิ่มขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำของรายได้
อย่างไรก็ดี ปัทมาวดี ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อที่ควรระมัดระวังในอนาคต ซึ่งจะสร้างความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดินเพิ่มขึ้น คือ เหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดถี่ขึ้น จะทำให้คนกรุงเทพฯ ออกไปซื้อที่ดินในต่างจังหวัด เช่นภาคเหนือและอีสานเพิ่มขึ้น ตลอดจนการรวมตัวของอาเซียนส่งผลให้เกิดการแย่งพื้นที่ในพื้นที่ตามชายแดนมากขึ้น ดังนั้นการออกนโยบายต่างๆ ของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดโซนนิ่ง เขตเศรษฐกิจพิเศษ ภาษีที่ดิน
และสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ต้องดำเนินการด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้เจ้าของที่ดินผลักภาระการเสียภาษีไปสู่ผู้เช่าที่ดินทำกินได้
เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ฉายภาพให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอีกด้าน คือ ด้านของทุน โดยระบุว่าจากข้อมูล ณ ปี 2556 พบว่าในปี 2547 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ 20 รายแรกมีรายได้คิดเป็น 83% ของรายได้ทั้งหมดของบริษัทจดทะเบียนและเพิ่มมาเป็น 90% ในปี 2556 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากบริษัทขนาดใหญ่ 20 รายแรกที่ใหญ่ที่สุด พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทที่อยู่ในธุรกิจผูกขาด และมีกฎหมายที่เอื้อให้ธุรกิจโตต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการกำกับของภาครัฐ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้การลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า ที่เน้นการกำกับดูแลมากกว่ามุ่งประสิทธิภาพ ขณะที่
นโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอียังมีข้อจำกัด
“ปัจจุบันความเหลื่อมล้ำมีอยู่ในทุกจุดของประเทศไทย หรือเรียกได้ว่าอยู่ในระบบที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา ผู้กำหนดนโยบายอยู่ใกล้กับคนมือยาว ซึ่งถ้าจะแก้ความเหลื่อมล้ำ จะต้องแก้ที่การกำหนดนโยบายโดยต้องให้ภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการชุดต่างๆ หรืออนุกรรมการ ซึ่งภาครัฐต้องรับฟังความคิดเห็นจริงจังและต้องเปิดเผยข้อมูลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ” เดือนเด่น บอก
ด้าน กนก วงษ์ตระหง่าน อดีตศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยไม่สำเร็จ เนื่องจากระบบการศึกษาที่ไม่ได้คุณภาพ โดยการศึกษาของไทยมีการใช้งบถึงปีละกว่า 5 แสนล้านบาท หรือ 25%ของงบประมาณ แต่เพิ่มคุณภาพการศึกษาไม่ได้จึงต้องเข้าไปแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาในชั้นเรียน
“ทางแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพการศึกษาในชั้นเรียน ปฏิรูประบบฝึกหัดครูใหม่ รวมทั้งเลิกประชานิยมด้านการศึกษาที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษา” กนกกล่าว
ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557