โพสต์ทูเดย์รายงาน: เจ๊งยับจำนำข้าว ประยุทธ์เฉย…เก้าอี้ร้อนแน่

ปี2014-11-18

ทีมข่าวเศรษฐกิจภาครัฐโพสต์ทูเดย์

แม้ว่าผลการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ที่มี รังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน จะสรุปว่าโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ณ วันที่ 22 พ.ค. 2557 โดยเฉพาะในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ระหว่างปี 2554-2557 มีผลขาดทุนสูงถึง 5.18 แสนล้านบาท จะไม่ใช่ตัวเลขที่แปลกใหม่

เพราะก่อนหน้านี้ นักวิชาการจากสถาบันต่างๆ เช่น นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ได้แถลงผลวิจัยว่า โครงการรับจำนำข้าวในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์มีผลขาดทุนสูงถึง 5.4 แสนล้านบาท

แต่ทว่าในช่วงที่ผ่านมากลับมีปรากฏการณ์บิดเบือนชุดข้อมูลผลขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวออกมาจากฝั่งรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ต่อเนื่อง

นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกฯและ รมว.พาณิชย์ ระบุว่า “ตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 5.1 แสนล้านบาทนั้น หากมีการขายข้าวสารในสต๊อกที่มีอยู่ 18 ล้านตันซึ่งมีมูลค่า 2.2 แสนล้านบาทออกไป จะทำให้ผลการขาดทุนลดลงเหลือ 3 แสนล้านบาทเท่านั้น”

เช่นเดียวกับ กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ และ รมว.คลัง ที่ตอกย้ำว่า “การขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ที่มีผลขาดทุน 5 แสนล้านบาทเป็นตัวเลขทางบัญชีที่ใช้ข้อสมมติฐานด้านราคากับสินค้าคงคลัง ทั้งยังบอกว่าหากมีการขายข้าวในสต๊อกรัฐบาลจนหมด ผลขาดทุนในโครงการย่อมน้อยกว่านี้”

อย่างนี้ต้องเรียกว่าเป็นการ “ตะแบง” และ “บิดเบือนข้อมูล” ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า จะออกมาจากปากคนที่เคยเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ

นั่นเพราะข้อมูลการใช้จ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 5 ฤดูกาลในช่วง 3 ปีของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่อ้างอิงจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีการใช้เงินในโครงการทั้งสิ้น 9.85 แสนล้านบาทในจำนวนนี้เป็นเงินที่ใช้ในการซื้อข้าว 8.57 แสนล้านบาท

ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าสีแปรสภาพข้าวค่าเช่าโกดัง ค่าจ้างเซอร์เวเยอร์ และค่าดอกเบี้ย

ในขณะที่ข้อมูลจาก ธ.ก.ส. ณ สิ้นเดือน พ.ค.รัฐบาลขายข้าวสารในโครงการรับจำนำข้าวปีการผลิต2554/2555-2556/2557 ได้เงินประมาณ 2.2 แสนล้านบาท

เมื่อนำค่าใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวไปหักลบกับเงินที่ได้จากการขายข้าวก็เท่ากับว่า รัฐบาลมีผลขาดทุนกว่า 7.8 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลมีข้าวสารอยู่ในสต๊อก 19.2 ล้านตัน หรือตีเป็นมูลค่า 2.25 แสนล้านบาท ผลการขาดทุนจะอยู่ที่ 5.2-5.3 แสนล้านบาท

“ค่าใช้จ่ายโครงการรับจำนำข้าวสมัยยิ่งลักษณ์อยู่ที่ 9.85 แสนล้านบาท เมื่อหักลบกับเงินที่ได้จากการขายข้าว และบวกกับมูลค่าข้าวสารในสต๊อก 19 ล้านตัน ผลการขาดทุนจะอยู่ที่ 5.4 ล้านบาท แต่มีบางคนไปเอามูลค่าข้าวในสต๊อกมา 2.2 แสนล้านบาท มาหักออกซ้ำ ซึ่งผมไม่อยากใช้คำว่าบิดเบือน”นิพนธ์ บอก

นิพนธ์ ยังระบุว่า การขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าวจะเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้อีก เพราะข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ถึง18-19 ล้านตัน เป็นข้าวเสื่อมสภาพ 70-80% และถ้าขายข้าวออกไปผลขาดทุนจะเพิ่มเป็น 6.6 แสนล้านบาท ซึ่งผลขาดทุนดังกล่าวยังไม่รวมค่าเช่าโกดังและค่าดอกเบี้ยเงินอีกปีละกว่า 6,000 ล้านบาท

“ข้าวยิ่งเก็บไว้นานราคายิ่งลดลง แถมยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ยิ่งถ้าต้องใช้เวลาขายข้าวเป็น 10 ปี ข้าวคงเปลี่ยนเป็นฝุ่นไปหมดแล้ว” นิพนธ์ย้ำ

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับว่าโครงการรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์มีการทุจริตกว่า 1 แสนล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตขายข้าวจีทูจี 7.8 ล้านตันที่ไม่มีการส่งออกจริง ขายข้าว 4 ล้านตันให้พ่อค้าที่เป็นพรรคพวกในราคาต่ำมาก กรณีข้าวหาย 2.9 ล้านตัน และทุจริตโครงการข้าวถุงราคาถูก

แต่ปรากฏว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แทบจะไม่มีบทบาทในการจัดการทุจริตอย่างมโหฬารในครั้งนี้อย่างจริงจัง โดยบอกว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อีกทั้งยังละเลยไม่ดำเนินคดีใดๆ กับผู้ร่วมแห่ในขบวนการทุจริตที่พบหลักฐานชัดว่าข้าวในสต๊อกเป็นข้าวดีเพียง 10% และ 70% เป็นข้าวเสื่อมสภาพ ถ้ารัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลยมีหวังเก้าอี้ร้อนเป็นแน่

“หลักฐานก็มีอยู่แล้วว่าโกดังไหนมีข้าวเน่า ข้าวเสื่อมสภาพ โรงสีไหนส่งข้าว เซอร์เวเยอร์เป็นใคร อีกอย่างโครงการนี้ใหญ่มาก ยิ่งลักษณ์ไม่ค่อยได้ไปยุ่ง มีแต่พวกที่มีตำแหน่งและไม่มีตำแหน่งการเมือง ข้าราชการระดับสูงเข้าไปพัวพัน แต่ไม่ไปเล่นงาน ส่วนจะจัดการอย่างไร อย่าถามผม ไปถามรัฐบาลดีกว่า” นิพนธ์ทิ้งท้าย

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2557