นักวิชาการแนะ แก้คอร์รัปชั่นด้วยวิถีประชาธิปไตย

ปี2014-11-15

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)


นักวิชาการ เปรียบคอร์รัปชั่นเป็นโรคร้ายที่ติดมากับระบอบศักดินาอุปถัมภ์ พร้อมระบุ ทางออกในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นต้องใช้เวลาและแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย แนะสมการต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องเท่ากับการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกในสังคม


วงเสวนาสาธารณะ ‘จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ที่มีกิจกรรมพัฒนาความรู้และแลกเปลี่ยนทางปัญญาในหมู่นักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบายและภาคประชาสังคม ในการร่วมกันออกแบบ ‘เศรษฐกิจแห่งวันพรุ่งนี้’ ที่มีความเป็นธรรมทางสังคม ยั่งยืน และมีพลวัต ผ่านเวทีระดมสมอง เสวนาสาธารณะ และการค้นคว้าวิจัย ซึ่งวงเสวนาสาธารณะ ‘จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’ เป็นความพยายามอธิบายปรากฏการณ์คอร์รัปชั่นในสังคมไทย ผ่านมุมมองทางเศรษฐศาสตร์การเมืองว่าด้วยการขจัดคอร์รัปชั่น โดยในวงเสวนามีข้อคิดเห็นดังต่อไปนี้

Mr. Marc Saxer จากมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) กล่าวว่า คอรัปชั่นเป็นโรคร้ายที่ติดพันมากับระบอบศักดินาอุปถัมภ์ ซึ่งทำงานด้วยสายสัมพันธ์ตัว ไม่ได้อยู่บนฐานของกฎหมายและเหตุผล ดังนั้นคอรัปชั่นจึงเป็นปัญหาทางการเมืองในเรื่องความไม่ยุติธรรมเชิงอำนาจและเป็นความไม่เทียมในสังคมเชิงระบบโครงสร้าง ซึ่งทางออกในการแก้ปัญหาคอรัปชั่นต้องแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย โดยสมการที่สังคมไทยจำเป็นต้องคิดใหม่คือ การต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องเท่ากับการต่อสู้เพื่อสร้างประชาธิปไตยให้หยั่งรากลึกในสังคม และสร้างความยุติธรรมในสังคมพร้อมกับสร้างรัฐสมัยใหม่บนฐานของกฎหมายและเหตุผล ทั้งนี้ การต่อสู้กับคอรัปชั่นจะสำเร็จได้จำเป็นต้องสร้างแนวร่วมทางสังคมอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดึงกลุ่มชนชั้นกลางให้กลับมาเป็นแนวร่วมของพลังประชาธิปไตยอีกครั้ง และการสร้างความยุติธรรมในสังคมด้วย พร้อมย้ำว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นนั้นต้องแก้ด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่หันหลังให้ประชาธิปไตย

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยทีดีอาร์ไอ ยอมรับว่าประชาธิปไตยในประเทศไทยยังอยู่ในแบบบาง คือสนใจแต่เรื่องกระบวนการเข้าสู่อำนาจ ขณะเดียวกันยังขาดระบบตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจ และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ทางออกคือการสร้างประชาธิปไตยแบบหนา ซึ่งให้ความสำคัญทั้งกลไกการขึ้นสู่อำนาจที่ชอบธรรมผ่านการเลือกตั้งเสรี และกลไกการกำกับตรวจสอบผู้มีอำนาจ โดยได้เสนอแนวทาง 4 เรื่อง คือ 1.อย่าสนใจเฉพาะการเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่ต้องสนใจตรวจสอบการใช้อำนาจด้วย 2.อย่าใช้คอร์รัปชั่นกลั่นแกล้งหรือเลือกข้างทางการเมือง และอย่าใช้การเมืองปกปิดการทำคอร์รัปชั่น 3.อย่าอ้างความเป็นคนดีในการป้องกันการตรวจสอบ เพราะคนดีก็ต้องถูกตรวจสอบได้ และ 4.อย่าปิดกั้นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และอย่าคิดว่าการกระจายอำนาจจะป้องกันคอร์รัปชั่นได้ รวมทั้งการปรับกฎหมายให้ทันสมัยมากขึ้นโดยเฉพาะกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องนำกลไกตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยรัฐสภาเข้ามาใช้ด้วยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น

ขณะที่ ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ช่วงระยะที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยมีการเติบโตสูงขึ้น พัฒนาการของประชาธิปไตยไม่คงที่แต่อยู่ในรูปแบบขึ้นๆ ลงๆ ขณะที่ปัญหาคอร์รัปชั่นในสังคมไทยนั้นไม่ดีขึ้น จนถูกประเทศอื่นแซงหน้า สำหรับทางออกในการลดคอร์รัปชั่นนั้น ทางลัดคือการสร้างความเท่าเทียมในสังคม เพราะความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ขัดขวางกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการลดปัญหาคอร์รัปชั่นในระยะยาว ส่วนทางหลักในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นคือการสร้างระบบที่ทำให้ผู้มีอำนาจต้องรับผิดชอบต่อประชาชน

สอดคล้องกับ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ต้นตอของการคอร์รัปชั่นมาจากโครงสร้างและระบอบการเมืองที่ผูกขาดอำนาจ คอร์รัปชั่นส่งผลทำลายประชาธิปไตยและเพิ่มระดับการละเมิดสิทธิมนุษยชน ถ้าเราจัดสถาบันทางการเมืองได้ดี เราสามารถพัฒนาประเทศได้โดยมีคอร์รัปชั่นต่ำและประชาธิปไตยที่มั่นคง ระบบการเมืองที่โปร่งใสและตรวจสอบได้จะทำให้คอร์รัปชั่นลดลง นอกจากนั้น หากถ้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ จะทำให้ประชาธิปไตยถูกตั้งคำถาม และทำให้คนจำนวนมากเสื่อมศรัทธาจนต้องออกมาประท้วงเพื่อล้มประชาธิปไตยในนามของการต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างที่ผ่านมา ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตย วาระใหม่ที่ท้าทายสังคมไทยคือ เป้าหมายประชาธิปไตยและสังคมที่ปราศจากคอร์รัปชั่นต้องไปด้วยกัน

วงเสวนาคิดเห็นสอดคล้องกันว่า การสร้างประชาธิปไตยกับการต่อสู้คอร์รัปชั่นจำเป็นต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน เพราะการปราบปรามคอร์รัปชั่นให้หมดไปจากสังคมไทยจำเป็นต้องใช้เวลา ความอดทนและความร่วมมือกันของทุกฝ่ายจึงจะสามารถก้าวข้ามปัญหานี้ได้ อีกทั้งการต่อสู้กับคอร์รัปชั่นต้องอยู่บนวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น.


ชมเทปบันทึกภาพการเสวนา ‘จะใช้ประชาธิปไตยแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นได้อย่างไร’  ได้ที่นี่