เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาประจำปี 2557 ของทีดีอาร์ไอ ในหัวข้อ “สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ: ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า” ว่า แนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย และภาพในอนาคตที่เป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ 1) ประเทศไทยไปเรื่อยๆ เป็นลักษณะการพัฒนาที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบัน 2) ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า มีการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมที่ทันสมัยมากขึ้น มีเทคโนโลยีมากขึ้น แต่มีปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา และ 3) ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ มีการย้ายการพัฒนามาที่ภาคบริการ โดยเปิดเสรีภาคบริการ มีการพัฒนาแรงงาน ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศประกอบการ ขณะที่ภาคการเกษตรจะพัฒนามาเป็นเกษตรที่ทันสมัยขึ้น มีการวิจัยและลงทุน
“จริงๆ แนวทางมันมีเป็นร้อยเป็นพันอย่าง แต่วันนี้เราวาดอนาคตบางอันขึ้นมา แล้วดูว่าอันไหนใกล้ปัจจุบัน อันไหนใกล้ก็เกิดง่าย แต่ที่วาดมันอาจจะไม่ใช่อนาคตที่ดีที่สุดสำหรับเรา อนาคตที่ดีที่สุดสำหรับเราอาจจะไปยากกว่า ท้าทายมากกว่า เราก็พยายามบอกว่าจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร จากที่อยู่วันนี้ไปยังจุดที่ควรไป แต่ไม่ว่าจะแนวทางไหน จากประสบการณ์ต่างประเทศจะมีปัจจัยร่วมกัน 2 อย่าง คือ ข้อแรก คนต้องมีคุณภาพสูง มีทักษะ ต้องมีการลงทุนวิจัยและพัฒนา โดยภาครัฐต้องมีการเกื้อหนุนให้เกิดทั้งสองอย่างข้างต้น” ดร.สมเกียรติกล่าว
ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เพื่อไปให้ถึงจุดนั้น ประเทศไทยยังมีความท้าทายอีกหลายด้าน แต่ 4 ด้านที่ทีดีอาร์ไอนำเสนอในงานสัมมนาครั้งนี้ได้แก่ 1) ความท้าทายด้านการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน 2) ความท้าทายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม 3) ความท้าทายด้านวินัยการคลังและธรรมาภิบาล และ 4) ความท้าทายด้านการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงของประชาชน ถือว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะกลายเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเพียงพอที่จะรองรับกำลังแรงงานที่ลดลงตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น โดยอาศัยพลวัตและความสามารถในการแข่งขันที่ต้องเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการเติบโตนี้ต้องเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน ต้องมีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ดี
อีกด้านหนึ่งจะต้องมีการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อไม่ให้รายได้ที่มากขึ้นเกิดการกระจุกตัวอยู่ในสังคมบางส่วน รวมไปถึงการกระจายโอกาสต่างๆ เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล ขณะที่ความท้าทายด้านการคลังเป็นการเชื่อมโยงกับหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องเป็นผู้จัดหาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ เนื่องจากเอกชนไม่มีความสามารถพอที่จะจัดการปัญหาเหล่านี้ได้เอง ทำให้รัฐต้องมีวินัยและสถานะการคลังที่เข้มแข็งเพียงพอจะขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องได้ กลายเป็นความท้าทายอีกประการ คือต้องปฏิรูปรัฐควบคู่ไปด้วย
“เรื่องการคลัง เรื่องพลวัตเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอะไรต่างๆ เอกชนทำเองไม่ได้ จึงเป็นความท้าทายของภาครัฐ ถ้ารัฐไม่ปฏิรูป เราก็เดินไม่ได้” ดร.สมเกียรติกล่าว
ด้าน ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง “ความท้าทายด้านการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน” ว่า ประเทศไทยมีปัญหาการพัฒนาประสิทธิภาพของปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะปัจจัยทุน ที่หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กลับมีประสิทธิภาพลดลงอย่างชัดเจน
ทังนี้ สาเหตุหลักเกิดจาก 1) ขนาดการลงทุนของภาครัฐที่สูง (โดยเฉลี่ย 20% ของจีดีพีในช่วงปี 2547-ปัจจุบัน) แต่กลับมีประสิทธิภาพต่ำ ไม่ว่าจะเป็นหนี้เสียซึ่งสถาบันการเงินรัฐมีสูงกว่าธนาคารพาณิชย์, อัตราผลตอบแทนของรัฐวิสาหกิจที่ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด เช่น สาขาโทรคมนาคม การบิน ปิโตรเลียม โทรทัศน์ 2) การกำกับดูแลของภาครัฐที่เน้นเสถียรภาพมากกว่าประสิทธิภาพ ทำให้เสียโอกาสในการลงทุนที่ดีได้ เช่น ธุรกิจการเงินที่มีการกันสำรองที่สูง ส่งผลให้มีต้นทุนส่วนต่างดอกเบี้ยสูงตามมา และ 3) การกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมของภาครัฐที่ไร้ทิศทาง โดยได้รับอิทธิพลจากแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ซึ่งรัฐมีหน้าที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น และควรเปิดเสรีในนโยบายเศรษฐกิจ แตกต่างจากในประวัติศาสตร์ซึ่งประเทศขนาดเล็กที่พัฒนาได้สำเร็จต่างมีนโยบายอุตสาหกรรมของตนเองที่ชัดเจน
ดร.เดือนเด่นกล่าวว่า ทางออกของความท้าทายดังกล่าวจะต้องเปลี่ยนแนวคิด “บทบาทของภาครัฐ” โดยรัฐต้องไม่ประกอบการแข่งกันเอกชน เน้นการลงทุนร่วมกับเอกชน กระจายอำนาจการตัดสินใจให้ท้องถิ่น ขณะที่ด้านการกำกับดูแล รัฐต้องยึดผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการมิใช่ผู้ประกอบการเป็นที่ตั้ง ต้องให้ความสำคัญแก่ประสิทธิภาพมากขึ้น สร้างแรงจูงใจให้ลดต้นทุน ส่วนการกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมต้องเปิดรับข้อมูลจากเอกชน มิใช่เลือกอุตสาหกรรมที่จะส่งเสริมเอง ต้องเลือกอุตสาหกรรมที่สามารถเพิ่มผลิตภาพของทุนและแรงงาน หรือสามารถปรับโครงสร้างอุตสาหกรรม สร้างความมั่นใจแก่ภาคเอกชน เน้นการบริหารแบบเครือข่ายมากกว่าการรวมศูนย์
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง ความท้าทายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม ว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัยที่สำคัญของการพัฒนาการเกษตรและเศรษฐกิจ แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยพัฒนาการเกษตรโดยถลุงทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองและไม่ดูแลรักษา ประกอบกับปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันและขาดการลงทุนวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนสูงเกือบ 30% ทำให้เกิดความผันผวนและความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและประชาชนอย่างมาก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งเป็นภาคที่มีการจ้างงานมากที่สุดของประเทศ
ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง “ความท้าทายด้านวินัยการคลังและธรรมาภิบาล” ว่า โครงสร้างการคลังไม่รองรับปัจจัยในอนาคต โดยเฉพาะรายจ่ายด้านสวัสดิการสังคม ระบบการคลังไม่โปร่งใสและไม่เปิดเผยเพียงพอ มีภาระซ่อนเร้นทางการคลังในส่วนต่างๆ ของส่วนราชการ มีแนวโน้มจะดำเนินการขาดดุลตามปัจจัยการเมือง (deficit bias) และรัฐสภาไม่เข้มแข็งในการตรวจสอบการใช้งบประมาณ ขณะที่ทางออกของปัญหาการคลังต้องปฏิรูปภาษีเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ลดความเหลื่อมล้ำเป็นรอง ต้องปฏิรูปการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพและลดความเหลื่อมล้ำได้ ทั้งในรูปแบบเฉพาะกลุ่มและประชาชนทุกคน ส่วนด้านความโปร่งใสทางการคลัง ต้องให้เงินนอกงบประมาณผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เปิดเผยข้อมูลให้ครบถ้วนและเข้าใจง่าย รวมทั้งต้องระบุต้นทุนการคลังของนโยบายที่ใช้หาเสียงแก่ประชาชน มีการวิเคราะห์การคลังที่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหาร เช่น จัดตั้งสำนักงบประมาณประจำรัฐสภา ขณะเดียวกันต้องเพิ่มข้อจำกัดการใช้สถาบันการเงินของรัฐ/เอกชน เช่น กำหนดวงเงินของกิจกรรมใช้จ่ายกึ่งการคลังต่างๆ ให้ชัดเจน
ด้าน ดร.ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง “ความท้าทายด้านการสร้างโอกาสและลดความเสี่ยงของประชาชน” ในวัยเด็กว่า ต้องเผชิญปัญหาด้านโอกาสการศึกษาที่ปัจจุบันมี “คุณภาพต่ำ แพง และเหลื่อมล้ำ” เนื่องจากระบบบุคลากร “ครู” ที่มีปัญหาตั้งแต่การคัดเลือกครูที่ไม่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรครูที่ไม่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียนและความต้องการของโรงเรียน การพัฒนาครูที่ไม่ตรงกับความต้องการของโรงเรียน การประเมินผลครูที่ไม่ยึดโยงกับผลการเรียนของนักเรียน มีจำนวนโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนมาก ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหัวสูง และนักเรียนได้รับการอุดหนุนจากรัฐเท่ากัน แม้จะมีฐานะทางเศรษฐกิจต่างกัน ขณะที่ทางออกใน “วัยเด็ก” ต้องใช้โอกาสในการเกษียณครั้งใหญ่ปรับปรุงคุณภาพครูให้มีความเหมาะสม สนับสนุนให้แต่ละโรงเรียนใช้ทรัพยากรร่วมกันมากขึ้น อุดหนุนตามฐานะรายได้ของนักเรียน
ส่วนในวัยทำงาน ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ที่ปรึกษา ทีดีอาร์ไอ และอาจารย์ คณะวิทยาการจัดการ กลุ่มสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มีปัญหารายได้ไม่เพียงพอ แม้จะมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำ ขาดการออม สืบเนื่องจากการได้รับการศึกษาที่ไม่มีคุณภาพ สะท้อนว่ากฎหมายคุ้มครองแรงงานไม่ได้ครอบคลุมประชาชนทุกประเภท โดยเฉพาะแรงงานที่มีการศึกษาน้อย
สำหรับวัยสูงอายุ ดร.วรวรรณกล่าวว่า ต้องเผชิญปัญหาขาดรายได้ ขาดเงินออม และปัญหาสุขภาพ ขณะที่ระบบกองทุนประกันสังคมไทยยังมีการส่งเงินสมทบต่ำแต่เงินประโยชน์ทดแทนสูง ส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุนในระยะยาว ขณะที่วัยสูงอายุ ต้องหาทางขยายอายุการทำงานมากขึ้น สร้างระบบให้คนวัยทำงานมีการออม ลดการพึ่งพารัฐในบั้นปลาย ส่วนกองทุนประกันสังคมต้องเพิ่มเงินสมทบขึ้นอีกเท่าตัวจาก 3% เป็น 6-7% ของค่าจ้าง ลดอัตราการจ่ายบำนาญลง เปลี่ยนระบบการจ่ายบำนาญตามการออมของแต่ละราย
ดูเพิ่มเติมวีดีโองานสัมมนา ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า: สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ [ภาคเช้า] และ ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า: สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ [ภาคบ่าย]
เผยแพร่ครั้งแรก: เว็บไซต์ไทยพับลิก้า วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557