2 ปีต้านคอร์รัปชั่นล้มเหลว แนะผู้นำประเทศจริงจังล้างบางคนโกง

ปี2014-11-18

นักวิชาการ-เอกชน ยอมรับ 2 ปีต้านคอร์รัปชั่นเหลว ดัชนีดิ่ง 20 อันดับ ล่าสุด ยอดเงินคอร์รัปชั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 35% แตะ 2-3 แสนล้านบาท แนะลดอำนาจรัฐให้เล็กลง เพื่อลดช่องทางคอร์รัปชั่น ขณะที่ผู้นำประเทศทุกคนอย่าแค่พูดว่าตั้งใจไม่โกง แต่ต้องทำให้จริงจัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 : ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย ช่วงที่ 2 “กับดัก : ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชั่น” ซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในฐานะคนทำงานต้านคอร์รัปชั่นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ยอมรับว่าการลดเม็ดเงินคอร์รัปชั่นถือว่าล้มเหลว ยิ่งต่อต้านมาก คอร์รัปชั่นยิ่งมากขึ้น เพราะจากการสำรวจภาคธุรกิจ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ถึงขนาดเล็กพบว่า เม็ดเงินคอร์รัปชั่นที่เอกชนต้องเสียอยู่ที่เฉลี่ย 35% ของวงเงิน หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 200,000-300,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนนี้วัดจากโครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเท่านั้น ยังไม่รวมโครงการใหญ่ๆอย่างรับจำนำข้าว

แต่ที่เปลี่ยนแปลงไป คือ ทัศนคติของประชาชน จากเดิมในช่วง 2 ปีก่อนหน้า ผลสำรวจพบว่า มีคนไทยมากกว่า 50-60% ที่เห็นว่าการโกงที่ตัวเองได้ผลประโยชน์ถือว่าไม่ผิด แต่ในขณะนี้จำนวนดังกล่าวลดลง แต่เป้าหมายของเราต้องการให้คนไทยชัดเจนในเรื่องต่อต้านคอร์รัปชั่นมากกว่านี้ อยากให้ทนไม่ได้ ที่เห็นการคอร์รัปชั่นและพร้อมออกมาต่อต้าน แต่ในขณะนี้ก็เห็นใจ เพราะคนไทยก็รอการลดคอร์รัปชั่นที่ชัดเจนกว่านี้จากภาครัฐ

“ผมมองว่าส่วนหนึ่ง ความผิดพลาดจากภาครัฐที่ทำให้การลดคอร์รัปชั่นทำไม่ได้ เพราะแม้ผู้นำของประเทศจะมีความตั้งใจในการต่อต้านและให้นโยบายชัดเจน แต่ก็มีแต่ความจริงใจ ไม่มีความจริงจังที่จะลงไปตรวจสอบ เจาะลึกถึงกระบวนการ ที่ผ่านมาเราให้ความผิดของการคอร์รัปชั่นไว้ที่ 3 ประสาน คือ เอกชน ข้าราชการ และนักการเมือง ซึ่งพบว่าเงินจากการคอร์รัปชั่นนักการเมืองเอาไป 70% ข้าราชการ 30% แต่ช่วงที่ผ่านมาไม่มีนักการเมือง แต่เงิน 70% ก็ยังมีการคอร์รัปชั่นอยู่ นี่คือคำถามที่ผมอยากถามว่า เงินยังหายไปไหน”

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริษัทหลักทรัพย์ภัทร กล่าวว่า ผลการจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นประจำปี พ.ศ.2557 ประเทศไทยตกลงมาอยู่ที่อันดับ 102 ลงมาเกือบ 20 อันดับจากอันดับที่ 83 เมื่อ 2 ปีก่อน อยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศแอฟริกา ต่ำกว่าฟิลิปปินส์ที่ขยับจากอันดับ 127 ขึ้นมาที่ 92 ภายใน 2 ปี ขณะที่จีนกำลังต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังอยู่ที่อันดับ 80 ซึ่งหากรัฐจริงจังที่จะแก้ไขผมมองแค่ให้ดัชนีกลับขึ้นไปที่เดิมเมื่อ 2 ปีก่อน ก็ถือว่าสำเร็จแล้ว “ที่ผ่านมาเราอาจหลงประเด็นว่าการแก้คอร์รัปชั่นต้องเน้นเรื่องศีลธรรมและค่านิยมที่จะต้องให้กับส่วนรวม แต่จริงๆแล้วถ้าจะแก้คอร์รัปชั่นให้ได้ต้องเอาพลังความเห็นแก่ตัวมาเป็นพลังในการรักษาสิทธิของส่วนรวม”

นายบรรยงกล่าวด้วยว่า ทางแก้คอร์รัปชั่น คือ ทำให้อำนาจรัฐเล็กลง มีส่วนที่จะต้องใช้ดุลพินิจลดลง เพราะทุกดุลพินิจมีราคาทั้งนั้น ขณะเดียวกันต้องมีองค์กรเอกชนและประชาชน รวมทั้งเอ็นจีโอที่ดีและเข้มแข็งมาช่วยตรวจสอบ รวมถึงมีความร่วมมือที่ดีของรัฐในการแก้ไขจัดการทุจริต

ด้านนายวิรไท สันติประภพ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแก้ไขค่านิยม และเพิ่มความมีคุณธรรม เป็นอีกหลักการหนึ่งที่สำคัญ ในการช่วยต้านคอร์รัปชั่น เพราะที่ผ่านมายังมีค่านิยมผิดๆ เช่น เด็ก 81% เคยลอกข้อสอบ และเด็ก 85% มองว่าการลอกข้อสอบไม่ผิด ขณะที่ 99% มองความสำเร็จ คือ การเรียนเก่ง มีงานดี และมีเงินมากๆ ซึ่งการสร้างค่านิยมควรต้องคิดถึงคนอื่น และส่วนรวมไปพร้อมๆกับตัวเอง ขณะที่ภาครัฐอาจต้องปรับเรื่องกฎหมายที่ให้อำนาจอย่างเหมาะสมมากขึ้น ภาคเอกชนต้องใช้หลักธรรมะควบคู่กับธุรกิจ

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 12 พฤศจิกายน 2557