tdri logo
tdri logo
26 พฤศจิกายน 2014
Read in Minutes

Views

ฐานเศรษฐกิจรายงาน: กูรูชี้แนวตีฝ่า 4 โจทย์ท้าทายประเทศ แนะเร่งปฏิรูป-เผชิญสังคมสูงวัย

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดสัมมนาวิชาการ ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เรื่อง “ประเทศไทยในสามทศวรรษหน้า: สี่ความท้าทายเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพ” โดยนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานสภาทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า เมืองไทยต้องเร่งหาทางออก 3 เรื่องคือ ปัญหาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ, ปัญ หาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและปัญหาสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบในปี 2568 ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจเนื่องจากคนในวัยแรงงานลดลง และเป็นโจทย์ภาครัฐในอีก 30 ปีจากนี้ที่ต้องจัดเตรียมวางแผนด้านสวัสดิการและวางแผนจัดเก็บภาษีให้เพียงพอจากฐานจัดเก็บปัจจุบันที่ยังต่ำมากมีสัดส่วนเพียง 17% เท่านั้น

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ปัจจุบันความขัดแย้งทางการเมืองที่ไร้เสถียรภาพและภาวะเศรษฐกิจทำให้คนสนใจเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ขณะที่เมืองไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างที่ยิ่งต้องมองไกล ไม่ว่าเรื่องการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การสร้างความสามารถทางการแข่งขัน การปฏิรูประบบการศึกษาและสวัสดิการ การรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน ตลอดจนการรักษาวินัยด้านการเงินการคลัง อีกทั้งใน 3 ทศวรรษข้างหน้าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งจำนวนประชากร 9 พันล้านคนที่กดดันต่อความต้องการทรัพยากร สิ่งแวดล้อมหรือการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศที่กระทบต่อการเกษตรการท่องเที่ยวจนเกิดการทำข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มข้นมากขึ้น ประกอบกับความท้าทายจากอนาคตจะมีประเทศกลุ่มต่างๆ มีรายได้แตกต่างกัน สำหรับไทยในปี 2568 จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหากเทียบญี่ปุ่นหรือเกาหลี ใต้แม้จะเข้าสังคมผู้สูงอายุก่อนไทยแต่ทั้ง 2 ประเทศล้วนเป็นประเทศที่รวยก่อนแก่ แต่เมืองไทยหากพัฒนาเศรษฐกิจไม่สำเร็จในอีก 30 ปีกองทุนประกันสังคมจะถึงขั้นล้มละลาย เนื่องจากรายจ่ายมากกว่ารายได้

ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงสร้างเศรษฐ กิจที่สามารถเห็นได้ในระยะสั้นคือ กรณีที่ 2 (จากผลศึกษา 3 แนวทางของทีดีอาร์ไอ) คือ กรณีไทยเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้ายกระดับผลิตด้วยการทำ R&D การออกแบบและพัฒนาแบรนด์สินค้า/ย้ายฐานการผลิต กรณีนี้รายได้ต่อหัวจะเป็น 23,700 ดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2588 จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 4.59% ต่อปีซึ่งทำให้พ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2571 หรือหลังเข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ 2 ปี แต่ภาครัฐบาลต้องมีนโยบายที่เหมาะสม เช่น เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้มีคุณภาพสูง พัฒนาวิศวกรและช่างเทคนิค รณรงค์ให้ภาคเอกชนเพิ่มผลิตภาพและสร้างนวัตกรรม ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลไม่ควรดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเข้ามาในไทยเพราะจะทำให้อุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงานราคาถูกต่อไป รวมถึงต้องระวังเรื่องการกระจายรายได้ที่อาจแย่ลงด้วย โดยเฉพาะ “การปฏิรูปภาครัฐ” เป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนไทยไปสู่อนาคตภายใต้ปัจจัย 4 ด้าน คือ ต้องมีทุนมนุษย์คุณภาพสูง การมีทุนเพียงพอ และใช้อย่างมีประสิทธิภาพและการมีภาครัฐที่เปิดกว้างมีวิจัยและกระจายอำนาจ

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอระบุว่า 2 โจทย์สำคัญของวินัยทางด้านการคลังคือ 1.การควบคุมหนี้สาธารณะให้สามารถเดินต่อไปข้างหน้าได้ในระยะยาว 2. ปิดช่องโหว่ดุลการคลังที่ไม่ตั้งใจเพิ่มขึ้นที่มาจาก 5 วิธี ได้แก่ 1.เงินนอกงบประมาณ ที่ไม่มีการลงบัญชี 2. ภาระการคลังแบบปลายเปิด แม้ว่ารัฐบาลจะมีการตั้งงบประมาณโครงการนั้นๆ แต่ในช่วงหลังจะเห็นงบประมาณถูกขยายออกไปเรื่อยๆ จนเกินกรอบที่ตั้งไว้ 3. สัดส่วนงบกลางที่ปัจจุบันมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นใกล้แตะระดับ 20% จากปกติจะเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ส่วน 4.กลไกการตรวจสอบ จะเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) สามารถอนุมัติงบประมาณผูกพันได้ แต่ไม่มีการตรวจสอบ และ 5.รัฐบาลสามารถซ้อนภาระการคลังได้ โดยวิธีการโอนหนี้ไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นปัญหาวินัยทางการคลังอยู่

ขณะที่โครงสร้างภาษี 2 ชนิด (ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) และ ภาษีนิติบุคคล) พบว่าแวตมีบทบาทน้อยลง อนาคตทำให้รัฐบาลหันมาเน้นภาษีบุคคลธรรมดามากขึ้นโดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บและขยายฐานภาษี เพราะเทียบอัตราการจัดเก็บไทยอยู่ที่ 7% อาเซียน 12% และเฉลี่ยทั้งโลก 15%

นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยทีดีอาร์ไอกล่าวถึงวิธีแก้ปัญหาการขาดดุลว่ามี 3 แนวทางด้วยกันคือ 1. การปฏิรูปโครงสร้าง 2. การปฏิรูปกระบวน การแก้ปัญหาตรงจุดที่พบ เช่น เงินนอกงบประมาณจะต้องผ่านรัฐสภา และการสร้างการตรวจสอบบัญชี หรือจัดทำรายงานฉบับประชาชน ซึ่งเป็นแนวโน้มทั่วโลกทำกัน และ 3.ปฏิรูปกระทรวงการคลัง ควรจัดตั้งหน่วยวิเคราะห์งบประมาณประจำรัฐสภา (Parliamentary Budget Office: PBO) ทำหน้าที่ให้ข้อมูล แต่จะไม่เสนอนำหรือมีอำนาจในการตัดสินใจ

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีความเปราะบางด้านการคลัง โดยการเติบโตของงบประมาณสวัสดิการและประชานิยมจะมีอัตราเพิ่มขึ้น โดยสวนทางกับรายได้ที่เติบโตประมาณ 1.6 เท่าของจีดีพี แต่เงินงบประ มาณสวัสดิการ-ประชานิยมขยายตัวเพิ่มขึ้น 4.3 เท่าของจีดีพี ซึ่งมากกว่างบประมาณการลงทุนที่เติบโตเพียง 2 เท่า ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้งบประมาณสวัสดิการและประ ชานิยมเพิ่มขึ้น จะมาจากพนักงานภาครัฐ และลูกจ้างในระบบข้าราช การที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่มี 1 ล้านคน เพิ่มเป็น 2.2 ล้านคน เนื่องจากมีกรมและหน่วยงานเพิ่มขึ้นถึง 20-30 กรม เหล่านี้เป็นตัวบีบเม็ดเงินงบประมาณด้านการลงทุนและกด ดันภาคการคลังมากขึ้น

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 27-29 พฤศจิกายน 2557

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ดูทั้งหมด