Trading Nation เป้าหมายใหม่ของไทย

ปี2014-11-18

เอกชนแนะรัฐรื้อกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ดันไทยสู่ความเป็น “Trading Nation” ในอีก 3-5 ปี อาศัยต้นแบบความสำเร็จจากญี่ปุ่น-สิงคโปร์

เริ่มมีการกล่าวถึง “ยุทธศาสตร์ Trading Nation” ว่าจะเป็นอนาคตของเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการสัมมนาที่จัดโดยสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สภาผู้ส่งออกฯ) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภา ผู้ส่งออกฯ เห็นด้วยว่า Trading Nation หรือความเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นแนวคิดในการสร้างศักยภาพการแข่งขันของไทย จากปัจจุบันที่การพัฒนาศักยภาพการแข่งขันของไทยยังเดินอยู่กับที่ เทียบกับเวียดนามที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว อาจแซงไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ภาครัฐบาลควรให้การสนับสนุนการวางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ภาคการผลิต การส่งออก ให้ชัดเจนต่อเนื่อง ไม่ใช่เริ่มนับ 1 ใหม่อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจทั้ง 12 กระทรวงต้องร่วมมือกัน ปรับเปลี่ยนวิธีคิด อย่างไรเพื่อนำไปสู่ความเป็น Trading Nation โดยอาจจะอาศัยต้นแบบแห่งความสำเร็จ เรื่อง Trading Nation จากประเทศญี่ปุ่น และสิงคโปร์ มาปรับใช้ได้

ขณะที่มุมมองจากภาครัฐ นายยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์ ผู้อำนวยการสำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยก็ถือเป็น Trading Nation อยู่แล้ว หากดูจากสัดส่วนการนำเข้า- ส่งออก แต่หากวิเคราะห์ลึกลงไปจะพบว่ายังมีปัญหาทั้งการค้า-การส่งออก โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายหลายฉบับยังไม่ เอื้อต่อการแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ บุคลากรที่มีศักยภาพพอที่จะสู้ แข่งขัน กับต่างประเทศได้ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “Trading Nation”

นายวิศาล บุปผเวส ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะทำให้ไทยก้าวเป็น Trading Nation ได้ ไม่ควรยึดติดรูปแบบเกินไป โดย เอกชนไทยต้องไม่ถูกจำกัดจากภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐไม่ควรลงมาแข่งขันกับเอกชนเกินไป

ซึ่งจะเห็นว่าแม้ปัจจุบันไทยจะเปิดเสรีการแข่งขันทางการค้า แต่เอกชนก็ยังถูก ข้อจำกัดในข้อตกลง หรือถูกมัดมือในกติกา กฎระเบียบของภาครัฐ ที่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขันของภาคเอกชน ดังนั้น ภาครัฐเองจะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมายให้ทันสมัย เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่ง่ายขึ้น

“การเจรจาเขตเสรีทางการค้า หรือเอฟทีเอของไทยมีจำนวนมาก แต่ไม่ตรงความต้องการหรือวัตถุประสงค์ของภาคเอกชนจะใช้ประโยชน์ ทำให้เอฟทีเอมีข้อเสียมากกว่าข้อดี เพราะการเจรจาที่เกิดไม่ได้สร้างความสะดวก และส่วนใหญ่ยึดแต่กรอบเดิม ๆ ปกป้องเอกชน อันไหนที่ไทยสู้ได้ แข่งขันได้ก็เจรจา ทั้งที่บางอย่างควรปล่อยเพื่อให้แข่งขันเอง โดยกลับมาดูโครงสร้างกฎหมายภายในให้เสริมการแข่งขันได้”

สุดท้าย การเจรจาเอฟทีเอควรกล้าหาญ ไม่ยึดเฉพาะเรื่องภาษีเพียงอย่างเดียวให้มากเกินไป แต่ต้องคำนึงถึงทุกด้าน และมีมาตรการรองรับให้กับผู้ได้รับผลกระทบ จากการเจรจาให้ครบวงจร โดยปรับนโยบาย บางอย่างที่ไม่ถูกต้องและไม่บรรลุเป้าหมาย เช่น โครงการจำนำข้าวที่ช่วยชาวนา กระตุ้นการผลิตแต่ไม่กระตุ้นการลงทุน

ดังนั้นการเป็น Trading Nation ซึ่งอาจต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบให้สะดวก สอดคล้องกับการแข่งขัน ไม่ใช่คงสภาพตายตัว และภาคเอกชนเองต้องไหวตัวเร็วปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

 


ตีพิมพ์ครั้งแรก: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 10-12 พฤศจิกายน 2557